สธ.เผยผู้ติดเชื้อลดลง แต่ผู้ป่วยอาการหนักเพิ่มขึ้น ส่วนสถานการณ์หลังสงกรานต์ต้องรอดู 2-4 สัปดาห์ รับเจอคลัสเตอร์หลังเทศกาลแล้ว วอนเข้ารับเข็มกระตุ้น ชี้ถ้าไม่มีสายพันธุ์ใหม่ คาดปรับสู่โรคประจำถิ่น 1 ก.ค.นี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 18 เม.ย. 2565 นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค แถลงข่าวสถานการณ์โควิด-19 ภายหลังเทศกาลสงกรานต์ ว่า สำหรับสถานการณ์โควิดทั่วโลกมีแนวโน้มลดลง ตัวอย่างเกาหลีใต้ที่ติดเชื้อใหม่ลดลงจากสัปดาห์ละ 2 เหลือ 1 ล้านราย ส่วนตัวเลขผู้ป่วยหนักและเสียชีวิตยังสูง เช่น สหรัฐอเมริกา เยอรมนี เกาหลีใต้ ไปจนถึงเวียดนาม ญี่ปุ่น โดยประเทศรอบบ้านเรา เช่น สิงคโปร์ มาเลเซียยังติดเชื้อวันละหมื่นรายด้วย
สำหรับประเทศไทย ข้อมูลสัปดาห์ที่ 15 ระหว่างวันที่ 9-16 เม.ย.65 ดูเหมือนสถานการณ์เริ่มลดลงหลังจากที่พีคไปก่อนสงกรานต์ ขณะที่การเสียชีวิตยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องสอดคล้องกับผู้ป่วยปอดอักเสบและผู้ที่ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ ซึ่งตัวเลขดังกล่าวสอดคล้องกับการติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นก่อนหน้านี้ ทั้งนี้ อัตราติดเชื้อเฉลี่ย 14 วันย้อนหลังอยู่ที่ 22,176 ราย สถานการณ์ติดเชื้อเริ่มลดลงทั้งจากการตรวจ RT-PCR และ ATK ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขยังคงการเตือนภัยสุขภาพในระดับที่ 4 ต่อไปอีกระยะจนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น
นพ.จักรรัฐ กล่าวว่า ข้อมูลผู้ป่วยปอดอักเสบวันนี้ 2,123 ราย เพิ่มขึ้นจากเมื่อวานนี้ 44 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 939 ราย เพิ่มมา 28 ราย เมื่อเทียบกับตอนเดลต้า ผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจ 1,400 ราย ปอดอักเสบ 5 พันกว่าราย โดยสถานการณ์ตอนนี้น้อยกว่าปีที่แล้ว อย่างไรก็ตาม อัตราการครองเตียงกลุ่มสีเหลือง สีแดงที่ปอดอักเสบขึ้นไปอยู่ที่ 30% จึงมีเตียงรองรับผู้ป่วยหนักพอสมควร และมีการเพิ่มจำนวนเตียงในแต่ละจังหวัดเพื่อรองรับหลังสงกรานต์
ทั้งนี้ ผู้เสียชีวิตวันนี้ 124 ราย มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เป็นผลสืบเนื่องมาจากการติดเชื้อมากช่วงก่อนสงกรานต์
“ต้องติดตามสถานการณ์หลังสงกรานต์ 2-4 สัปดาห์ จะมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นหรือไม่ หลังจากที่เรามีกิจกรรม รวมกลุ่มคน เดินทางทั่วประเทศ มีการเที่ยวงานสงกรานต์ แต่ต้องชื่นชมกิจกรรมที่รักษามาตการได้ สวมหน้ากากอนามัยครบถ้วน” นพ.จักรรัฐกล่าว
นพ.จักรรัฐ กล่าวว่า ข้อมูลการเสียชีวิตกรณีโควิด ยังมีการรายงานเพิ่มขึ้น วันนี้พบ 124 ราย ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ และมีโรคเรื้อรังประจำตัว ซึ่งเป็นกลุ่ม 607 โดยข้อมูลการรับวัคซีน พบว่า ไม่ได้รับเลย 55% รับเพียง 1 เข็ม 6% รับเพียง 2 เข็มนานเกิน 3 เดือน 27% รับ 2 เข็มยังไม่เกิน 3 เดือน 6% ในกลุ่มนี้รวมกันได้ถึง 94% และมีผู้ได้รับ 3 เข็ม เสียชีวิต 6%
