สธ.เผยไทยพบผู้ป่วยฝีดาษวานรรอเปลี่ยนเครื่องไปออสเตรเลีย ระหว่างรอไม่มีอาการ พร้อมติดตามผู้สัมผัสใกล้ชิด 12 ราย หากเสี่ยงสูง ต้องกักตัว 21 วัน ขณะที่ผู้เข้าข่ายสงสัย 5 คน ผลตรวจพบเป็นโรคเริม ชนิดติดต่อทางผิวหนัง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 30 พ.ค. 2565 นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงการเฝ้าระวังโรคฝีดาษวานร ว่า จากการตรวจสอบที่สนามบินเราพบว่า มีชาวต่างชาติ 1 รายที่บินมาจากประเทศทางยุโรป โดยเดินทางเข้ามา และแวะพักเครื่องระหว่างทางในประเทศไทย หรือทรานซิท เพื่อต่อไปยังประเทศออสเตรเลีย โดยทรานซิทประมาณ 2 ชั่วโมง ซึ่งยังไม่มีอาการ แต่ไปพบอาการที่ประเทศออสเตรเลีย ดังนั้น รายนี้ในส่วนของผู้สัมผัสใกล้ชิดยังไม่สัมผัสเสี่ยงสูง แต่ก็มีการติดตามผู้สัมผัสใกล้ชิด ที่เป็นผู้โดยสารเครื่องบินและลูกเรือรวม 12 คน ซึ่งติดตามแล้ว 7 วันยังไม่มีอาการ โดยต้องติดตามต่อไปให้ครบ 21 วัน” นพ.จักรรัฐ กล่าว
เมื่อถามว่าการติดตามผู้สัมผัสใกล้ชิดในผู้ป่วยที่มาทรานซิทในประเทศไทย นพ.จักรรัฐ กล่าวว่า ผู้ป่วยรายนี้ไม่มีอาการ และมาทรานซิทในไทยไม่นาน ซึ่งระหว่างนั้นไม่ได้สัมผัสใกล้ชิดกับใคร มีการสวมหน้ากากอนามัยตลอด ดังนั้น ผู้สัมผัสใกล้ชิดก็จะไม่ใช่กลุ่มสัมผัสเสี่ยงสูง ซึ่งตอนนี้ไม่มีอาการใดๆ อย่างไรก็ตาม โรคนี้เป็นโรคติดต่อเฝ้าระวัง ก็สามารถไปทำงานได้ตามปกติ หากมีอาการให้รีบแจ้ง แต่หากเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูงต้องแยกกัก 21 วันที่บ้าน
“โดยการติดตามผู้สัมผัสใกล้ชิดอยู่บนเครื่องบิน เนื่องจากผู้ป่วยที่เดินทางไปออสเตรเลียอีกหลายวันจึงพบเชื้อ ยังดีที่ผู้ป่วยนั่งในชั้น Business class นั่งห่างกันพอสมควร ซึ่งการติดเชื้อไม่ง่าย ต้องใกล้ชิดจริงๆ ถ้าอยู่ห่างๆ ไม่ค่อย เพราะเชื้อไม่ได้ลอยไปเอง อย่างเหตุการณ์ในยุโรป จะมีการใกล้ชิด กอดจูบ ดังนั้น โรคนี้ไม่ได้ติดต่อง่าย ต้องสัมผัสโดยตรงกับผู้ป่วยในระยะที่ป่วยด้วย” นพ.จักรรัฐ กล่าว
นพ.จักรรัฐ กล่าวว่า กรณีสอบสวนนักท่องเที่ยวไอรแลนด์ 3 รายที่มีผื่นตุ่มหนองนั้น พบว่าเป็นพี่น้องกัน รายที่ 1 เพศชาย อายุ 30 ปี รายที่ 2 เพศชายอายุ 27 ปี และรายที่ 3 เพศชายอายุ 20 ปี ผลสอบสวนโรค ผู้ป่วยรายที่ 1 มีอาชีพแพทย์ วันที่ 21 พ.ค.เริ่มมีผื่นที่แขนซ้าย อีก 2 วันถัดมาเริ่มมีไข้ 38.9 องศา รับยาที่คลินิกเอกชน จ.ภูเก็ต ผู้ป่วยรายที่ 2 อาชีพนักแสดง วันที่ 21 พ.ค.65 เริ่มมีผื่นที่หลัง ด้านขวาและคอ รับประทานยา และอาการไม่ดีขึ้น ส่วนรายที่ 3 เป็นนักศึกษา วันที่ 22 พ.ค.เริ่มมีผื่นที่รักแร้ซ้าย รับประทานยา อาการไม่ดีขึ้น
