สธ.เผยโอไมครอน BA.4-BA.5 ครอง กทม.แล้ว 72 % คาดน่าจะรุนแรงกว่า BA.2 แต่ยังสรุปได้ไม่ชัดเจน เหตุตัวอย่างยังน้อย-ไม่ได้แยกกลุ่มฉีดวัคซีน ย้ำวัคซีนเข็มกระตุ้นยังจำเป็น ส่วนยอด ATK สัปดาห์ที่ผ่านมา พุ่งเกือบ 1.5 แสนราย แต่ยังอยู่ในเกณ์ตามคาด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 11 ก.ค. 2565 นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวถึงสถานการณ์โอไมครอน BA.4-BA.5 ว่า จากการเฝ้าระวังโอมิครอนสายพันธุ์ต่างๆ ช่วงวันที่ 2-8 ก.ค.2565 โดยการตรวจกลุ่มตัวอย่าง 570 ราย พบเป็น BA.1 จำนวน 5 ราย BA.2 จำนวน 283 ราย และสายพันธุ์ย่อย BA.4 และ BA.5 รวมกัน 280 ราย มีไม่ชัดเจนอยู่ 2 ราย
อย่างไรก็ตาม หากแยกกลุ่มที่เดินทางมาจากต่างประเทศพบว่า ส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์ BA.4-BA.5 ถึง 78.4% ส่วนการติดเชื้อในประเทศแบ่งออกเป็นพื้นที่ กทม.และภูมิภาค ข้อมูลจนถึงเดือน พ.ค. 2565 พบว่า ใน 4 สัปดาห์ที่ผ่านมา กทม.เป็นพื้นที่ที่พบ BA.4-BA.5 มากที่สุด
นพ.ศุภกิจ กล่าวอีกว่า กทม.เริ่มพบสายพันธุ์ BA.4/BA.5 ขึ้นเรื่อยๆ จาก 12.7% ขึ้นเป็น 50.8% 68% และมาถึง 72.3% ส่วนภูมิภาคก็เช่นกัน เริ่มตั้งแต่ 6.5% ขึ้นเป็น 17.4% และมาถึง 34.7% สรุปได้ว่า สายพันธุ์ BA.4-BA.5 จะเริ่มแซงสายพันธุ์ BA.2 และ BA.1 แต่ไม่ได้แซงเร็วมากนัก
นพ.ศุภกิจ กล่าวถึงเรื่องความรุนแรงของ BA.4-BA.5 ว่า ได้มีการสุ่มตรวจสายพันธุ์ในกลุ่มตัวอย่าง แบ่งเป็นคนมีอาการรุนแรง และอาการไม่รุนแรง โดยพื้นที่ กทม. พบว่า คนที่อาการไม่รุนแรงพบ BA.4/BA.5 อยู่ประมาณ 72% ส่วนคนที่อาการรุนแรง ปอดอักเสบจนต้องเข้าโรงพยาบาลหรือ ใส่ท่อช่วยหายใจ รวมทั้งรุนแรงจนเสียชีวิต มีข้อมูล 13 ราย พบเป็น BA.4-BA.5 อยู่ 77%
ขณะที่ในพื้นที่ภูมิภาค คนที่อาการไม่รุนแรงมี 309 ราย พบ BA.4-BA.5 อยู่ 33% ส่วนคนที่อาการรุนแรง 45 รายพบสัดส่วน BA.4-BA.5 อยู่ที่ 46.67%
จากข้อมูลดังกล่าวพบว่า BA.4-BA.5 ในกลุ่มอาการรุนแรงสัดส่วนมากกว่าอาการไม่รุนแรง แต่ก็ยังสรุปไม่ได้ว่า สายพันธุ์ BA.4-BA.5 มีความรุนแรงชัดเจน เนื่องจากตัวเลขยังน้อยอยู่ เพราะจริงๆ ตามข้อมูลทางสถิติต้องมีตัวเลขมากกว่านี้เป็นหลักหลายร้อยราย เพื่อตัดตัวเลขที่อาจแกว่งได้ และตัวเลขเราก็ยังไม่ได้แยกว่า ใครได้รับวัคซีน หรือไม่ได้รับวัคซีน
"อย่างไรก็ตาม ตัวเลขใน กทม. 13 รายเป็นผู้เสียชีวิตกว่าครึ่งหนึ่ง จริงๆ ความรุนแรงเราต้องได้ข้อมูลอื่นๆ อย่างปอดอักเสบ ใส่ท่อช่วยหายใจ เป็นต้น ขณะนี้ได้ขอความร่วมมือทุกพื้นที่ในการส่งตัวอย่างเพิ่มเติม" นพ.ศุภกิจ กล่าว
นพ.ศุภกิจ กล่าวอีกว่า สถานการณ์ในโลก ในภาพรวมองค์การอนามัย (WHO) พบว่า BA.5 สัดส่วนเพิ่มมากขึ้น ใน 83 ประเทศ จากเดิม 37% เพิ่มเป็น 52% ส่วนตัว BA.4 ทรงตัว โดย WHO ยังไม่ให้น้ำหนักในแง่อาการรุนแรง เพราะยังไม่พบความแตกต่างมากนัก แต่ยอมรับว่าแพร่เร็วกว่า และมีผลในแง่หลบหลีกภูมิคุ้มกัน