อย่างไรก็ตาม โรคเรื้อรังร่วมที่พบมากยังเป็นโรคระบบทางเดินหายใจ โรคไต โรคหลอดเลือดและสมอง ซึ่งเป็นโรคที่มีการสร้างภูมิคุ้มกันไม่ค่อยดี หรือยังไม่ได้รับวัคซีนด้วย จึงจำเป็นต้องได้รับวัคซีนต่อแม้จะผ่านสงกรานต์แล้ว ทั้งนี้ สถานการณ์ฉีดวัคซีนโควิดของไทยในกลุ่ม 60 ปีขึ้นไป แบ่งเป็นเข็มที่ 1 84% เข็ม 2 79.6% และเข็มที่ 3 39.4% ขณะเดียวกันกลุ่มอายุ 5-11 ปี เข็มที่ 49.5% และเข็มที่ 2 4% ซึ่งจะต้องมีการรณรงค์ฉีดให้ครบถ้วน
นพ.จักรรัฐ กล่าวต่อว่า แนวโน้มสถานการณ์ของผู้ติดเชื้อที่รายงานในระบบของสถานพยาบาลการตรวจ RT-PCR และ ATK พบว่าเริ่มลดลง แต่ยังพบมากในกลุ่มวัยทำงานซึ่งส่วนใหญ่เริ่มมีการตรวจด้วย ATK ที่บ้าน จึงทำให้ตัวเลขยังไปถึงสถานพยาบาลไม่ครบทั้งหมด สำหรับตัวเลขผู้ป่วยปอดอักเสบที่มีขณะนี้เกิดจากการติดเชื้อมากในช่วงก่อนสงกรานต์ แต่ทั้งหมดเป็นไปตามการคาดการณ์ว่า ก่อนสงกรานต์จะมีการติดเชื้อมาก แต่หลังสงกรานต์หากป้องกัน ควบคุมได้ดีตัวเลขติดเชื้อน่าจะเริ่มลดลง และตัวเลขผู้ป่วยปอดอักเสบ เสียชีวิตก็จะมีผลตามมาในช่วง 2 สัปดาห์
“เพื่อไม่ให้เส้นกราฟติดเชื้อมากขึ้น จนแพร่ไปสู่กลุ่มเสี่ยงสูง หรือในกลุ่มที่ยังไม่ได้ติดเชื้อ จึงต้องมี 3 มาตรการหลัง คือ 1.สังเกตอาการ 7 วัน หากมีอาการให้ตรวจ ATK 2.ในช่วง 5-7 วันแรกเลี่ยงการพบปะผู้คนจำนวนมาก สวมหน้ากากตลอดเวลา ไม่รับประทานอาหารร่วมกัน และ 3.มาตรการทำงานจากที่บ้าน(Work From Home) โดยย้ำว่าแม้ ATK เป็นลบ ก็ขอให้สวมหน้ากาก ระวังตลอดเวลาอยู่” นพ.จักรัรฐกล่าว
เมื่อถามว่าหลังสงกรานต์จะพบการติดเชื้อถึงวันละ 1 แสนรายหรือไม่ นพ.จักรรัฐ กล่าวว่า หากดูจากการรายงานข่าวช่วงสงกรานต์ก็พบว่าหลายกิจกรรมปฏิบัติตามมาตรการ Covid Free setting และไม่สาดน้ำตามข้อแนะนำของ ศบค. แต่การรวมกลุ่มก็มีโอกาสเป็นคลัสเตอร์ได้ การจากติดตามเริ่มพบคลัสเตอร์บ้าง เช่น โรงงาน สถานประกอบการ แต่ยังเป็นขนาดเล็กอยู่
อย่างไรก็ตาม หากดูตามภาพฉากทัศน์ ในเส้นสีแดง ขณะนี้ตัวเลขการตรวจ RT-PCR และ ATK ยังรวมกันไม่ถึงแสน แต่ยังต้องติดตามอีก 2-4 สัปดาห์ ที่จะสอดคล้องกับตัวเลขปอดอักเสบและใส่ท่อหายใจ ที่จะสูงขึ้นในช่วงต้นเดือน พ.ค.
นพ.จักรรัฐ กล่าวอีกว่า ส่วนการเข้าสู่โรคประจำถิ่นเกณฑ์สำคัญคืออัตราการครองเตียง ระบบสาธารณสุขรองรับได้อย่างไร สำหรับโอมิครอนผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ไม่มีอาการ หรืออาการค่อนข้างน้อย ถ้าไม่มีสายพันธุ์ใหม่เข้ามา คนวัยทำงาน หรือคนวัยเรียน ติดเชื้ออาการไม่มาก จำนวนผู้ติดเชื้อจึงมีผลน้อยต่อการปรับเป็นโรคประจำถิ่น ถ้าเป็นไปตามการคาดการณ์ เราจะเข้าสู่โรคประจำถิ่นได้ตามที่คาดหมายเดิม คือวันที่ 1 ก.ค. 2565