โดยทั้งหมดคลุกคลีใกล้ชิดกันตลอดเวลาที่อยู่ในไทย แต่ไม่มีประวัติสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยฝีดาษวานร ที่ไอร์แลนด์ แต่เมื่ออยู่ไทยมีการแบ่งกันใช้อุปกรณ์ชกมวย กระสอบทรายร่วมกันในยิมเดียวกัน และมีประวัติเพศสัมผัสกับหญิงไทย
อย่างไรก็ตาม พบผู้ป่วยสงสัยเพิ่มเติม 2 รายที่ยิมเดียวกัน โดยผลตรวจทางห้องปฏิบัติการผู้ป่วยสงสัยทั้งหมด 5 รายไม่พบฝีดาษวานร เป็นเชื้อเริม
เมื่อถามว่าเชื้อฝีดาษวานรจะอยู่บนสิ่งของนานแค่ไหน นพ.จักรรัฐ กล่าวว่า ยังต้องติดตามข้อมูลต่อ ส่วนกรณีที่นักวิชาการะบุว่าเชื้อนี้แพร่เร็ว 10 เท่า ก็ต้องติดตามข้อมูลเช่นกัน เพราะยังไม่ได้รับการยืนยันจากองค์การอนามัยโลก
นพ.จักรรัฐ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับคนที่ไปร่วมงานเฟสติวัลในต่างประเทศ หรือร่วมกิจกรรมที่มีความเสี่ยง หากมีอาการและมาพบแพทย์ขอให้แจ้งแพทย์ด้วยว่า มีประวัติร่วมกิจกรรม อย่างไรก็ตาม สำหรับประชาชนไทยที่เดินทางกลับมานั้น หากเราไม่ได้ร่วมกิจกรรมเสี่ยง และยังปฏิบัติตัวตามมาตรการส่วนบุคคล ทั้งสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ ก็ไม่ต้องกังวล เพราะป้องกันโควิด และฝีดาษวานร และโรคอื่นๆได้ ซึ่งคนไทยที่จะเดินไปต่างประเทศก็เช่นกัน ขอให้ปฏิบัติตามมาตรการส่วนบุคคล ไม่ร่วมกิจกรรมเสี่ยงก็จะป้องกันได้
“สำหรับคุณหมอที่อายุน้อยกว่า 60 ปี อาจไม่เคยเห็นลักษณะฝีดาษ จึงขอให้ตั้งคำถามสงสัยว่า เป็นฝีดาษลิง ก่อนโดยพิจารณาจากประวัติเสี่ยง ซึ่งผู้ที่เข้ามาในบริการในรพ.ทุกท่านหากมีประวัติร่วมกิจกรรมเสี่ยง ขอให้แจ้ง ไม่ต้องกังวลโรคนี้ ส่วนใหญ่หายเอง จะได้รับการรักษาและจะลดการแพร่ระบาดไปสู่คนอื่นได้” นพ.จักรรัฐ กล่าว
นพ.จักรรัฐ กล่าวถึงนิยามผู้ป่วยสงสัยฝีดาษวานรว่า จะมี 2 ส่วนหลักๆ คือ อาการแรกมีไข้ ร่วมด้วยเจ็บคอ หรืออาการอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ปวดศรีษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดหลัง ต่อมน้ำเหลืองโต โดยต้องร่วมกับอาการทางระบาดวิทยากำหนด ส่วนอาการที่สอง คือ มีผื่นตุ่มนูน ผื่นกระจายตามใบหน้า ลำตัว แขนขา แต่ลำตัวจะเล็กน้อย ตรงเอว ไม่มาก ลักษณะจะเป็นผื่นก่อน และตุ่มนูน เปลี่ยนเป็นน้ำใส ปรับเป็นตุ่มหนอง และตกสะเก็ด บวกกับประวัติทางระบาดวิทยา
โดยประวัติที่เชื่อมโยงทางระบาดวิทยาภายใน 21 วันที่ผ่านมา ประกอบด้วย 3 ข้อหลักๆ
-
ประวัติเดินทางมาจากหรืออาศัยอยู่ในประเทศที่มีการรายงานการระบาดของโรคฝีดาษวานรภายในประเทศ ซึ่งปัจจุบันนอกเหนือจากแอฟริกา ยังมีแคนาดา สเปน โปรตุเกส และอังกฤษ ที่มีการระบาดภายในประเทศ 21 วัน
