แพร่ประกาศแก้ไขเพิ่มเติม ป.อาญา ฉบับที่ 29 ปรับเกณฑ์อายุเด็กจาก 10 ปีเป็น 12 ปี หากกระทำผิด ไม่ต้องรับโทษอาญา มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 8 พ.ค.2565 เป็นต้นไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 7 พ.ค.2565 ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 29) พ.ศ.2565 โดยมีสาระสำคัญเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 73 และ 74 แห่ง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 21) พ.ศ.2551 เพื่อแก้ไขช่วงอายุเด็กที่ไม่ต้องรับโทษอาญา โดยปรับเปลี่ยนจาก 10 ปี เป็น 12 ปี โดยให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาหรือวันที่ 8 พ.ค.2565 เป็นต้นไป
มาตรา 73 เด็กอายุยังไม่เกิน 12 ปี กระทำการอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิด เด็กนั้นไม่ต้องรับโทษ
มาตรา 74 เด็กอายุกว่า 12 ปีแต่ยังไม่เกิน 15 ปี กระทำการอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิด เด็กนั้นไม่ต้องรับโทษ แต่ให้ศาลมีอำนาจที่จะดำเนินการ ดังต่อไปนี้
1) ว่ากล่าวตักเตือนเด็กนั้นแล้วปล่อยตัวไป และถ้าศาลเห็นสมควรจะเรียกบิดา มารดา ผู้ปกครอง หรือบุคคลที่เด็กนั้นอาศัยอยู่มาตักเตือนด้วยก็ได้
2) ถ้าศาลเห็ฯว่าบิดา มารดา หรือผู้ปกครองสามารถดูแลเด็กนั้นได้ ศาลจะมีคำสั่งให้มอบตัวเด็กนั้นให้แก่บิดา มารดา หรือผู้ปกครองไป โดยวางข้อกำหนดให้ระวังเด็กไม่ให้เกิดก่อเหตุร้ายตลอดเวลาที่สาลกำหนด ซึ่งต้องไม่เกิน 3 ปี และกำหนดจำนวนเงินตามที่เห็นสมควรซึ่งบิดา มารดา หรือผู้ปกครองจะต้องชำระต่อศาลไม่เกินครั้งละ 10,000 บาทในเมื่อเด็กนั้นก่อเหตุร้ายขึ้น แต่ถ้าเด็กอาศัยอยู่กับบุคคลอื่น และศาลเห็นว่าไม่สมควรจะเรียกบิดา มารดา หรือผู้ปกครอง มาวางข้อกำหนดดังกล่าวข้างต้น ศาลจะเรียกตัวบุคคลที่เด็กนั้นอาศัยอยู่มาสอบถามว่าจะยอมรับข้อกำหนดทำนองที่บัญญัติไว้หรือไม่ก็ได้ ถ้ายอมรับ้ขอกำหนด ให้ศาลมีคำสั่งมอบตัวเด็กให้แก่บุคคลนั้นไปโดยวางข้อกำหนดดังกล่าว
3) ส่งตัวเด็กไปยังสถานศึกษา หรือสถานฝึกและอบรม หรือสถานแนะนำทางจิตหรือสถานที่ซึ่งจัดขึ้นเพื่อฝึกและอบรมเด็ก ตลอดระยะเวลาที๋สาลกำหนด แต่ไม่ให้เกินกว่าวันที่เด็กนั้นจะมีอายุครบ 18 ปี
ในกรณีที่ศาลมอบตัวเด็กตาม (2) ศาลจะกำหนดเงื่อนไขเพื่อควบคุมความประพฤติเด็กนั้นเช่นเดียวกับที่บัญญัติไว้ในมาตรา 56 ด้วยก็ได้ ในกรณีเช่นว่านี้ ให้ศาลแต่งตั้งพนักงานคุมประพฤติหรือพนักงานอื่นใดเพื่อคุมความประพฤติเด็กนั้น
