'หมอธีระวัฒน์' เผยข้อมูลติดเชื้อซ้ำ ยิ่งมีอาการหนัก ลองโควิดยืดยาวขึ้น แม้วัคซีนเต็มแขน ด้าน 'นพ.ยง' ชี้การฉีดวัคซีนเหมือนการฝึกทหารเกณฑ์ให้รู้จักข้าศึก พร้อมที่จะต่อสู้โรค ทำให้อาการลดลง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 16 ก.ค. 2565 ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha ระบุว่า ยิ่งติดซ้ำ ยิ่งหนักขึ้นในภายหลัง
แม้ว่าจะได้วัคซีนเต็มเหนี่ยวแล้วก็ตาม
แม้ว่าคราวที่แล้วเป็นเดลต้า ครั้งใหม่เป็นโอไมครอนก็ตาม
ผลกระทบหนักขึ้นเป็นเงาตามตัวและลองโควิดยืดยาวขึ้น ในทุกๆครั้งที่ติดซ้ำใหม่ รวมถึงความเสี่ยงการเสียชีวิตจากโรคต่างๆ เช่น หัวใจ สมอง
เป็นการวิเคราะห์ ทหารที่ปลดประจำการ จำนวน 257,427 คนที่ติดเชื้อครั้งเดียว กับ 38,926 คนที่มีติดเชื้อครั้งที่สองครั้งที่สามจนกระทั่งถึงสี่ครั้งและเทียบกับประชากร 5.4 ล้านคนที่ไม่เคยติดเชื้อเลย
ข้อมูลจาก Al-Aly, นักระบาดวิทยาที่ Washington University และ chief of research and development at the VA St. Louis Health Care System.
ข้อมูล preprint และลงใน Medscape's Coronavirus Resource Center และมีการนำเสนอ ในหลายที่ รวมทั้ง Medcram
ขณะที่ ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Yong Poovorawan เมื่อวันที่ 15 ก.ค. ที่ผ่านมา ระบุถึงการฉีดวัคซีนแล้วติดเชื้อ ทำไมยังต้องฉีดวัคซีนอีก โดยระบุว่า เป็นที่ทราบกันดีแล้วว่าโรคโควิด-19 เป็นแล้วเป็นอีกได้ และเช่นเดียวกัน ฉีดวัคซีนแล้วก็สามารถติดเชื้อได้ การฉีดวัคซีนหรือการติดเชื้อ จะช่วยป้องกันลดความรุนแรงของโรคได้
การฉีดวัคซีน ส่วนใหญ่จะกระตุ้นภูมิต้านทานจำเพาะ ต่อ B และ T เซลล์ ภูมิต้านทานต่อ B เซลล์ จะเป็นการสร้าง แอนติบอดี เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อมาจับกับเซลล์ และป้องกันการติดเชื้อ ภูมิที่สร้างขึ้นในระยะแรกจะมีระดับสูงเพียงพอต่อการป้องกันการติดเชื้อ และจะลดลงตามระยะเวลา ในขณะเดียวกัน ไวรัสก็มีการเปลี่ยนแปลงพันธุกรรม ทำให้ต้องใช้ระดับภูมิต้านทานที่สูงขึ้นอีก จึงไม่สามารถที่จะป้องกันการติดเชื้อได้ แต่เมื่อติดเชื้อแล้ว การหายของโรค รวมทั้งลดความรุนแรง ระบบ T เซลล์ จะเข้ามาช่วยจัดการให้หายได้เร็วขึ้น และระบบนี้ยังมีหน่วยความจำ ให้รู้จักหน้าตาของไวรัส เข้ามาเสริมสนับสนุนให้ B เซลล์สร้างภูมิต้านทานได้เร็วขึ้นเมื่อมีการติดเชื้อจริง
ดังนั้น การฉีดวัคซีนจึงเปรียบเสมือนการฝึกทหารเกณฑ์ให้รู้จักข้าศึกหรือตัวไวรัส เมื่อเวลาผ่านไปหรือยามสงบก็ปลดเป็นกองหนุน และเมื่อมีข้าศึกหรือไวรัสเข้ามา ทหารที่ผ่านการฝึกแล้ว เคยเห็นหน้ารู้จักข้าศึกหรือไวรัส พร้อมที่จะต่อสู้ได้อย่างรวดเร็ว ไม่ต้องไปฝึกยุทธวิธีใหม่ และถ้าฝึกมานานแล้ว จำเป็นจะต้องให้วัคซีนกระตุ้นอีก เพื่อเอาทหารกองหนุนมาฝึกอีกครั้งหนึ่งให้ชำนาญยิ่งขึ้น และยามปกติก็จะปลดประจำการ และจำเป็นจะต้องมีการฝึกเป็นครั้งคราว หรือกระตุ้นด้วยวัคซีนเป็นครั้งคราว เผื่อเวลามีข้าศึกมาจะได้มีความชำนาญพร้อมที่จะต่อสู้ได้ทันที ทำให้อาการของโรคลดลง