-
ประวัติร่วมกิจกรรมในงานที่พบผู้ป่วยโรคฝีดาษวานร หรือมีอาชีพที่ต้องสัมผัสคลุกคลีกับผู้เดินทางจากต่างประเทศเป็นประจำ โดยเฉพาะประเทศที่มีความเสี่ยงการระบาดฝีดาษวานร
-
ประวัติสัมผัสใกล้ชิดสัตว์ป่าประเภทสัตว์ฟันแทะ ลิง หรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม นำเข้าจากทวีแอฟริกา ทั้งนี้ ต้องย้ำว่า ฝีดาษวานร แม้เป็นลิง แต่สัตว์ป่าที่แพร่โรคจะมีสัตว์ฟันแทะชนิดอื่น ทั้งหนู หรือลิง แต่ต้องเป็นสัตว์นำเข้าจากแอฟริกาเป็นหลัก ลิงไทยที่ไม่ได้มีประวัติเชื่อมโยงแอฟริกา หรือสัตว์เลี้ยงตามบ้านจึงไม่เชื่อมโยงทางระบาดวิทยา ซึ่งทางกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมีการตรวจสอบ เฝ้าระวังการนำเข้าสัตว์ป่าจากแอฟริกาอยู่แล้ว
“ขอย้ำว่า ผู้ที่เป็นผู้ป่วยสงสัย ไม่ว่าจะมีไข้ หรือมีผื่น ต้องมีประวัติเชื่อมโยงกับทางระบาดวิทยาภายใน 21 วันอย่างใดอย่างหนึ่งทั้ง 3 ข้อดังกล่าว นี่คือนิยามที่ใช้เฝ้าระวังฝีดาษาวานรตอนนี้” นพ.จักรรัฐ กล่าว
นพ.จักรรัฐ กล่าวอีกว่า แต่หากเป็นผู้ป่วยสงสัยแล้ว แต่มีประวัติใกล้ชิดมากกว่านั้น เช่น สัมผัสโดยตรงกับผิวหนังผู้ป่วย หรือสัมผัสสิ่งของที่อาจมีเชื้อปนเปื้อนของผู้ป่วย รวมทั้งเสื้อผ้าผู้ป่วย หรือสัมผัสร่วมบ้าน ที่อาศัยอยู่ในห้องเดียวกันกับผู้ป่วยหรือใช้ห้องน้ำหรืออุปกรณืในห้องน้ำร่วมกับผู้ป่วย หรือสัมผัสที่อยู่ภายในห้อง หรืออยู่ใกล้ ผู้ป่วยฝีดาษวานร ภายในระยะ 2 เมตรตั้งแต่ 5 นาทีขึ้นไป ถือว่าเข้าข่ายฝีดาษวานรเช่นกัน คือ ต้องมีประวัติอาการ 21 วัน บวกกับสัมผัสใกล้ชิดมากขึ้น แต่ทั้งผู้ป่วยสงสัย ผู้ป่วยเข้าข่าย หากมารักษาในสถานพยาบาลจะต้องผ่านกระบวนการตรวจคัดกรอง ตรวจหาเชื้อว่าเป็นผู้ป่วยยืนยันฝีดาษวานรหรือไม่ ซึ่งต้องมีผลตรวจทางห้องปฏิบัติการยืนยันด้วย กรณีสงสัยหรือเข้าข่ายอาจต้องพิจารณาแยกกัก 21 วัน หากไม่เจอก็อาจเป็นโรคอื่น แต่หากเป็นฝีดาษวานรก็รักษาอาการต่อไป
ทั้งนี้ ข้อมูลผู้ติดเชื้อโรคฝีดาษวาร ประจำวันที่ 29 พ.ค.2565 พบผู้ป่วยยืนยัน 406 ราย และผู้ป่วยสงสัย 88 ราย รวม 494 รายใน 32 ประเทศ ส่วนประเทศไทย ขณะนี้ยังไม่มีรายงานในประเทศ
นพ.จักรรัฐ กล่าวย้ำว่า ฝีดาษวานร ไม่ใช่โรคติดต่ออันตราย แต่เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง ไม่มีการกักตัวจนกว่าจะพบผู้ป่วย ซึ่งไทยมีการติดตามเฝ้าระวังโรคในสนามบิน โดยจะมีการแจกคิวอาร์โค้ดให้ดาวน์โหลด เพื่อให้สังเกตอาการ และหากมีให้รายงาน โดยรีบมารักษาตัวในสถานพยาบาล