ปปง.ยึดอายัดทรัพย์ 65 รายการ 6.7 ล. ชาวแคนาเดียน –หญิงสาวสัญชาติไทย เจ้าของเว็บไซต์ ‘alpha bay’ ขายของผิดกฎหมาย ยาเสพติด อาวุธ ฟอกเงิน หลัง FBI – DEA สหรัฐ ประสานข้อมูลล่าตัว แฉเดินทางเข้าออกประเทศไทยหลายครั้งตั้งแต่ปี 2556 ได้เมียคนไทย ถูกจับศาลสั่งจำคุก 20 ปี สามีถูกส่งข้ามแดน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2565 สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) มีคำสั่งคณะกรรมการธุรกรรมที่ 79/2565 เรื่องยึดและอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไว้ชั่วคราวราย นายอเล็กซานเดอร์ แคส (Alexandre Cazes) และ น.ส.สุนิสา เทพสุวรรณ์ หรือ แคส กับพวก ซึ่งมีพฤติการณ์ แห่งการกระทําความผิด เกี่ยวกับยาเสพติดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดหรือกฎหมายว่าด้วยมาตรการ ในการปราบปรามผู้กระทําความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ทรัพย์สินที่ถูกยึดและอายัด อาทิ เงินสด เครื่องคอมพิวเตอร์ แลปทอป ฯลฯ รวมทั้งสิ้น 65 รายการ มูลค่าเบื้องต้น 6,715,111.44 บาท (ดูในเอกสาร) คำสั่งมีรายละเอียดดังนี้
ด้วยสํานักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (สํานักงาน ปปง.) ได้รับรายงาน จากกองบัญชาการตํารวจปราบปรามยาเสพติด ตามหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ ตช 0027.22/3045 ลงวันที่ 4 กรกฎาคม 2560 เรื่อง ประสานการสอบสวนคดีฟอกเงิน รายนายอเล็กซานเดอร์ แคส (Alexandre Cazes) และนางสาวสุนิสา เทพสุวรรณ์ หรือแคส กับพวก ซึ่งเป็นกรณีมีพฤติการณ์แห่งการกระทําความผิด เกี่ยวกับยาเสพติดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดหรือกฎหมายว่าด้วยมาตรการ ในการปราบปรามผู้กระทําความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด กล่าวคือ กองบัญชาการตํารวจปราบปรามยาเสพติด ได้รับการประสานข้อมูลการสืบสวนสอบสวนจากเจ้าหน้าที่สืบสวนสอบสวนสํานักงานสืบสวนสอบสวนกลาง (FBI) และสํานักงานปราบปรามยาเสพติด (DEA) เกี่ยวกับการจําหน่ายยาเสพติดและสิ่งของผิดกฎหมาย ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต หรือเว็บไซต์ “alpha bay” ซึ่งสํานักงานสืบสวนสอบสวนกลาง (FBI) และสํานักงานปราบปรามยาเสพติด (DEA) ได้ทําการสืบสวนและรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อดําเนินคดี พบว่า เว็บไซต์ “alpha bay” เป็นเว็บไซต์ที่เกี่ยวกับการจําหน่ายสินค้าผิดกฎหมายหลายชนิด เช่น ยาเสพติด อาวุธ ข้อมูลทางการเงินของบุคคลซึ่งถูกขโมยมา ตลอดจนการฟอกเงิน เว็บไซต์ดังกล่าวมีนายอเล็กซานเดอร์ แคส (Alexandre Cazes) สัญชาติแคนาดา หนังสือเดินทางเลขที่ HG 098007 (ข้อมูลการสืบสวนยังพบว่า นายอเล็กซานเดอร์ แคส (Alexandre Cazes) ถือหนังสือเดินทางในสัญชาติอื่นๆ อีก) เป็นผู้ก่อตั้งและเป็น ผู้นํากลุ่มองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ ในช่วงปี พ.ศ.2559 - พ.ศ. 2560 เว็บไซต์ “alpha bay” มีการ กระทําความผิดเกี่ยวกับการจําหน่ายยาเสพติด จํานวน 16 กระทง สํานักงานสืบสวนสอบสวนกลาง (FBI) และสํานักงานปราบปรามยาเสพติด (DEA) จึงขออนุมัติหมายจับนายอเล็กซานเดอร์ แคส (Alexandre Cazes) ต่อศาลเขตตะวันออกแห่งแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ตามคําร้องที่ 1;17 Cr - 00144 - jo - sko ในความผิดฐานลักลอบจําหน่ายสารควบคุม (ยาเสพติด) นอกจากนี้ยังมีการกล่าวหาว่าขโมยหลักฐาน ยืนยันตัวตน การซื้อขายข้อมูลทางการเงิน การโอนถ่ายเอกสารการยืนยันบุคคลปลอมและสมคบคิดฟอกเงิน และพบข้อมูลว่านายอเล็กซานเดอร์ แคส (Alexandre Cazes) เข้ามาพํานักอยู่ในประเทศไทย ตั้งแต่ พ.