'หมอประสิทธิ์' เตือน โควิดยังไม่เข้าข่ายเป็น 'โรคประจำถิ่น' คุมไม่ดีมีโอกาสระบาดซ้ำ ย้ำฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นมากกว่า 50% ช่วยให้ผ่อนคลายมาตรการได้มากขึ้น
นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัย มหิดล วิเคราะห์สถานการณ์โควิดผ่านเฟซบุ๊ก Mahidol University ว่า ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก ระบุว่า การจัดแบ่งสายพันธุ์โควิดที่เกิดผลกระทบรุนแรงทั่วโลกเหลือเพียง 2 สายพันธุ์ คือ เดลต้า และ โอไมครอน และขณะนี้เดลต้ากำลังถูกทดแทนด้วยโอไมครอนเกือบทั้งหมด ทั้งนี้มีสายพันธุ์ย่อยที่ต้องจับตาดูคือ BA.1 – BA.5 รวมถึงสายพันธุ์ไขว้ XE ที่ยังถูกเฝ้าจับตาดูว่ามีแนวโน้มว่าจะกระจายเร็วกว่า BA.2 10% แต่ความรุนแรงของโรคไม่ได้รุนแรงขึ้น
นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 22 เม.ย.ที่ผ่านมา ทั่วโลกมีผู้ป่วยยืนยันมากกว่า 500 ล้านราย เสียชีวิตกว่า 6 ล้านราย อย่างไรก็ตามจำนวนการเสียชีวิตในช่วงสัปดาห์ก่อนหน้านี้มีสถิติต่ำที่สุดตั้งแต่มีการระบาดของโควิดเมื่อปี 2563 โดยเกิดจาก 2 ปัจจัยคือ สายพันธุ์ของโควิด และทั่วโลกมีการฉีดวัคซีนเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้การระบาดของโควิดทั่วโลกมีแนวโน้มเข้าสู่ช่วงขาลง
สำหรับประเทศไทย เรามาข้อมูลโดยเฉลี่ย 6-8 สัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้เสียชีวิต 1 ใน 3 ต่อวัน เป็นผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มที่ 2 เกิน 3 เดือนไปแล้ว และยังไม่ได้กลับมาฉีดเข็มกระตุ้น หากจะเอาตัวเลขวัคซีนเป็นตัวตั้งในการแก้ปัญหา เราอาจจะต้องตั้งเป้าฉีดวัคซีนเข็ม 3 ให้ได้ไม่น้อยกว่า 50% หากต้องการเข้าสู่โหมดของการผ่อนผันให้มากขึ้น
“มีรายงานการวิจัยทั้งในและต่างประเทศยืนยันว่าการฉีดวัคซีน 2 เข็มไม่เพียงพอสำหรับการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิดโอไมครอน แนะนำว่าเข็มที่ 3 ยังจำเป็น” นพ.ประสิทธิ์ กล่าว
นพ.ประสิทธิ์ กล่าวอีกว่า ข้อมูล ณ วันที่ 23 เม.ย.พบว่า ไทยฉีดวัคซีนแล้ว 132.56 ล้านโดส มีผู้ได้รับเข็ม 1 แล้ว 80.7% ได้รับเข็ม 2 แล้ว 73.2% และได้รับเข้ม 3 เพียง 36.6% เวลานี้ยังจำเป็นต้องเร่งฉีดวัคซีนกลุ่มเสี่ยง หากต้องการให้อัตราการเสียชีวิตเหลือเลขสองหลัก ก็ต้องเร่งฉีดวัคซีน
นอกจากนี้หนึ่งในข้อมูลที่ช่วยบอกเราว่าตัวเลขผู้เสียชีวิตจะลดลงหรือไม่ หนึ่งในนั้นคือตัวเลขผู้ป่วยปอดอักเสบที่ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ ที่พบว่าช่วง 3-4 วันที่ผ่านมาตัวเลขไม่เพิ่มขึ้น หวังว่าหากเป็นอย่างนี้ไปอีก 1-2 สัปดาห์ น่าจะเห็นอัตราการเสียชีวิตลดลง
สำหรับคำว่าโรคประจำถิ่น ไม่มีนิยามตายตัว แต่เป็นโรคที่พบได้สม่ำเสมอในกลุ่มคน กลุ่มพื้นที่ หรือช่วงเวลาที่คาดการณ์ได้ อาจมีการระบาดบ้างเป็นครั้งคราว แต่มักไม่เกินระดับที่คาดหมาย โดยทั่วไปเป็นโรคที่มีมาตรการหรือวิธีการวบคุม อย่างไรก็ตาม โรคประจำถิ่น ไม่ใช่โรคที่จะไม่มีการเสียชีวิต บางโรคยังมีอัตราการเสียชีวิตสูง เช่น มาเลเรีย หรือไข้ป่า ที่ยังทำให้คนเสียชีวิตปีละ 4 แสนราย
