‘หมอประสิทธิ์’ คาดตัวเลขผู้ป่วยโควิด หลังสงกรานต์อาจติดเชื้อสูงถึง 5 หมื่น - 1 แสนต่อวัน ห่วงหากเสียชีวิตพุ่งเกินวันละ 200 รายต่อวัน หวั่นระบบบริการสุขภาพรับไม่ไหว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 9 เม.ย. 2565 ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ให้สัมภาษณ์ถึงประเด็นจำนวนผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ที่วันนี้พุ่งสูงถึง 98 ราย ว่า ตัวเลขการเสียชีวิตจะเห็นตามหลังจากตัวเลขติดเชื้อที่เพิ่มสูงขึ้นมาโดยตลอด สอดคล้องกับตัวเลขปอดอักเสบและใส่ท่อช่วยหายใจที่เพิ่มขึ้นมาเดือนครึ่งแล้ว แต่ที่เน้นย้ำว่า ตัวเลขผู้เสียชีวิต 1 เดือนเต็ม พบว่า เป็นผู้ไม่ได้รับวัคซีนโควิดเลย 50-60% ผู้ฉีดเพียง 2 เข็มนานกว่า 3 เดือนอีก 30% และผู้ที่ฉีดเพียงเข็มเดียว 5-10% โดยทั้งหมดนี้รวมกันก็ 90% แล้ว
ฉะนั้น ผู้ที่เสียชีวิตขณะนี้เป็นคนที่ยังรับวัคซีนไม่ครบหรือไม่ได้รับเลย ซึ่งคำว่าครบในเวลานี้ คือ อย่างน้อย 3 เข็ม ขณะเดียวกัน ข้อมูลเสียชีวิตที่สำคัญคือ 85-90% เป็นผู้ที่อยู่ในกลุ่ม 608 เป็นสาเหตุที่เราขอให้ทุกคนเข้ารับวัคซีนตั้งแต่เดือน มี.ค. เพื่อรองรับการเดินทางในช่วงสงกรานต์นี้ เพราะยังมีผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปีอีกกว่าล้านคนยังไม่ได้รับวัคซีนเข็มแรก ฉะนั้น อย่าคิดว่าตนเองไม่ได้ออกไปเจอใคร แต่ไวรัสสามารถเข้ามาหาเราได้เช่นกัน โดยเฉพาะช่วงที่มีการพบปะลูกหลานในเทศกาล เราก็อยากให้ทุกคนอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ไม่ใช่กลับมาแล้วได้ข่าวว่าเกิดการติดเชื้อขึ้น
ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า สำหรับเป้าหมายที่เราจะทำให้โควิดเป็นโรคประจำท้องถิ่น โดยอัตราเสียชีวิตอยู่ที่ 0.1% ฉะนั้น การติดเชื้อ 20,000 ราย ก็จะมีตัวเลขเสียชีวิตราว 20 ราย ซึ่งขณะนี้ 98 ราย ก็ถือว่ายังสูงกว่าที่เราตั้งเป้าไว้ถึง 3-4 เท่า จึงเป็นความสำคัญที่เราต้องเร่งฉีดวัคซีนในกลุ่มเสี่ยง เพื่อลดอัตราความรุนแรงของโรคและการเสียชีวิตลง ทั้งนี้ มาตรการของวัคซีนต้องควบคู่กับมาตรการป้องกัน สวมหน้ากาก ล้างมือและเว้นระยะห่างต่อเนื่อง
“สำหรับหลังเทศกาลสงกรานต์ ผมคาดว่าเราจะเห็นตัวเลขติดเชื้ออยู่ที่ 50,000-100,000 รายต่อวัน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความร่วมมือของทุกฝ่าย ที่จะช่วยกันป้องกัน ให้ตัวเลขอยู่ในระดับใด แต่ที่สำคัญคือเราต้องดูแลเรื่องการเสียชีวิต ไม่ควรให้เกินวันละ 200 ราย เพื่อให้ระบบบริการสุขภาพตั้งรับได้ อย่างในบางจังหวัดพบว่าอัตราครองเตียงเกินครึ่งแล้ว ทั้งนี้ การติดเชื้อในกลุ่มที่ไม่มีความเสี่ยง เรามีตัวเลขชัดเจนว่า การฉีดวัคซีน 3 เข็มขึ้นไป ลดอัตราความรุนแรงได้ แต่หากกรณีฉีด 3 เข็มแต่มีโรคร่วมอื่น เช่น เบาหวาน ความดัน ยังต้องระวังเป็นพิเศษ” ศ.นพ.ประสิทธิ์กล่าว
ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวย้ำว่า ช่วงเทศกาลสงกรานต์ เลี่ยงการถอดหน้ากากอนามัย หากทุกคนในครอบครัวรับวัคซีนแล้ว ก็สามารถใช้ ATK ตรวจก่อนพบปะ รับประทานอาหารร่วมกัน หากทำให้ครบถ้วนก็จะลดความเสี่ยง โดยเฉพาะคนที่ตรวจพบเชื้อแล้ว ก็ให้งดพบปะคนอื่นแล้วใช้การพบหน้าทางไกลแทน
ข่าวจาก: ผู้จัดการออนไลน์