ศ. 2556 มีการเดินทางเข้าออกประเทศไทยหลายครั้ง และมีภรรยาเป็นคนสัญชาติไทย จึงมีการประสานงานเพื่อให้ ดําเนินการตามขั้นตอนการส่งผู้ร้ายข้ามแดน และขอความร่วมมือทางอาญาระหว่างประเทศ ทั้งนี้ ศาลอาญา ออกหมายจับที่ 224/2560 ลงวันที่ 3 กรกฎาคม 2560 ให้จับกุมนางสาวสุนิสา เทพสุวรรณ์ หรือแคส ในความผิดฐานฟอกเงิน ต่อมาศาลอาญามีคําพิพากษาว่านางสาวสุนิสา เทพสุวรรณ์ หรือแคส มีความผิด ฐานฟอกเงิน ลงโทษจําคุก 20 ปี ในคดีหมายเลขดําที่ ฟย. 25/2560 หมายเลขแดงที่ ฟย. 34/2561 ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ในคดีหมายเลขดําที่ 681/2562 หมายเลขแดงที่ 9674/2562 อันเข้าลักษณะ เป็นความผิดมูลฐานตามมาตรา 3 (1) แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 และกรณีมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่านายอเล็กซานเดอร์ แคส (Alexandre Cazes) และนางสาวสุนิสา เทพสุวรรณ์ หรือแคส กับพวก ได้ไปซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทําความผิดดังกล่าว
ในการนี้ เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปราม การฟอกเงิน ในการประชุมคณะกรรมการธุรกรรม ครั้งที่ 13/2560 เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2560 ที่ประชุมมีมติมอบหมายพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อดําเนินการตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปราม การฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ประกอบกับคําสั่งเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ที่ ม. 205/2560 ลงวันที่ 31 กรกฎาคม 2560 เรื่อง มอบหมายพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบธุรกรรม หรือทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทําความผิด รายนายอเล็กซานเดอร์ แคส (Alexandre Cazes) และนางสาวสุนิสา เทพสุวรรณ์ หรือแคส กับพวก และคําสั่งเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ลับ ที่ ม. 117/2563 ลงวันที่ 5 มีนาคม 2563 เรื่อง มอบหมายพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบธุรกรรม หรือทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทําความผิด (เพิ่มเติม) รายนายอเล็กซานเดอร์ แคส (Alexandre Cazes) และนางสาวสุนิสา เทพสุวรรณ์ หรือแคส กับพวก พนักงานเจ้าหน้าที่ได้ดําเนินการตรวจสอบรายงาน การทําธุรกรรมหรือข้อมูลเกี่ยวกับการทําธุรกรรมของบุคคลดังกล่าวแล้ว ปรากฏหลักฐานเป็นที่เชื่อได้ว่า นายอเล็กซานเดอร์ แคส (Alexandre Cazes) และนางสาวสุนิสา เทพสุวรรณ์ หรือแคส กับพวก มีพฤติการณ์ แห่งการกระทําอันเข้าลักษณะเป็นความผิดมูลฐานตามมาตรา 3 (1) แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปราม การฟอกเงิน พ.ศ. 2542 หรือเป็นผู้ซึ่งเกี่ยวข้องหรือเคยเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้กระทําความผิดมูลฐาน หรือความผิดฐานฟอกเงิน และจากการตรวจสอบข้อมูลการทําธุรกรรมหรือทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทํา ความผิดรวมทั้งจากการรวบรวมพยานหลักฐาน ปรากฏว่าบุคคลดังกล่าวได้ไปซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทํา ความผิด จํานวน 65 รายการ พร้อมดอกผล และเนื่องจากทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทําความผิดในคดีนี้ ประกอบด้วยสังหาริมทรัพย์ประเภทเงินสดอันเป็นทรัพย์สินที่มีสภาพคล่อง สามารถปกปิด ซ่อนเร้น หรือโอนเปลี่ยนมือได้โดยง่าย สังหาริมทรัพย์ประเภททองรูปพรรณ โทรศัพท์มือถือ นาฬิกา กล้องถ่ายรูป คอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์อื่น ๆ ที่ไม่ปรากฏหลักฐานในทางทะเบียน โดยเจ้าของหรือผู้ครอบครองสามารถ โอน จําหน่าย ยักย้าย ปกปิดหรือซ่อนเร้นได้โดยง่าย และสังหาริมทรัพย์ประเภทเงินในบัญชีเงินฝากธนาคาร สิทธิเรียกร้องตามสัญญาประกันชีวิต สลากออมสิน และหน่วยลงทุนในกองทุน อันเป็นทรัพย์สินที่สามารถ โอน ยักย้าย ปกปิด หรือซ่อนเร้นได้โดยง่าย