ในกรณีที่เด็กนั้นไม่มีบิดา มารดา หรือผู้ปกครอง หรือมี่แต่ศาลเห็นว่าไม่สามารถดูแลเด็กนั้นได้ หรือในกรณีที่เด็กอาศัยอยู่กับบุคคลอื่นนอกจากบิดา มารดา หรือผู้ปกครอง และบุคคลนั้นไม่ยอมรับข้อกำหนดดังกล่าวใน (2) ศาลจะมีคำสั่งให้มอบตัวเด็กนั้นให้อยู่กับบุคคลหรือองค์การที่ศาลเห็นสมควร เพื่อดูแล อบรม และสั่งสอนตามระยะเวลาที่ศาลกำหนดก็ได้ ในเมื่อบุคคลหรือองค์การนั้นยินยอม ในกรณีเช่นว่านี้ ให้บุคคลหรือองค์การนั้นมีอำนาจเช่นผู้ปกครองเฉพาะเพื่อดูแล อบรม และสั่งสอน รวมตลอดถึงการกำหนดที่อยู่และการจัดให้เด็กมีงานทำตามสมควรหรือให้ดำเนินการคุ้มครองสวัสดิภาพเด็กตามกฎหมายว่าด้วยการนั้นได้
คำสั่งของศาลดังกล่าวใน (2) (3) วรรคสอง และวรรคสามนั้น ถ้าในขณะใดภายในระยะเวลาที่ศาลกำหนด ความปรากฎแก่ศาลโดยศาลรู้เองหรือตามคำเสนอของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย พนักงานอัยการ หรือบุคคลหรืององค์การที่ศาลมอบตัวเพื่อดูแล อบรม และสั่งสอน หรือเจ้าพนักงานว่าพฤติการณ์เกี่ยวกับคำสั่งนั้นได้เปลี่ยนแปลงไป ก็ให้ศาลมีอำนาจเปลี่ยนแปลงแก้ไขคำสั่งนั้นหรือมีคำสั่งใหม่ตามอำนาจในมาตรานี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 29) พ.ศ.2565 ระบุเหตุผลในการประกาศใช้กฎหมายฉบับนี้ด้วยว่า ปัจจุบันประมวลกฎหมายอาญากำหนดเกณฑ์อายุเด็กซึ่งไม่ต้องรับโทษไม้ได้กระทำการอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิดไว้ที่อายุยังไม่เกิน 10 ปี แต่จากข้อมูลทางการแพทย์พบว่าเด็กอายุ 12 ปีกับ 10 ปี ไม่มีความแตกต่างกันมากนัก โดยเป็นช่วงอายุที่พัฒนาการด้านความคิด สติ ปัญญา จริยธรรม และความรู้สึกผิดชอบชั่วดี ยังไม่เจริญเติบโตเต็มที่และยังไม่สามารถคาดการณ์ถึงผลที่อาจเกิดขึ้นจากการกระทำของตนได้อย่างดีพอ
อีกทั้งเด็กอายุไม่เกิน 12 ปี อยู่ในวัยการศึกษาระดับประถมศึกษา ยังไม่สมควรให้เข้าสู่กระบวนการดำเนินคดีอาญาซึ่งมีขั้นตอนการดำเนินการบางประการที่กระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของบุคคล และอาจทำให้เด็กเรียนรู้วิธีกระทำความผิดเพิ่มขึ้นจนนำไปสู่การกระทำความผิดซ้ำอีก
กรณีจึงสมควรใช้มาตรการตามกฎหมายว่าด้วยกาคุ้มครองเด็ก เพื่อให้การรสงเคราะห์และคุ้มครองสิทธิและสวัสดิภาพของเด็กอายุ 10 ปี แต่ไม่เกิน 12 ปีได้รับผลดียิ่งขึ้น โดยคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นสำคัญเพื่อให้เด็กกลับตัวเป็นคนดีและเป็นประชากรที่มีคุณภาพกลับคืนสู่สังคมได้ต่อไป