สธ.เร่งติดตามค้นหาผู้สัมผัสเสี่ยงสูงกรณีผู้ป่วยโรคฝีดาษลิง รายที่ 2 เพื่อสอบสวนโรคเพิ่มเติม ด้าน นายกฯ สั่งคุมเข้มติดตาม-คัดกรองผู้มีความเสี่ยง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 29 ก.ค. 2565 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากกรณีพบผู้ป่วยโรคฝีดาษวานรรายที่ 2 ในกรุงเทพมหานคร นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ได้กำชับและดูแลการดำเนินงานเฝ้าระวัง ป้องกันควบคุมโรคฝีดาษวานร พร้อมสั่งการให้กรมควบคุมโรค ประสานงานกับคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร ในการติดตามเฝ้าระวังโรค
สำหรับกรมควบคุมโรคได้มอบหมายให้หน่วยงานในสังกัด สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง และกองระบาดวิทยา ลงพื้นที่เร่งติดตามค้นหาผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรค ผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ประสานงานกับโรงพยาบาลวชิรพยาบาล ที่ผู้ป่วยเข้าไปตรวจหาเชื้อและรักษาตัว และประชาสัมพันธ์ให้หน่วยงานในพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินการติดตามสอบสวนโรคเพิ่มเติม ตามแนวทางการเฝ้าระวังและสอบสวนโรคฝีดาษวานร เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคฝีดาษวานรและความปลอดภัยของประชาชนในพื้นที่
นพ.โอภาส กล่าวต่อไปว่า จากการลงพื้นที่สอบสวนโรค สอบถามข้อมูลของผู้ป่วยเพิ่มเติมพบว่า ผู้ป่วยมีประวัติมีเพศสัมพันธ์กับชายต่างชาติโดยไม่ได้ป้องกันในวันที่ 12 ก.ค. 65 และเริ่มมีอาการไข้ในวันที่ 15 ก.ค. 65 ต่อมาอีก 3 วัน เริ่มมีตุ่มหนองที่อวัยวะเพศ ไปซื้อยามาทาเอง แต่อาการไม่ดีขึ้น อวัยวะเพศบวม มีหนอง ปัสสาวะสีขุ่น และเริ่มมีผื่นขึ้นที่ใบหน้าแถวระหว่างคิ้ว แขนขา ลำตัว
จากนั้นผู้ป่วยจึงไปเข้าระบบคัดกรองที่โรงพยาบาลวชิรพยาบาล ซึ่งผู้ป่วยมีอาการและมีประวัติสัมผัสเสี่ยงที่เข้าได้กับโรคฝีดาษวานร จึงได้แยกผู้ป่วยไปที่ห้องตรวจแยกโรคที่จัดไว้เป็นการเฉพาะสำหรับผู้ป่วยติดเชื้อ และได้ทำการเก็บสิ่งส่งตรวจจากตุ่มหนอง คอหอย และเลือด ส่งตรวจที่ห้องปฏิบัติการของศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ สภากาชาดไทย และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พร้อมกับรับผู้ป่วยเข้ารับการรักษาที่ห้องผู้ป่วยแยกโรค แรงดันลบ (AIIR) และผลการตรวจจากห้องปฏิบัติการทั้ง 2 แห่ง ยืนยันว่ามีการติดเชื้อฝีดาษวานร
“ขณะนี้พบผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 13 ราย อยู่ระหว่างการตรวจหาเชื้อ และสังเกตอาการพร้อมกักตัว 21 วัน จึงขอแนะนำประชาชนว่า โรคฝีดาษวานรไม่ได้ติดต่อกันได้ง่ายๆ ซึ่งจะติดต่อได้จากการสัมผัสใกล้ชิดมากๆ โดยการสัมผัสกับ ตุ่ม หนอง แผล หรือสารคัดหลั่งของผู้ป่วย พร้อมย้ำมาตรการป้องกันโรคโควิด 19 สามารถใช้ได้กับโรคฝีดาษวานร โดยหมั่นล้างมือบ่อยๆ เว้นระยะห่าง กินอาหารปรุงสุก ไม่ใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น สวมหน้ากากอนามัย หลีกเลี่ยงกับผู้ป่วยที่มีตุ่มหนอง หรือผู้ป่วยต้องสงสัย” นพ.โอภาส กล่าว
ทั้งนี้ ขอให้กลุ่มเสี่ยงเพิ่มความระมัดระวังและลดการสัมผัสใกล้ชิดกับคนแปลกหน้า หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ที่มีความเสี่ยงหรือคู่นอนที่ไม่รู้จัก เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อฝีดาษวานร และลดความเสี่ยงการติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ หากประชาชนมีอาการสงสัยว่าตนเองมีอาการป่วยเข้าได้กับโรคฝีดาษลิง สามารถติดต่อสถานพยาบาลใกล้บ้านเพื่อรับการตรวจหาเชื้อได้ทันที สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422
นายกฯ สั่งคุมเข้มติดตาม-คัดกรองผู้มีความเสี่ยง
ทางด้าน นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รับทราบรายงานจากทางสาธารณสุขยืนยันไทยพบผู้ป่วยฝีดาษวานรรายที่ 2 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ได้สั่งการให้กระทรวงสาธารณสุขจัดทีมเจ้าหน้าที่ติดตามและคัดกรองผู้มีความเสี่ยง เพื่อความปลอดภัยในพื้นที่ พร้อมเตือนประชาชนอย่าตื่นตระหนกเกินไปประชาชนทั่วไป สามารถดำเนินชีวิตตามปกติ แต่ขอให้งดหรือหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่เสี่ยง ทั้งนี้ โรคโควิด-19 และโรคฝีดาษวานร สามารถป้องกันการติดเชื้อ ด้วยการดูแลตนเองด้วยมาตรการสุขอนามัย
นายธนกร กล่าวว่า ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขยืนยันโรคฝีดาษวานรมีโอกาสติดเชื้อยาก ซึ่งสามารถติดได้จากการสัมผัสโดยตรงกับสารคัดหลั่งหรือใกล้ชิดกับผู้ป่วย และผู้ป่วยส่วนใหญ่สามารถหายป่วยได้เอง กระทรวงสาธารณสุขได้ให้ข้อมูลว่า ผีดาษวานร เกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่ม Poxviridae พบได้ในสัตว์หลายชนิดตระกูลฟันแทะ เช่น กระต่าย กระรอก หนูและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็ก ไม่ใช่แค่ลิง
โดยการติดต่อสามารถติดต่อได้จาก 'สัตว์สู่คน' ผ่านทางการสัมผัสโดยตรงกับสารคัดหลั่ง ตุ่มหนองของสัตว์ที่ติดเชื้อ ถูกสัตว์ที่มีเชื้อกัดข่วน กินเนื้อสัตว์ที่มีเชื้อและปรุงสุกไม่เพียงพอ และสามารถติดต่อจาก 'คนสู่คน' ผ่านทางการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย เช่น ตุ่มหนอง แผล สารคัดหลั่ง ซึ่งจะมีอาการป่วยประมาณ 2- 4 สัปดาห์ และผู้ป่วยส่วนใหญ่หายจากโรคได้เอง