สธ.เผยโควิดใน กทม.ยังน่าห่วง พบระบาดต่อเนื่อง-เสียชีวิต 8-12 รายต่อวัน เผยผู้ป่วยสีเขียวครองเตียง รพ. 40% ยันอาการน้อยอยู่บ้าน ไม่ต้องใช้ฟาวิฯ หวั่นดื้อยา จับตาหารือด่วนเคาะมาตรการจัดสงกรานต์ 29 มี.ค.นี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 28 มี.ค. 2565 นพ.สุทัศน์ โชตนะพันธ์ ผู้อำนวยการสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง กรมควบคุมโรค แถลงสถานการณ์โควิด 19 และหน่วยฉีดวัคซีนเพื่อกลุ่ม 608 ใน กทม. ว่า สถานการณ์โรคโควิด-19 พื้นที่ กทม. ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ยังพบการระบาดอย่างต่อเนื่อง ปัจจัยเสี่ยงเกิดจากการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยยืนยัน การเดินทางหรือปฏิบัติงานในพื้นที่เสี่ยง/แหล่งชุมชน การทำกิจกรรมร่วมกัน โดยเฉพาะการรับประทานอาหารหรือสังสรรค์ มีรายงานผู้เสียชีวิตวันละ 8-12 ราย
“สำหรับสถานการณ์โรคโควิด-19 ในกรุงเทพฯ ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ไม่มีอาการ จัดอยู่ในกลุ่มสีเขียว กลุ่มที่เป็นสีเหลือง และมีแดง มีน้อยมากๆ โดยอัตราการครองเตียงปัจจุบัน 30-40% เป็นสีเขียว อย่างไรก็ตาม ต้องเน้นย้ำว่าผู้ติดเชื้อที่อาการน้อยสามารถรักษาตามอาการได้ พักอยู่ที่บ้านหรือชุมชน (Home and Community Isolation) ได้ บางรายไม่จำเป็นต้องใช้ยาต้านไวรัส เช่น ยาฟาวิพิราเวียร์ ก็สามารถหายได้เอง ซึ่งต้องย้ำในเรื่องข้อระวังในการใช้ยาในผู้ที่อาการน้อย ก็อาจจะเกิดภาวะดื้อยาได้” นพ.สุทัศน์ กล่าว
นพ.สุทัศน์ กล่าวด้วยว่า อย่างไรก็ตาม เมื่อดูประวัติการได้รับวัคซีนของผู้เสียชีวิต จากการติดเชื้อระลอกที่ 5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. - 27 มี.ค. 2565 ผู้เสียชีวิตรวม 445 ราย กระจายในทุกเขต โดยในจำนวนนี้ 64.9% ไม่ได้รับวัคซีน โดยสาเหตุที่ไม่รับวัคซีน ส่วนใหญ่ 53% คือญาติปฏิเสธ เนื่องจากผู้ป่วยมีโรคประจำตัว อีก 31% ไม่ประสงค์รับวัคซีน และ 16% ไม่สะดวกรับเพราะติดบ้าน-ติดเตียง
ทั้งนี้ แม้พื้นที่กรุงเทพฯจะบริการเข็มที่ 1 และเข็มที่ 2 ได้เกิน 100% แล้ว แต่ยังมีปัญหาเรื่องเข็มกระตุ้น (บูสเตอร์ โดส) เข็มที่ 3 บริการไปเพียง 61.98% และเข็มที่ 4 บริการไปเพียง 9.23% จึงต้องเร่งทำความเข้าใจให้กลุ่มผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัวมารับเข็มกระตุ้นหากครบกำหนด
สำหรับการฉีดวัคซีนในพื้นที่ กทม. กรมควบคุมโรค ร่วมกับ กทม.และหน่วยงานต่างๆ จัดบริการ 3 กิจกรรมหลัก คือ
-
การจัดหน่วยเชิงรุกฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้แก่แรงงานต่างด้าวใน กทม. โดยจัดรถสนับสนุนการฉีดวัคซีนออกให้บริการในพื้นที่ต่างๆ สามารถขอเข้ารับบริการได้ทันที
-
จัดศูนย์ฉีดวัคซีนนอกสถานพยาบาลสำหรับประชาชนทั่วไป 6 ศูนย์ คือ ธัญญาพาร์ค, เซ็นทรัลพระราม 3, เซ็นทรัลปิ่นเกล้า, เซ็นทรัลอีสวิลล์, โรบินสันลาดกระบัง และอาคารกีฬาเวสน์ 1 ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร รับบริการได้ทั้งการลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชัน QueQ หรือวอล์กอิน กรณีเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี ได้จัดวัคซีนสำหรับเด็กไว้ให้บริการเฉพาะที่ศูนย์ฉีดอาคารกีฬาเวสน์
-
การจัดหน่วยเคลื่อนที่เร็วบริการฉีดวัคซีน สำหรับผู้สูงอายุหรือกลุ่มโรคประจำตัวติดบ้านติดเตียง ซึ่งศูนย์บริการสาธารณสุขของ กทม. จะประสานแต่ละชุมชนเพื่อออกให้บริการ
ส่วนมาตรการสงกรานต์ในพื้นที่ กทม. นพ.สุทัศน์กล่าวว่า คณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร จะมีการประชุมในวันที่ 29 มี.ค.นี้ เบื้องต้นสามารถจัดกิจกรรมสงกรานต์ได้ แต่งดการสาดน้ำ ประแป้ง ส่วนมาตรการเรื่องอื่นๆ ขอให้รอผลการหารือในที่ประชุมก่อน
“มาตรการยังไม่สะเด็ดน้ำ แต่แนวโน้มก็จะผ่อนคลายมากขึ้น แต่ยังห้ามเล่นน้ำอยู่ ขณะที่การดื่มแอลกอฮอล์ยังไม่ได้หารือกัน แต่แนวโน้มน่าจะผ่อนคลายมากขึ้น ทั้งนี้ การอยู่รวมกลุ่ม ดื่มแอลกอฮอล์ถือเป็นความเสี่ยง ขณะนี้มีหลายความคิดเห็น ทั้งที่อยากให้ดื่ม ไม่อยากให้ดื่ม แต่คาดว่า สุดท้ายออกมาจะให้บริโภคได้ในสถานบริการที่ได้รับรองจาก SHA+ รวมถึงมีการกำหนดเวลา แต่การรวมกลุ่มตั้งวง อาจจะไม่แนะนำ” นพ.สุทัศน์ กล่าว