'อนุทิน' เผยภาพรวมโควิด กทม.ยังมีปัญหา เหตุมีโรงพยาบาลน้อย ชี้แม้ระบบสาธารณสุขเป็นเอกเทศ แต่ก็ต้องเข้าไปช่วย ยันพร้อมให้ความร่วมมือ 'ชัชชาติ' เต็มที่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2565 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ก่อนประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงกรณีกระทรวงสาธารณสุข เชิญนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการอำนวยการศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีโรคติดเชื้อโควิด 19 (ศปค.สธ.) เพื่อหารือเกี่ยวกับโควิด-19 ว่า ไม่ทราบ เพราะเรื่องการปฎิบัติและบริหารจัดการสถานการณ์ต่างๆ เป็นเรื่องของปลัดกระทรวงสาธารณสุข ส่วนหน้าที่ตนถ้ามีการนำเสนอเรื่องเพื่อขอให้เสนอเข้า ครม. หรือเป็นเรื่องเกี่ยวกับงบประมาณ เพื่อขอมติ ครม. ตนก็เป็นฝ่ายสนับสนุน
อย่างไรก็ตามขณะนี้เรามีผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่ ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนและมีการลงพื้นที่ไปสัมผัสเอง ก็อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงในระบบบริหาร เช่น อาจจะมีการบอกว่าขอให้ทั้ง กทม. และกระทรวงสาธารณสุขมาร่วมมือกันเต็มที่ จะไม่มีการเชิญออก หรือขอให้กระทรวงสาธารณสุข อย่ามายุ่งเหมือนเมื่อก่อน เราพร้อมจะร่วมมือ เพราะผู้ว่าฯ มาจากประชาชน เราก็ต้องเคารพเสียงประชาชน
ผู้สื่อข่าวถามว่า ภาพรวมสถานการณ์โควิด-19 ใน กทม. มีอะไรที่น่าเป็นกังวล นายอนุทิน กล่าวว่า กทม. มี 50 เขต แต่ไม่มีโรงพยาบาลอำเภอ มีเพียงโรงพยาบาลหลัก ที่ระบบสาธารณสุขเป็นเอกเทศ ขึ้นอยู่กับการบริหารของกทม. และก่อนหน้านี้กระทรวงสาธารณสุข เคยเข้าไปช่วยเหลือ บางครั้งถูกขอให้ออกมาก็มี แต่เราไม่ได้กังวลโกรธ หรือไม่พอใจ เพราะเห็นเรื่องสุขภาพประชาชนสำคัญ แต่เมื่อถูกเชิญให้ออกมาก็ต้องออก เพราะไม่มีอำนาจไปดูเรื่องนโยบายหรือการปฏิบัติการ โดยออกมาเป็นฝ่ายสนับสนุนแทน แต่จะโยนให้ กทม. รับผิดชอบทั้งหมดก็ไม่ได้ เพราะยังมีเรื่องที่เกี่ยวข้อง เช่น ยังมีระบบหลักประกันสุขภาพที่ต้องเบิกค่ารักษา เรื่องยาและวัคซีน ยังต้องผ่านการสนับสนุนจากกระทรวงสาธารณสุข เป็นผู้จัดหายาและเวชภัณฑ์ ถ้าเราเล่นการเมืองโดยไม่ส่งยา ไม่สนใจกันก็ไม่ได้ ประชาชนจะเดือดร้อน
“ย้ำว่าเรื่องบริหารจัดการเราไปยุ่งไม่ได้ ซึ่งต่างกับต่างจังหวัด ที่เรามีระบบสาธารณสุขเข้มแข็ง เพราะมีโรงพยาบาลทุกอำเภอ ทุกจังหวัด และทุกตำบล คือ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล แต่ใน กทม. มีแค่โรงพยาบาลกลาง โรงพยาบาลวชิระ โรงพยาบาลบางขุนเทียน โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ แต่ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขมีโรงพยาบาลในสังกัดที่อยู่ใน กทม. เช่น โรงพยาบาลเลิดสิน โรงพยาบาลนพรัตน์ราชธานี ที่คอยช่วยดูแลกันอยู่” นายอนุทิน ระบุ