‘ประยุทธ์’ พร้อมผู้นำอาเซียนหารือ ‘โจ ไบเดน’ ประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน-สหรัฐฯ เสริมสร้างภูมิภาคสงบสุข ผลักดันความร่วมมือเศรษฐกิจดิจิทัล ขณะที่ช่วงเช้าร่วมรับประทานอาหารกับคณะนักธุรกิจสหรัฐฯ ชักชวนการลงทุนในไทย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 13 พ.ค.2565 เวลา 09.00 น.ตามเวลาท้องถิ่นประเทศสหรัฐอเมริกา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ร่วมพบปะหารือระหว่างรับประทานอาหารเช้า (Breakfast Roundatable) กับคณะนักธุรกิจสหรัฐฯ จัดโดยสภาธุรกิจอาเซียน – สหรัฐฯ (U.S. – ASEAN Business Council : USABC) หอการค้าสหรัฐฯ (U.S. Chamber of Commerce: USCC) และ National Center for APEC (NCAPEC)
นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายกรัฐมนตรียินดีที่ได้เข้าร่วมการหารือดังกล่าว พร้อมกล่าวถึงพัฒนาการและนโยบายที่สำคัญเพื่อรับมือกับความท้าทายต่าง ๆ และหารือถึงโอกาสที่เราจะร่วมมือกันสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจที่มีภูมิต้านทาน ความสมดุล และความยั่งยืน โดยขณะนี้ ประเทศไทยอยู่ระหว่างช่วงเปลี่ยนผ่านสู่การอยู่ร่วมกับโควิด-19 อย่างปลอดภัย ซึ่งมุ่งมั่นที่จะดำเนินการไม่ให้โควิด-19 มาเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจและชีวิต อีกทั้งต้องเรียนรู้และถอดบทเรียนจากวิกฤตินี้ เพื่อเดินหน้าสร้างประเทศไทยที่มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน
โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำ 3 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ 1.เร่งสร้างความเข้มแข็งของห่วงโซ่อุปทานในระดับโลกและภูมิภาคเพื่อขับเคลื่อนความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ และจะร่วมมือกับภาคเอกชนสหรัฐในการเชื่อมโยงฐานการผลิตของทั้งสองฝ่ายเข้าด้วยกัน ซึ่งไทยพร้อมต้อนรับการลงทุน ทั้งในการขยายการลงทุนโดยเฉพาะในพื้นที่ EEC 2.การเสริมสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่สมดุล ยั่งยืน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมผ่านโมเดลเศรษฐกิจ BCG 3.เตรียมความพร้อมการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทย ไทยพร้อมร่วมมือกับทั้งภาครัฐและภาคเอกชนของสหรัฐฯ เพื่อขับเคลื่อนประเด็นที่ให้ความสำคัญ ภายใต้แนวคิด BCG ซึ่งอยู่ระหว่างการขับเคลื่อนการจัดทำเอกสารระดับผู้นำ Bangkok Goals on BCG Economy โดยจะวางรากฐานระยะยาวให้เอเปคร่วมมือกันจัดการกับวิกฤตภูมิอากาศ เพิ่มความพยายามเพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาด เสริมสร้างการค้าและการลงทุนที่ยั่งยืน และมุ่งสู่การใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนมากขึ้น
ทั้งนี้ บริษัทเอกชนสหรัฐฯ ที่ได้เข้าร่วมด้วยมีดังนี้ ประธานและ CEO สภาธุรกิจสหรัฐอเมริกา-อาเซียน (USABC), นาย Charles Freeman รองประธานอาวุโสด้านเอเชีย หอการค้าสหรัฐฯ (USCC), นาย Alex Parle รองประธานบริหาร National Center for APEC (NCAPEC), Chevron, ConocoPhillips, AirBnB, Marriott, Koch Industries, Lockheed Martin, Organon, PhRMA, Tyson Foods, Boeing, FedEx และ Tesla
