ศบค.เผยสถานการณ์โควิด-19 ในไทยยังอยู่ช่วงขาขึ้น ย้ำต้องตายต่ำกว่า 80 ถึงจะเป็นโรคประจำถิ่น ทวนมาตรการ 1 เม.ย. ปรับพื้นที่สีส้ม ห้ามรวมตัวเกิน 500 คน-ไม่เปิดให้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านอาหาร พร้อมยกเลิกตรวจ RT-PCR ก่อนเข้าไทย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 31 มี.ค. 2565 พญ.สุมนี วัชรสินธุ์ ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ กรมควบคุมโรค ในฐานะผู้ช่วยรองโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 (ศบค.) กล่าวสรุปสถานการณ์โควิดประเทศไทยวันนี้ว่า จำนวนผู้ติดเชื้อ ผู้ป่วยปอดอักเสบ และผู้ป่วยใส่ท่อหายใจยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อย่างช้าๆ ส่วนผู้เสียชีวิตยังมีแนวโน้มเป็นไปตามที่คาดการณ์ ภาพรวมผู้ป่วยอาการปานกลางและอาการหนักยังเพิ่มขึ้น ต้องขอความร่วมมือให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ยังคงต้องรณรงค์ให้ผู้สูงอายุและกลุ่มเสี่ยงต่างๆ มาฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้น เพื่อทำให้สงกรานต์นี้มีการพบปะสังสรรค์กันอย่างปลอดภัย ไม่มีคลัสเตอร์โควิด-19 เพิ่มขึ้นมา
ส่วนอัตราครองเตียงรวม เพิ่มขึ้นจาก 1 ใน 4 ที่ 25% ประมาณ 1 ใน 3 เกือบ 30% ดังนั้น ยังเน้นมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 อยู่ห่าง-ล้างมือ และสวมหน้ากากอนามัย ตลอดเวลา ยังสามารถใช้ได้" แพทย์หญิงสุมนี กล่าว
“วันนี้ประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตเกิน 80 คน ต่อเนื่องแล้ว 2 วัน ขณะที่การจะเข้าสู่โรคประจำถิ่น ควรจะมีอัตราการเสียชีวิตไม่เกิน 80 คนต่อวัน” พญ.สุมนี กล่าว
พญ.สุมนี กล่าวถึงมาตรการ ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฉบับที่ 43 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 เม.ย.นี้ ว่า กรณีการปรับพื้นที่สีทั่วประเทศตามสถานการณ์ จากเดิม 23 ก.พ. 65 จากเดิม พื้นที่ควบคุมปรับลดลงจาก 44 จังหวัด เหลือ 20 จังหวัด สำหรับพื้นที่เฝ้าระวังสูง สีเหลือง ปรับเพิ่มขึ้นจาก 25 เป็น 47 จังหวัดพื้นที่นำร่องท่องเที่ยวสีฟ้าจาก 8 เป็น 10 จังหวัด
นอกจากนี้ มาตรการที่สำคัญในการปรับพื้นที่ 2 เรื่อง คือ พื้นที่สีส้ม จำกัดไม่ให้รวมกลุ่มไม่เกิน 500 คน ส่วนพื้นที่สีเหลือง จำกัดรวมกลุ่มไม่เกิน 1,000 คน และพื้นที่สีส้ม ยังไม่อนุญาต ให้ดื่มสุราที่ร้านอาหารได้ แต่ให้ซื้อกลับไปบ้านได้ ส่วนพื้นที่สีเหลือง สามารถดื่มสุราแอลกอฮอล์ ที่ร้านอาหารได้ แต่ไม่เกิน เวลา 5 ทุ่ม
ส่วนมาตรการเข้าราชอาณาจักร มีมีการยกเลิกการตรวจ RT-PCR 72 ชั่วโมงก่อนเดินทางเข้าไทย ของนักเดินทางทั้ง 3 กลุ่ม ไม่ว่าจะเป็น เทสต์ แอนด์ โก (Test and Go), แซนด์บ็อกซ์ (Sandbox) หรือ แบบกักตัว (Quarantine)
โดยระบบเทสต์ แอนด์ โก ยังคงการตรวจ RT-PCR ในวันแรกเมื่อมาถึงไทย และติดตามการคัดกรองด้วยตัวเอง (Self-ATK) อีกครั้งในวันที่ 5, สำหรับนักเดินทางที่เข้ามาแบบกักตัว ยังคงต้องตรวจ RT-PCR ในวันแรก และติดตามด้วย RT-PCR ในวันที่ 4-5 ก่อนออกจากสถานที่กักตัว นอกจากนี้ นักเดินทางที่มาในรูปแบบแซนด์บ็อกซ์ หรือแบบกักตัว ก็ได้มีการลดวันที่อยู่ในพื้นที่ลง เหลือ 5 วัน จากเดิมที่ต้องอยู่ 7 วัน
สาระสำคัญของ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฉบับที่ 43 คือ การจัดงานสงกรานต์ในปีนี้ ห้ามจัดงานในที่สาธารณะ เช่น ถนน ที่หน้าบ้าน ห้าม ประแป้ง หรือ เล่นปาร์ตี้โฟม สำหรับพื้นที่กำหนดให้สามารถจัดงานได้ตามประเพณี ให้ทำตามมาตรการ ตามคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดพิจารณาอนุญาต แต่ห้ามประแป้ง เล่นปาร์ตี้โฟม ห้ามจำหน่ายสุรา ในพื้นที่จัดงาน ส่วนพื้นที่หมู่บ้านต้องอนุญาตจากองค์การปกครองท้องถิ่นก่อน