“เวลาการนี้โควิดยังไม่เข้าข่ายเป็นโรคประจำถิ่น ขณะเดียวกันยังมีโอกาสที่จะกลับมาเกิดแพร่ระบาดใหญ่ได้อีก แม้ว่าจะไม่มากนัก เพราะตลอด 2 ปีที่ผ่านมาเรารู้ว่า เมื่อไรที่มีการกระจายของเชื้อเยอะๆ พบผู้ติดเชื้อเยอะๆ ยังมีโอกาสที่เชื้อจะกลายพันธุ์ อย่างไรก็ตามโอกาสที่จะเจอสายพันธุ์ที่แพร่เร็วและรุนแรง ยังมีโอกาสน้อย แต่ผมยังอยากย้ำว่า เรายังไม่ได้เข้าสู่การเป็นโรคประจำถิ่น” นพ.ประสิทธิ์ กล่าว
นพ.ประสิทธิ์ กล่าวต่อด้วยว่า เราอยู่ในช่วงหัวเลี้ยงหัวต่อ ที่ต้องทำให้เศรษฐกิจเดินหน้าไปพร้อมกับสุขภาพของประชาชน รวมถึงไทยที่ยกเลิกมาตรการ 1 พ.ค.นี้ ซึ่งอาจเป็นปัจจัยเสี่ยงที่โควิดจะกลับมาแพร่ระบาด อย่างไรก็ตามเราต้องบริหารจัดการความเสี่ยที่เน้น 2 เรื่อง คือ ป้องกันและรักษา โดยวิธีป้องกันที่ดีที่สุดคือการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นคู่ขนานกับการใส่หน้ากากอนามัย ส่วนการรักษาโควิดสายพันธุ์ที่มีลักษณะแบบโอไมครอน เราไม่เน้นการรักษาในโรงพยาบาล โดยเฉพาะผู้ที่ไม่ใช่กลุ่มเสี่ยงต่อความรุนแรง ไม่มีอการ หรือมีอาการน้อย เพื่อให้ระบบการดูแลสุขภาพสามารถให้การดูแลผู้ป่วยโรคอื่นๆ
อย่างไรก็ตามช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา องค์การอนามัยโลก ออกมาเตือนอย่างเป็นทางการ ว่า โควิดยังไม่ได้เข้าสู่การเป็นโรคประจำถิ่น แม้จะมีแนวโน้มของโรคไปสู่เส้นทางดังกล่าว แต่ก็ยังไม่ใช่ และอาจจะเกิดการกลายพันธุ์ เกิดการระบาดอย่างมากมายได้อีก
ข้อมูลสถานการณ์ทั่วโลกบ่งชี้ว่า โลกน่าจะกำลังเข้าสู่ปลายทางการแพร่ระบาดของโควิด เกณฑ์กำหนดการเป็นโรคประจำถิ่นแต่ละประเทศจะไม่เหมือนกัน แต่ความสำเร็จจะต้องอาศัยความร่วมมือ 3 ฝ่าย คือ ฝ่ายกำหนดนโยบายที่ต้องทำอย่างรอบคอบ ฝ่ายที่ดำเนินการตามมาตรการ ทั้งเจ้าหน้าที่และผู้ประกอบการต้องทำด้วยความมุ่งมั่นและมีความรับผิดชอบ รวมถึงฝ่ายที่ได้รับผลจากมาตรการและนโยบาย ซึ่งคือสังคมประชาชนทั่วไปต้องให้ความร่วมมืออย่างมีวินัย
“ปัจจัยสำคัญช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ เรื่องแรกคือวัคซีน การฉีดเข็มกระตุ้นในเวลาที่เหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเสี่ยง ต้องขอร้องให้ผู้สูงอายุรีบมาฉีดวัคซีน ขณะนี้เรามีวัคซีนเพียงพอ กระบวนการฉีดก็รองรับได้ รวมถึงการเตรียมความพร้อมเรื่องคนและเตียง รวมถึงการมีส่วนร่วมกันของประชาชนที่ช่วยกันป้องกันการแพร่ระบาด และหมั่นตรวจ ATK เป็นครั้งคราวตามความจำเป็น” นพ.ประสิทธิ์
ขณะที่ข้อมูลสถานการณ์ทั่วโลกพบว่า หลายประเทศเริ่มฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นกันอย่างต่อเนื่อง โดยปรากฏข้อมูล ดังนี้
สหรัฐอเมริกา พบว่าตัวเลขป่วยลดลงจากเดิมเคยป่วยหลักแสนรายต่อวัน เสียชีวิตหลักพันต่อวัน ปัจจุบันอยู่ในช่วงขาลง และฉีดวัคซีนแล้ว 571.68 ล้านโดส มีผู้ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นแล้ว 29.7%