หากมิได้มีการออกคําสั่งให้ยึดและอายัดทรัพย์สินดังกล่าว ไว้ชั่วคราว เมื่อเจ้าของหรือผู้มีส่วนได้เสียหรือผู้มีสิทธิในทรัพย์สินดําเนินการ โอน จําหน่าย ยักย้าย ปกปิด หรือซ่อนเร้นทรัพย์สินดังกล่าวไปเสีย และหากต่อมาศาลได้มีคําสั่งให้ทรัพย์สินดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดิน สํานักงาน ปปง. อาจไม่สามารถติดตามทรัพย์สินดังกล่าวกลับคืนมาได้ จึงเป็นกรณีที่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า นายอเล็กซานเดอร์ แคส (Alexandre Cazes) และนางสาวสุนิสา เทพสุวรรณ์ หรือแคส กับพวก ได้ไป ซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทําความผิดและอาจมีการโอน จําหน่าย ยักย้าย ปกปิด หรือซ่อนเร้นทรัพย์สิน ดังกล่าว นอกจากนี้ เนื่องจากปรากฏหลักฐานเป็นที่เชื่อได้ว่านายอเล็กซานเดอร์ แคส (Alexandre Cazes) และนางสาวสุนิสา เทพสุวรรณ์ หรือแคส กับพวก มีพฤติการณ์แห่งการกระทําความผิดฐานฟอกเงิน ตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 คณะกรรมการธุรกรรม ในการประชุม ครั้งที่ 3/2565 เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2565 จึงมีมติเห็นชอบให้เพิ่มความผิดฐานฟอกเงิน ในการดําเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สิน รายนายอเล็กซานเดอร์ แคส (Alexandre Cazes) และนางสาวสุนิสา เทพสุวรรณ์ หรือแคส กับพวก อีกด้วย
อาศัยอํานาจตามความในมาตรา 34(3) และมาตรา 48 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติป้องกัน และปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มติคณะกรรมการธุรกรรมในการประชุม ครั้งที่ 3/2565 เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2565 และระเบียบคณะกรรมการธุรกรรม ว่าด้วยการรับเรื่อง การตรวจสอบ การพิจารณาดําเนินการ และการควบคุมตรวจสอบการปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมาย ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2556 ข้อ 25 คณะกรรมการธุรกรรมจึงมีคําสั่งยึดและอายัด ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทําความผิดไว้ชั่วคราว จํานวน 65 รายการ พร้อมดอกผล กล่าวคือ มีคําสั่ง ให้ยึดทรัพย์สิน จํานวน 56 รายการ ได้แก่ รายการที่ 1 ถึงรายการที่ 56 และมีคําสั่งให้อายัดทรัพย์สิน จํานวน 9 รายการ ได้แก่ รายการที่ 57 ถึงรายการที่ 65 มีกําหนดไม่เกิน 90 วัน (เก้าสิบวัน) นับตั้งแต่วันที่ คณะกรรมการธุรกรรมมีมติ กล่าวคือ นับตั้งแต่วันที่ 8 มีนาคม 2565 ถึงวันที่ 5 มิถุนายน 2565 โดยมีรายการทรัพย์สินที่ยึดและอายัดปรากฏตามบัญชีทรัพย์สินแนบท้ายคําสั่งนี้
ทั้งนี้ ให้รวมถึงเงินหรือทรัพย์สินที่ได้มาจากการจําหน่าย จ่าย โอนด้วยประการใด ๆ ซึ่งทรัพย์สินดังกล่าวหรือสิทธิเรียกร้องหรือผลประโยชน์หรือดอกผลของเงินหรือทรัพย์สินดังกล่าวด้วยในกรณีผู้ซึ่งถูกยึดและอายัดทรัพย์สินตามคําสั่งนี้หรือผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์สินดังกล่าว ประสงค์จะขอให้มีการเพิกถอนคําสั่งยึดและอายัดทรัพย์สินดังกล่าวนั้น ให้ยื่นคําขอเป็นหนังสือต่อเลขาธิการ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินพร้อมด้วยหลักฐานที่เกี่ยวข้องที่แสดงว่าเงินหรือทรัพย์สิน ที่ถูกยึดและอายัดดังกล่าวนั้นมิใช่ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทําความผิดภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับ แจ้งคําสั่งเป็นหนังสือ
อนึ่ง การยักย้าย ทําให้เสียหาย ทําลาย ซ่อนเร้น เอาไปเสีย ทําให้สูญหาย หรือทําให้ ไร้ประโยชน์ซึ่งทรัพย์สินที่เจ้าพนักงานยึดหรืออายัดไว้หรือที่ตนรู้หรือควรรู้ว่าจะตกเป็นของแผ่นดิน อาจมีความผิดทางอาญาและต้องระวางโทษตามนัยมาตรา 65 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปราม การฟอกเงิน พ.ศ. 2542