ต่อมาเวลา 11.30 น.ตามเวลาท้องถิ่น พล.อ.ประยุทธ์ ร่วมกล่าวถ้อยแถลงในการหารือระหว่างอาหารกลางวัน (Working Lunch) ระหว่างผู้นำอาเซียนกับนางคามาลา เดวี แฮร์ริส (The Honorable Kamala Devi Harris) รองประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา ในประเด็นเกี่ยวกับความสัมพันธ์อาเซียน – สหรัฐอเมริกา
ซึ่งนายกรัฐมนตรี เน้นย้ำการร่วมมือกันอย่างแข็งขันเพื่อก้าวผ่านความท้าทายใหม่ในหลายประการ อาทิ การรับมือฟื้นฟูจากโควิด-19 และการส่งเสริมความมั่นคงด้านสาธารณสุขในระยะยาว เป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วน การพัฒนาทุนมนุษย์ จะช่วยสร้างความเข้มแข็งและภูมิคุ้มกันให้กับภูมิภาค รวมถึงความร่วมมือทางทะเลที่จะเป็นประโยชน์ต่ออาเซียน-สหรัฐฯ ซึ่งเชื่อมโยงกันด้วยมหาสมุทรแปซิฟิก การบริหารจัดการสถานการณ์ทางทะเลให้มีความมั่นคง ปลอดภัย และตั้งอยู่บนกฎกติกาจะทำให้ทุกฝ่ายสามารถใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทางทะเลได้อย่างยั่งยืน
และเวลา 13.30 น.ตามเวลาท้องถิ่น พล.อ.ประยุทธ์ ร่วมกล่าวถ้อยแถลงในการหารือระหว่างผู้นำอาเซียนกับนางคามาลา เดวี แฮร์ริส รองประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา และและผู้แทนระดับสูงสหรัฐฯ ได้แก่ นายจอห์น เคอร์รี (John Kerry) ผู้แทนพิเศษของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และผู้เกี่ยวข้อง เพื่อหารือเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด และโครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยืน พร้อมเน้นย้ำการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน สนับสนุนการสร้างอาเซียนสีเขียวอย่างยั่งยืนและสมดุล
จากนั้น เวลา 15.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น พล.อ.ประยุทธ์ เข้าร่วมการประชุมหารือระหว่างผู้นำอาเซียนกับนายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา และกล่าวถ้อยแถลงต่อที่ประชุม ดังนี้
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ขอบคุณประธานาธิบดีสหรัฐฯ สำหรับการต้อนรับอย่างอบอุ่นที่ทำเนียบขาวเมื่อคืนนี้ พร้อมกล่าวว่าการที่ผู้นำอาเซียนเดินทางมาสหรัฐฯ เพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอดฯ สมัยพิเศษ นับเป็นโอกาสในความสัมพันธ์อาเซียน-สหรัฐฯ ที่ดำเนินมายาวนานถึง 45 ปี จึงควรใช้โอกาสนี้เฉลิมฉลองวาระพิเศษและร่วมกันกำหนดทิศทางการดำเนินความสัมพันธ์ให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น ท่ามกลางสถานการณ์โลกที่เปราะบาง มีปัจจัยความท้าทายที่ซับซ้อนมากยิ่งขึ้น
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวด้วยว่า ที่ประชุมควรร่วมกันมองไปข้างหน้า และเดินหน้าไป สู่ความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์อย่างรอบด้าน พร้อมเสนอให้อาเซียนกับสหรัฐฯ มุ่งสร้างภูมิทัศน์ใหม่ให้ภูมิภาคและโลกใน 3 เรื่อง
1.ภูมิทัศน์ด้านความมั่นคงที่เอื้อต่อการฟื้นตัวและการเติบโตอย่างยั่งยืน ผู้เล่นสำคัญต่าง ๆ รวมถึงประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ ซึ่งเป็นมิตรประเทศและหุ้นส่วนที่สำคัญของอาเซียนมาอย่างยาวนาน จะทำงานร่วมกันเพื่อหาทางออกต่อความท้าทายที่เปราะบางและซับซ้อนได้อย่างเหมาะสมและสร้างสรรค์ให้แก่ประชาคมโลก โดยอาเซียนพร้อมจะมีบทบาทในฐานะเวทีหลักของภูมิภาคที่จะเชื่อมโยงผู้เล่นทุกคนเข้าด้วยกันเพื่อสร้างภูมิรัฐศาสตร์ที่สงบสุข
