สธ.ยืนยันไทยพบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์ BA.2.75 แล้ว 1 รายที่ จ.ตรัง ศูนย์จีโนมฯ เผยขณะนี้แพร่ระบาดไปทั่วโลก คาดหลบภูมิคุ้มกัน-ดื้อต่อวัคซีนที่เตรียมจากไวรัสอู่ฮั่น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 20 ก.ค. 2565 นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยข้อเท็จจริงถึงกรณีประเทศไทยพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ BA.2.75 ว่า ผู้ติดเชื้อเป็นชาวไทยอายุ 53 ปี ภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดตรัง เดินทางไปประชุมที่ภูเก็ต ที่มีชาวต่างชาติร่วมประชุมด้วย จากนั้นมีอาการและได้ตรวจ ATK ขึ้น 2 ขีด และตรวจยืนยันด้วย RT-PCR พบติดเชื้อ และโรงพยาบาลได้ส่งตัวอย่างมาตรวจสายพันธุ์ที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 12/1 ตรัง และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้รับตัวอย่างส่งต่อจากศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 12/1 ตรัง เพื่อยืนยันสายพันธุ์ด้วยการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนม พบเป็นโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2.75 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จึงนำส่งข้อมูลเพื่อเผยแพร่บนฐานข้อมูลสากล GISAID เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2565 และ GISAID ได้ตรวจสอบและประกาศขึ้นระบบเมื่อวันที่ 19 ก.ค. 2565
สายพันธุ์ BA.2.75 พบครั้งแรกที่ต่างประเทศตั้งแต่เดือน ม.ค. 2565 แต่มีการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วในอินเดีย ช่วงเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา ล่าสุดฐานข้อมูล GISAD มีรายงานตรวจพบจากทั่วโลกแล้ว จำนวน 359 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 20 กรกฎาคม 2565)
นพ.ศุภกิจ กล่าวต่ออีกว่า BA.2.75 เบื้องต้นพบมีการกลายพันธุ์บน spike protein หลายตำแหน่งที่ต่างจากสายพันธุ์ย่อย BA.2 โดยสองตำแหน่งสำคัญ ได้แก่ ตำแหน่งกลายพันธุ์ G446S อาจทำให้เกิดการหลบภูมิคุ้มกัน ที่สร้างขึ้นภายหลังการติดโรคโควิด 19 หรือจากการฉีดวัคซีน ทำให้โอกาสการติดเชื้อซ้ำจากไวรัสโควิด 19 กลายพันธุ์เพิ่มขึ้น ทำให้มีโอกาสติดเชื้อมากขึ้น และการกลายพันธุ์ตำแหน่ง R493Q ทำให้ไวรัสจับกับเซลล์มนุษย์และรับเชื้อเข้าสู่ร่างกายได้ดีขึ้น เพิ่มโอกาสในการแพร่กระจาย
อย่างไรก็ตาม องค์การอนามัยโลกจัด BA.2.75 อยู่ในกลุ่มสายพันธ์ที่น่ากังวลที่ต้องจับตาดู (VOC-LUM) ขณะความเร็วในการแพร่เชื้อและความรุนแรงยังไม่มีข้อมูลที่มากพอจึงยังไม่ควรวิตกกังวลมากเกินไป
“กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และกระทรวงสาธารณสุข เฝ้าระวังสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมีการรายงานผลการตรวจเฝ้าระวังสายพันธุ์ขึ้นระบบฐานข้อมูลกลาง GISAID อย่างสม่ำเสมอ และขอเน้นย้ำการรับวัคซีนเข็มกระตุ้นเพื่อให้มีภูมิคุ้มกันสูงมากพอ ช่วยลดความรุนแรงของโรคได้ รวมถึงมาตรการการป้องกันตนเองที่เหมาะสม เช่น การสวมหน้ากาก การล้างมือ การเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล และหลีกเลี่ยงกิจกรรมเสี่ยงที่จะรับหรือแพร่เชื้อ” นพ.ศุภกิจ กล่าว
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 19 ก.ค. ที่ผ่านมา ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ โรงพยาบาลรามาธิบดี โพสต์ข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊ก Center for Medical Genomics เรื่อง พบโอไมครอน สายพันธุ์ย่อย BA.2.75 แล้วในไทยที่จังหวัดตรัง โดยระบุว่า จากการเก็บตัวอย่างโดยศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 12/1 จังหวัดตรัง เมื่อวันที่ 28 มิ.ย. 2565
ทั้งนี้ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนม และ upload ขึ้นบนฐานข้อมูลโควิดโลก 'GISAID' เป็นที่เรียบร้อยเมื่อวันที่ 18 ก.ค.65 โดยสายพันธุ์ย่อย BA.2.75 มีการกลายพันธุ์ต่างไปจากไวรัสดั้งเดิม 'อู่ฮั่น' ประมาณ 90 ตำแหน่ง สายพันธุ์ย่อย BA.2.75 อุบัติขึ้นครั้งแรกในอินเดีย ขณะนี้มีการแพร่ระบาดไปทั่วโลก นักวิทยาศาสตร์สามารถเก็บตัวอย่างถอดรหัสพันธุกรรมได้ 338 คน
สำหรับคำถามที่ว่า BA.2.75 หลบภูมิเก่ง ดื้อวัคซีน ดื้อยา หรือไม่ เพจศูนย์จีโนมฯ ระบุว่า BA.2.75 กลายพันธุ์ไปถึง 100 ตำแหน่ง คาดว่าจะหลบภูมิคุ้มกันจากการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 สายพันธุ์ก่อนได้ดี และดื้อต่อวัคซีนที่เตรียมจากไวรัสอู่ฮั่นดั้งเดิม และควรเลือกใช้ยาแอนติบอดีสังเคราะห์ (monoclonal antibody) ให้สอดคล้องกับโอมิครอนสายพันธุ์ย่อยที่ผู้ป่วยติดเชื้ออยู่
แต่ที่น่าสังเกตคือการระบาดของ BA.2.75 ในประเทศอินเดีย, ประเทศต้นกำเนิดเมื่อต้นเดือนมิถุนายน 2565 มีการระบาดไม่ยาวนาน ขณะนี้ใกล้จะสงบลงแล้ว อาจสืบเนื่องมาจากในอินเดียมีการระบาดใหญ่ของ BA.2 มาก่อน ภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นอาจทำให้การระบาดของ BA.2.75 ซึ่งกลายพันธุ์มาจาก BA.2 ไม่ขยายวงกว้าง ซึ่งในประเทศไทยเองก็มีการระบาดใหญ่ของ BA.2 มาก่อนเช่นเดียวกัน
ขณะที่ ประเทศสิงคโปร์ พบผู้ติดเชื้อ BA.2.75 สองรายแรกเดินทางกลับมาจากประเทศอินเดียเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2565 แยกกักตัวเอง ไม่มีอาการใดๆ กระทรวงสาธารณสุขสิงคโปร์แถลงกับประชาชนว่า ยังไม่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ในขณะนี้ที่แสดงให้เห็นว่า BA.2.75 มีการติดเชื้อและอาการที่รุนแรง (Virulence or Severity) แตกต่างไปจากโอมิครอนสายพันธุ์อื่นที่ระบาดมาก่อนหน้านี้