“ข้อมูลจากการสุ่มตัวอย่างถอดรหัสพันธุกรรม เห็นชัดว่า BA.4/BA.5 มีแนวโน้มพบมากขึ้นและชุกชุมใน กทม. รวมทั้งพบเชื้อนี้ในผู้ป่วยอาการรุนแรงมากกว่าผู้ป่วยอาการทั่วไป แต่ยังต้องเก็บตัวอย่างเพื่อตรวจเพิ่มเติม ในผู้ป่วยที่มีอาการหนัก ปอดอักเสบ ใส่ท่อช่วยหายใจ และเสียชีวิต เพื่อยืนยันข้อมูลให้ได้มากขึ้นขณะนี้มาตรการป้องกันส่วนบุคคล สวมหน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่าง และการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น ยังมีความจำเป็น เพราะหากเชื้อตัวนี้ทำให้ติดเชื้อเร็วและแรงขึ้น การระบาดติดเชื้อมาก จะส่งผลให้จำนวนผู้ป่วยหนักมากขึ้น และจะทำให้มีปัญหาในการรับมือ”
องค์การอนามัยโลกได้ติดตามข้อมูลเป็นสัปดาห์ๆ พบว่า BA.5 เพิ่มขึ้นจากที่เคยตรวจ 37% ใน 83 ประเทศ เป็น 52% ส่วน BA.4 จาก 11% เป็น12% หมายความว่า หาก BA.4 และ BA.5 อาจแพร่เร็วไม่เท่ากัน แต่ BA.5 เร็วขึ้นแน่ๆ แต่ BA.4 ยังทรงๆ ส่วน BA.1 และ BA.2 กลับลดลง ถูกเบียดไป
ทั้งนี้ มีการตามประเด็นว่า แพร่เร็วแค่ไหน รุนแรงหรือไม่ หลบภูมิคุ้มกันหรือไม่อย่างไร ซึ่งเรื่องความรุนแรง องค์การอนามัยไม่ได้ให้น้ำหนักมาก บอกเพียงว่า ความรุนแรงไม่ได้แตกต่างมากนัก แต่การแพร่เร็ว พบว่า เร็วกว่าแน่ ส่วนมีผลต่อการหลบภูมิคุ้มกันหรือไม่ ก็พบว่า ลดลง
ข้อมูลในประเทศอังกฤษ พบว่า มีการแพร่เร็วสูงกว่าเดิม ความรุนแรงจัดว่าอยู่ในระดับสีเหลือง เพราะข้อมูลยังน้อย ขณะที่หลบภูมิคุ้มกันน่าจะหลบแต่ข้อมูลยังไม่มาก
สำหรับงานวิจัยญี่ปุ่น ซึ่งเป็นข้อมูลห้องทดลองพบว่า การกลายพันธุ์มีผลต่อการเพิ่มจำนวนไวรัส และดื้อต่อภูมิคุ้มกันที่เกิดจาก BA.1 และ BA. 2 คือ ใครที่ติดเชื้อมาก่อน ติดซ้ำ BA.4/BA.5 ได้ ในเซลล์ปอดมนุษย์พบว่า แพร่ได้เร็วกว่า BA.2 และในหนูแฮมสเตอร์พบว่า กลุ่มติดเชื้อ BA.4-BA.5 มีอาการหนักกว่า BA.2 อันนี้คือข้อมูลเอกสารวิจัยรอตีพิมพ์ของญี่ปุ่น ดังนั้น จากข้อมูลทั้งหมดมีแนวโน้ม BA.4/BA.5 มากขึ้น แต่ชุกชุมในกรุงเทพมหานคร ส่วนความรุนแรงมีแนวโน้มว่า พบมากใน BA.4-BA.5 แต่ตัวเลขยังน้อยอยู่
“ขอย้ำว่า BA.4-BA.5 ยังไม่สรุปว่ารุนแรง แต่เบื้องต้นน่าจะเป็นเช่นนั้น เมื่อเช้าประชุมอีโอซีได้ขอความร่วมมือรพ.สังกัดมหาวิทยาลัย สังกัดกทม. ฯลฯ ขอให้มีการเก็บตัวอย่างคนปอดอักเสบจนนอนรพ. หรือใส่ท่อช่วยหายใจ รวมทั้งผู้เสียชีวิต ขอให้ส่งตรวจเพิ่มขึ้น เพื่อให้ข้อมูลชัดเจนและมั่นใจมากขึ้น” นพ.ศุภกิจ กล่าว
เมื่อถามว่า สัปดาห์หน้าจะมีการเปิดเผยข้อมูลตรวจภูมิคุ้มกันผู้รับวัคซีนต่อเชื้อ BA.4-BA.5 อย่างไร นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า เป็นข้อมูลภาพรวม ซึ่งวัคซีนมีหลายสูตร และมีเรื่องการฉีดกี่เข็ม ก็จะทยอยข้อมูลออกมาว่า สรุปแล้วหลบภูมิฯหรือไม่ หรืออย่างไร
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ข้อมูลผู้ติดเชื้อนอกโรงพยาบาล (ATK เป็นบวก) ตั้งแต่วันที่ 3-9 ก.ค. 2565 มีจำนวน 149,537 ราย
ทางด้าน นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กล่าวถึงสถานการณ์โควิดในประเทศไทยว่า แม้ยอดผู้ติดเชื้อรักษาตัวนอกโรงพยาบาล ATK เป็นบวกสูงขึ้น รวมถึงอาการหนัก และผู้เสียชีวิตจะเพิ่มขึ้นมาเล็กน้อย แต่ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ทรงตัว แต่ทั้งนี้ ยังคงต้องตามสถานการณ์นี้อย่างต่อเนื่อง