2.ภูมิทัศน์ด้านเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยดิจิทัลและห่วงโซ่อุปทานที่เข้มแข็ง ช่วงระบาดของโควิด-19 อาเซียนมีผู้บริโภคดิจิทัลรายใหม่เพิ่มขึ้นถึง 60 ล้านคน ซึ่งบ่งชี้ว่าอาเซียนจะเติบโตสู่การเป็นตลาดดิจิทัลที่สำคัญของโลกในอีกไม่ช้า ไทยสนับสนุนการขับเคลื่อนความร่วมมือระหว่างอาเซียน-สหรัฐฯ ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลในภูมิภาคผ่านกลไกของ USDFCมุ่งเน้นให้ทุกคนสามารถเข้าถึงและ ใช้ประโยชน์ได้ ตลอดจนร่วมกันเพิ่มขีดความสามารถด้านดิจิทัลให้แก่แรงงานและผู้ประกอบการ โดยเฉพาะกลุ่ม MSMEs และสตาร์ทอัพ เพื่อให้สามารถแข่งขันในเศรษฐกิจดิจิทัลได้
3.ภูมิทัศน์เพื่อการดำเนินการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีพลังมากขึ้น โดยไทยเห็นว่าทุกประเทศต้องร่วมกันขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมความมั่นคงของมนุษย์ ในส่วนของไทยใช้โมเดลเศรษฐกิจ BCG เป็นแนวทาง และผลักดันให้เป็นแนวคิดพื้นฐานในการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทยในปีนี้ ภายใต้หัวข้อหลัก OPEN CONNECT BALANCE ซึ่งสอดคล้องกับสหรัฐฯ ที่ให้ความสำคัญและสามารถสนับสนุนข้อริเริ่ม Build Back Better World ได้เป็นอย่างดี
พล.อ.ประยุทธ์ เชื่อว่า แนวทางที่ได้เสนอมาทั้งหมดนี้จะช่วยผลักดันให้ความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างอาเซียนกับสหรัฐฯ ก้าวไปสู่บทใหม่ และเป็นการพิสูจน์ว่าความร่วมมือของอาเซียนและสหรัฐฯ จะยังมีความสำคัญ และมีส่วนในการส่งเสริมสันติภาพ เสถียรภาพ และความเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาคต่อไป พร้อมยังยินดีที่จะให้การต้อนรับประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในการเข้าร่วมการประชุมผู้นาเขตเศรษฐกิจเอเปคที่กรุงเทพฯ ในช่วงปลายปีนี้
อนึ่ง ในการประชุมสุดยอดอาเซียน สหรัฐฯ สมัยพิเศษครั้งนี้ ผู้นำอาเซียนและสหรัฐฯ ได้รับรองแถลงการณ์วิสัยทัศน์ร่วม (Joint Vision Statement) แสดงเจตนารมณ์ร่วมกันขับเคลื่อนความสัมพันธ์ และส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกัน โดยเน้นย้ำความสำคัญของการทำงานร่วมกัน เพื่อมุ่งไปสู่ความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์แบบรอบด้านระหว่างอาเซียนกับสหรัฐฯ การเสริมสร้างสภาพแวดล้อมแห่งสันติภาพในภูมิภาค และ การสนับสนุนความเป็นแกนกลางของอาเซียน โดยมีแนวทางการดำเนินความร่วมมือที่สำคัญ ดังนี้
- การส่งเสริมความร่วมมือด้านสาธารณสุข ผ่านความร่วมมือต่าง ๆ
- การส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ เพื่อสนับสนุนการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่เท่าเทียม เข้มแข็ง และยั่งยืน
- การส่งเสริมความร่วมมือทางทะเล
- การพัฒนาทุนมนุษย์ ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและครอบคลุม
- การส่งเสริมการพัฒนาในอนุภูมิภาค
- การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและการส่งเสริมนวัตกรรม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้แก่ประเทศสมาชิกอาเซียน
- การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
- ความร่วมมือในประเด็นภูมิภาคและระหว่างประเทศ