กรมการแพทย์ออกแนวทางรักษาโควิดใหม่ ปรับลำดับยากลุ่มมีปัจจัยเสี่ยง ด้าน อย.ไฟเขียวโรงพยาบาลเอกชนจัดซื้อโมลนูพิราเวียร์-แพกซ์โลวิด จ่ายให้ผู้ป่วยได้ หากผู้ผลิตมีของขายให้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 12 ก.ค. 2565 จากกรณีที่ รพ.เอกชนบางแห่งออกแพคเกจรักษาผู้ป่วยโควิด19 โดยระบุให้เลือกรูปแบบการรักษาและมีค่าใช้จ่ายที่แตกต่างกัน อาทิ ยาฟาวิพิราเวียร์ครบโดส 50 เม็ด ราคา 2,900 บาท หรือยาฟาวิพิราเวียร์แบบครบโดสกับปรอทและเครื่องวัดออกซิเจนในเลือด ราคา 3,000 บาท หรือยาโมลนูพิราเวียร์ 20-30 เม็ด ราคา 5,700 บาท เป็นต้น และกรมสนับสนุบริการสุขภาพ(สบส.) ระบุว่า สามารถดำเนินการได้ แต่จะต้องเป็นยาที่รพ.เอกชนจัดซื้อมาเอง ไม่ใช่ยาที่รัฐจัดให้ไปเพื่อใช้ในการรักษาฟรีให้กับประชาชนนั้น
เมื่อวันที่ 12 ก.ค.2565 นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า การขึ้นทะเบียนยาโมลนูพิราเวียร์ และยาแพกซ์โลวิดที่ใช้ในการรักษาโควิด-19นั้น ยังขึ้นทะเบียนใช้ในภาวะฉุกเฉินเช่นเดียวกับทั่วโลก แต่เมื่อยาได้รับการขึ้นทะเบียนจากอย.แล้ว สถานพยาบาลเอกชนก็สามารถจัดซื้อยาดังกล่าวมาใช้รักษาผู้ป่วยได้ หากบริษัทผู้ผลิตมียาที่ขายให้ได้
อย่างไรก็ตาม การสั่งจ่ายยาดังกล่าวของสถานพยาบาลให้กับผู้ป่วยโควิด-19 จะต้องเป็นไปตามมาตรฐานทางการแพทย์ที่เป็นแนวทางการรักษาที่ออกโดยกรมการแพทย์
ทั้งนี้ กรมการแพทย์ได้ออกแนวทางเวชปฏิบัติ การวินิจฉัย ดูแลรักษา และป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สำหรับแพทย์และบุคลากรสาธารณสุขฉบับปรับปรุงใหม่ ครั้งที่ 24 วันที่ 11 กรกฎาคม 2565 โดยความร่วมมือของคณาจารย์ ผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานต่างๆ และผู้แทนทีมแพทย์ที่ปฏิบัติหน้างานในการดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ได้ทบทวนและปรับแนวทางการดูแลรักษาผู้ป่วยตามข้อมูลวิชาการในประเทศ และต่างประเทศ
การรักษาผู้ติดโควิด-19 แบ่งเป็น กลุ่มตามความรุนแรงของโรคและปัจจัยเสี่ยงได้ 4 กรณี ดังนี้
1. ผู้ป่วยที่ไม่มีอาการหรือสบายดี ให้การรักษาแบบผู้ป่วยนอก โดยแยกกักตัวที่บ้านแบบให้ดูแลรักษาตามอาการตามดุลพินิจของแพทย์ ไม่ให้ยาต้านไวรัส เช่น ฟาวิพิราเวียร์ เนื่องจากส่วนมากหายได้เอง อาจพิจารณาให้ยาฟ้าทะลายโจรตามดุลพินิจของแพทย์
2. ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง ไม่มีปอดอักเสบ ไม่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรง/โรคร่วมสำคัญและภาพถ่ายรังสีปอดปกติ อาจพิจารณาให้ฟาวิพิราเวียร์ ควรเริ่มยาโดยเร็ว หากตรวจพบเชื้อเมื่อผู้ป่วยมีอาการมาแล้วเกิน 5 วัน และผู้ป่วยไม่มีอาการหรือมีอาการน้อยอาจไม่จำเป็นต้องให้ยาต้านไวรัส เพราะผู้ป่วยจะหายได้เองโดยไม่มีภาวะแทรกซ้อน
3. ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง แต่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรงหรือมีโรคร่วมสำคัญ หรือผู้ป่วยที่ไม่มีปัจจัยเสี่ยง แต่มีปอดอักเสบเล็กน้อยถึงปานกลางยังไม่ต้องให้ออกซิเจน แนะนำให้ยาต้านไวรัสเพียง 1 ชนิด โดยควรเริ่มภายใน 5 วัน ตั้งแต่เริ่มมีอาการจึงจะได้ผลดี โดยหากไม่มีปัจจัยเสี่ยงให้ยาฟาวิพิราเวียร์ หากมีปัจจัยเสี่ยง 1 ข้อ โดยมีลำดับการให้ยา คือ โมลนูพิราเวียร์, เรมเดซิเวียร์, เนอร์มาเทรลเวียร์/ริโทนาเวียร์ (แพกซ์โลวิด) และฟาวิพิราเวียร์ หากมีปัจจัยเสี่ยง 2 ข้อขึ้นไป ให้เรมเดซิเวียร์ หรือเนอร์มาเทรลเวียร์/ริโทนาเวียร์ (แพกซ์โลวิด) หรือโมลนูพิราเวียร์
ทั้งนี้ การจัดลำดับการให้ยา พิจารณาจากปริมาณยาที่มีในประเทศ ประสิทธิภาพของยาในการลดอัตราการป่วยหนักและอัตราตาย ความสะดวกในการบริหารยา และราคายา ซึ่งข้อมูลปัจจุบัน เนอร์มาเทรลเวียร์/ริโทนาเวียร์ มีประสิทธิภาพสูงสุด แต่มีราคาสูงที่สุด ส่วนฟาวิพิราเวียร์ ไม่ช่วยลดอัตราการป่วยหนัก แต่ช่วยลดอาการได้ หากได้รับยาเร็วตั้งแต่วันแรกที่มีอาการในกลุ่มที่ไม่มีความเสี่ยง
ปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรคที่รุนแรง ได้แก่ อายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป, โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง รวมโรคปอดเรื้อรังอื่นๆ โรคไตเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด รวมโรคหัวใจแต่กำเนิด โรคหลอดเลือดสมอง เบาหวานที่ควบคุมไม่ได้ ภาวะอ้วน ตับแข็ง ภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ และผู้ติดเชื้อเอชไอวี
และ 4.ผู้ป่วยยืนยันที่มีปอดอักเสบ ปอดอักเสบรุนแรง ไม่เกิน 10 วันหลังจากมีอาการและได้รับออกซิเจน แนะนำให้เรมเดซิเวียร์ โดยเร็วที่สุด เป็นเวลา 5-10 วัน ขึ้นกับอาการทางคลินิก ควรติดตามอาการของผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด ร่วมกับให้ยาคอร์ดิโคสเตียรอยด์ (corticosteroid)