สหราชอาณาจักร ยังพบการติดเชื้อหลักหมื่นต่อวัน ตัวเลขเสียชีวิตยังเป็นเลขสามหลัก และฉีดวัคซีนแล้ว 141 ล้านโดส มีผู้ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นแล้ว 58.3%
เยอรมัน อัตราการเสียชีวิตยังไม่อยู่ในช่วงขาลงที่ชัดเจน แต่ก็ไม่ได้สูงมากกว่าช่วงก่อนหน้านี้ ปัจจุบันฉีดวัคซีนแล้ว 172.62 ล้านโดส มีผู้ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นแล้ว 59.2%
ฝรั่งเศส พยายามเปิดประเทศ โดยการยกเลิกมาตรการต่างๆ ไม่บังคับให้คนฉีดวัคซีน แต่เมื่อโอไมครอนเข้ามาก็เกิดปัญหาเหมือนเดิม อัตราการเสียชีวิตอาจจะยังไม่ลดลงต่อเนื่อง แต่ค่อนข้างคงที่ ปัจจุบันฉีดวัคซีนแล้ว 155.29 ล้านโดส มีผู้ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นแล้ว 57.0%
อิตาลี อัตราการเสียชีวิตจากโอไมครอนไม่ได้สูงกว่าสายพันธุ์อื่น ยังมีผู้ติดเชื้อหลักหมื่นถึงหลักแสนราย ปัจจุบันฉีดวัคซีน 136.54 ล้านโดส มีผู้ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นแล้ว 66.0%
ญี่ปุ่น มีผู้สูงอายุเยอะ ขณะนี้ตัวเลขผู้ป่วยเกินวันละห้าหมื่นคน อัตราการเสียชีวิตกำลังลดลง ดูแล้วค่อนข้างดี รัฐบาลกำลังเน้นเรื่องการฉีดวัคซีนวันละกว่าครึ่งล้านโดส รวมฉีดวัคซีนไปแล้ว 267.39 ล้านโดส มีผู้ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นแล้ว 50.2%
เกาหลีใต้ ก่อนหน้านี้ได้รับการยกย่องว่าควบคุมโควิดได้เป็นอย่างดีในปีแรก แต่หลังจากมีโอไมครอน สถานการณ์เปลี่ยนไป การติดเชื้อต่อวันเพิ่มอย่างมาก เคยป่วยสูงสุด 2-3 แสนรายต่อวัน เสียชีวิต 4-5 ร้อยรายต่อวัน ตอนนี้ตัวเลขลดลง ปัจจุบันฉีดวัคซีนแล้ว 122.61 ล้านโดส มีผู้ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นแล้ว 63.8%
เวียดนาม อัตราการติดเชื้อของโอไมครอนหลักหมื่นราย โดยเฉลี่ยถือว่าน้อยกว่าไทย อัตราการเสียชีวิตลดลงมาสวยงาม บางวันเหลือตัวเลขแค่หนึ่งหลัก ฉีดวัคซีนรวมแล้ว 208.22 ล้านโดส มีผู้ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นแล้ว 46.7%
มาเลเซีย มีสถานการณ์คู่ขนานกับไทยมาตลอด เผชิญโอไมครอนช่วงที่เดลต้ายังไม่สิ้นสุด แต่ปัจจุบัน มีผู้ติดเชื้อลดลง อัตราการเสียชีวิตลดลงอย่างมาก บางวันเหลือเลขหนึ่งหลัก ฉีดวัคซีนรวมแล้ว 69.87 ล้านโดส มีผู้ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นแล้ว 48.6%
สิงคโปร์ มีการตรวจหาเชื้อโควิดน้อยลง มีการติดเชื้อหลักพันรายต่อวัน อยู่ในช่วงขาลงชัดเจน โดยเฉพาะอัตราการเสียชีวิต 1-2 รายต่อวัน ฉีดวัคซีนรวมแล้ว 13.93 ล้านโดส มีผู้ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นแล้ว 69.4%
ออสเตรเลีย เคยเป็นประเทศอยู่ในอันดับต้นๆ ของการควบคุมโควิด เพราะมีการควบคุมอย่างรวดเร็วและเด็ดขาด กระทั่งเจอโอไมครอนทำให้เกิดการติดเชื้อเพิ่มขึ้น ปัจจุบันอยู่ในหลัก 4-5 หมื่นรายต่อวัน อัตราการเสียชีวิตเลขสองหลัก ยังไม่อยู่ในแนวโน้มที่จะลดลง ปัจจุบันฉีดวัคซีนแล้ว 57.37 ล้านโดส มีผู้ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นแล้ว 51.8%