ศบค.เผยรับผู้ป่วยโควิดอาการหนักเพิ่มขึ้นตามคาด แต่ยังอยู่ในเกณฑ์รับได้ ห่วงฉีดเข็มกระตุ้นยังไม่เข้าเป้า จับตาชุดใหญ่ นัดถกทวนมาตรการ 8 ก.ค.นี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 2565 พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 (ศบค.) กล่าวว่า สถานการณ์ปัจจุบันมีการติดเชื้อมากขึ้น แต่ตัวเลขที่ ศบค.ให้ความสำคัญคือ ผู้ติดเชื้อปอดอักเสบที่วันนี้สูงจาก 2 สัปดาห์ก่อน และมีทิศทางสูงขึ้น แต่ยังถือว่ายังอยู่ในคาดการณ์ตามมาตรการผ่อนคลายการถอดหน้ากากตามความสมัครใจ และการเปิดสถานบันเทิง 31 จังหวัด
สำหรับอัตราครองเตียงและศักยภาพบุคลากรยังอยู่ในเกณฑ์ที่รับได้ โดยการครองเตียงในระดับ 2 และ 3 ส่วนใหญ่อยู่ที่ 9.9% มีเพียงบางจังหวัดใหญ่ๆ เช่น จ.สมุทรปราการที่อัตราการครองเตียงเกิน 20% แต่ไม่ถึง 25% เพราะผู้ป่วยส่วนใหญ่รักษาตัวที่บ้าน
อย่างไรก็ตาม ศบค.ชุดเล็ก ให้ความสำคัญกับผู้เสียชีวิตโดยตรงจากโรคโควิด ซึ่งผู้เสียชีวิตรายใหม่พบว่า 100% เป็นกลุ่มเสี่ยง 608 ที่ยังไม่ได้รับวัคซีนและไม่ได้รับเข็มกระตุ้น
"หากดูการรับวัคซีนเข็มกระตุ้น พบว่าผู้มีอายุเกิน 60 ปีขึ้นไปได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นเพียง 46.5% ยังไม่ถึงเป้าหมาย 60% ที่วางไว้ ถ้าดูภาพรวมของทั้งประเทศประชาชนรับวัคซีนเข็มกระตุ้นเพียง 42% จึงขอให้ประชาขนเข้ามารับวัคซีนกันมากขึ้น ขณะนี้ มีเพียง 4 จังหวัดที่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นเกินเป้าหมาย 60% ประกอบด้วย กทม. นนทบุรี สมุทรปราการ และภูเก็ต" พญ.อภิสมัยกล่าว
นอกจากนี้ ในส่วนของการถอดหน้ากาก ศบค.ชุดเล็กได้ติดตามและประเมินสถานการณ์ตลอด แต่มาตรการดังกล่าวไม่ใช่ให้ทุกคนถอดหน้ากาก ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงยังขอให้ใส่หน้ากากตลอดเวลา และขอให้ประชาชนฟังมาตรการในแต่ละพื้นที่ที่อาจแตกต่างจากคำสั่งในส่วนกลางได้ เช่นเดียวกับผู้ให้บริการต่างๆ ที่สามารถออกประกาศเฉพาะส่วนที่รับผิดชอบได้
พญ.อภิสมัย กล่าวถึงกลายพันธุ์ของโอไมครอน สายพันธุ์ย่อย BA.5 ว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขได้ติดตามอย่างใกล้ชิด ส่วนใหญ่ที่พบเป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ ในประเทศไทยยังพบจำนวนน้อย สายพันธุ์หลักยังคงเป็นโอไมครอนอยู่ และจากข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ยังไม่พบว่าเชื้อดังกล่าวจะรุนแรงเท่าเดลต้า แต่ยังเร็วไปที่จะสรุป จึงยังไม่มีการปรับมาตรการอะไรเพื่อรองรับเชื้อดังกล่าว
โดยในวันที่ 8 ก.ค.65 ศบค.ชุดใหญ่ จะประชุมพิจารณาทบทวนมาตรการต่างๆ ว่าจะปรับขึ้นลงหรือไม่อย่างไร ทั้งนี้การเปลี่ยนผ่านต้องค่อยเป็นค่อยไป ไม่เป็นไปแบบก้าวกระโดด