กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เผยโอไมครอนครองไทยเกือบ 100% แยกเป็นสายพันธุ์ย่อย BA.2 ราว 68% ส่วน BA.2.2 ไทยพบเข้าข่ายคล้ายฮ่องกง 4 ราย เป็นต่างชาติ 1 ราย คนไทย 3 ราย ชี้ยังเร็วเกินไปที่จะสรุปว่ารุนแรง-เสียชีวิตพุ่ง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 14 มี.ค. 2565 นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ รายงานการจำแนกตามสายพันธุ์ที่เฝ้าระวังและการกลายพันธุ์ของเชื้อโควิด-19 ว่า จาการเฝ้าระวังการระบาดของโควิดพบว่า ขณะนี้ประเทศไทยได้ถอดรหัสพันธุกรรมทั้งตัว (Whole Genome Sequencing) โดยสัปดาห์ที่ผ่านมาตรวจไป 2,000 กว่าตัวอย่าง พบว่า เป็นสายพันธุ์โอไมครอน 99.7% ที่เหลือเป็นสายพันธุ์เดลต้าบางส่วน
เมื่อแยกย่อยระหว่างวันที่ 5-11 มี.ค.2565 จำนวน 1,882 ตัวอย่าง พบว่าเป็น BA.2 เป็น 67.6% และ BA.1 สัดส่วน 32.4% ซึ่งขณะนี้ทุกเขตสุขภาพทั้ง 13 เขตสุขภาพทั่วประเทศ
โดยพบสายพันธุ์ BA.2 ในทั้ง 12 เขตสุขภาพทั่วประเทศในสัดส่วนเกิน 50% ยกเว้นเขตสุขภาพที่1 (ภาคเหนือตอนบน) และ 11 (ภาคใต้ตอนบน) ที่สัดส่วนยังไม่ถึงครึ่ง ส่วนสายพันธุ์ย่อย BA.3 ยังไม่พบในประเทศไทย
“สำหรับข่าวที่ฮ่องกงพบติดเชื้อสูง เสียชีวิตสูงนั้น และเมื่อมีการตรวจสายพันธุ์มองว่าอาจมาจากการกลายพันธุ์ BA.2 และเรียกว่า BA.2.2 แต่ในฐานข้อมูล GISAID ยังไม่ได้กำหนดชื่อ และยังไม่พบข้อมูลรุนแรง ซึ่งต้องรอเวลาอีก 2-3 วัน เบื้องต้นตอนนี้เจอในฮ่องกอง และอังกฤษ แต่โดยหลักการการที่ผู้เสียชีวิตจำนวนมากขึ้นยังสรุปไม่ได้ว่า มาจากสายพันธุ์ใหม่ที่พบ เนื่องจากโอไมครอนใน BA.2 ทั่วไปก็ติดเร็วอยู่แล้ว และหากติดเร็วมากและระบบการแพทย์รองรับไม่ได้ ก็อาจทำให้การเสียชีวิตเพิ่มขึ้น จึงยังเร็วไปที่จะบอกว่า BA.2.2 ทำให้ผู้ป่วยรุนแรงขึ้น” นพ.ศุภกิจ กล่าว
ขณะที่ นพ.บัลลังก์ อุปพงษ์ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ฮ่องกงมีประชากรราว 7.6 ล้านคน สัปดาห์ที่ผ่านมาติดเชื้อ 2.5 แสนคน สูงกว่าเดิมที่เคยติดเชื้อ 5 หมื่นคน และในรอบ 7 วัน มีผู้เสียชีวิต 1,900 คน ซึ่งผิดปกติจากทุกประเทศที่เผชิญสถานการณ์ระบาดของโอไมครอน ซึ่งทุกประเทศไม่ได้มีความแตกต่างจากเดิมยกเว้นฮ่องกง ดังนั้น ต้องติดตามข้อมูลต่อไป รวมถึงรายละเอียดว่าเป็นผู้สูงอายุหรือไม่ และมีประวัติการฉีดวัคซีนอย่างไร
สำหรับข้อมูลประเทศไทยที่ส่งข้อมูลไปที่ GISAID นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า สอดคล้องว่าเป็น BA.2 ส่วนใหญ่ โดยพบประมาณ 4 รายที่กำลังวิเคราะห์รายละเอียดว่า อาจเข้าข่ายหรือมีโอกาสเป็น BA.2.2 แต่ด้วย GISAID ยังไม่ได้กำหนดรายละเอียด จึงต้องมีการติดตามใกล้ชิด
ทั้งนี้ ยังไม่ต้องวิตกกังวล เพราะยังไม่มีสัญญาณอะไรน่ากังวล สิ่งสำคัญต้องเฝ้าระวังเพื่อตอบคำถาม 3 ข้อว่า แพร่เร็วกว่าหรือไม่ รุนแรงมากขึ้นทำให้เสียชีวิตมากขึ้นหรือไม่ และหลบภูมิคุ้มกันหรือไม่ ตรงนี้ต้องใช้ข้อมูลมากกว่านี้ หากการกลายพันธุ์ไม่ได้กระทบ 3 ส่วนนี้ก็อาจเป็นการกลายพันธุ์ทั่วไป ขอให้มั่นใจว่ากรมวิทย์เฝ้าระวังตลอดเวลา
“ส่วนที่ไทยกำลังวิเคราะห์ว่า ใกล้เคียง BA.2.2 มี 4 รายนั้น เป็นต่างชาติ 1 ราย ที่เหลือเป็นคนไทย 3 ราย อาการไม่มีปัญหาอะไร และยังไม่ชัดว่าจะใช่หรือไม่ ขอรอผลวิเคราะห์เร็วๆนี้ ซึ่งตำแหน่งที่พบกลายพันธุ์ เป็นตำแหน่งสไปค์โปรตีน I1221T (S:I 1221T) คาดว่า 2-3 วันนี้จะทราบผลทั้งหมด ” นพ.ศุภกิจ กล่าว
ด้าน นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ โฆษกกระทรวงสาธารณสุข และหัวหน้าที่ปรึกษาระดับกระทรวง กล่าวถึงประเด็นการเข้าสู่ระบบการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ว่า จากการให้บริการักษาแบบผู้ป่วยนอก หรือ OPD เจอ แจก จบ ตั้งแต่ต้นเดือน มี.ค.พบพื้นที่ส่วนใหญ่ใน 76 จังหวัดที่ สธ.ดูแลผลประเมินอยู่ในระดับดีถึงดีมาก มีบริการที่ครอบคลุมมากขึ้น ในส่วนของกทม.มีการให้บริการทั้งโรงพยาบาลสังกัดกรมการแพทย์ กทม. เอกชน คลินิกต่างๆ ภาพรวมระบบ OPD ซึ่งเป็นบริการเสริมมีส่วนช่วยประชาขนผู้ติดเชื้อได้เป็นอย่างดี
ในขณะนี้ระบบ HI ก็ยังมีอยู่ อย่างไรก็ตามการให้บริการโทรสายด่วน 1330 ก่อนหน้ามีการโทรใช้บริการจำนวนมากจากเดิมที่มีสูงถึง 9 หมื่นรายต่อวัน มีผู้ป่วยรอสายคงค้างจำนวนมาก แต่หลังเปิด OPD เจอ แจก จบ ทำให้มีผู้โทรใช้บริการเหลือ 4-5 หมื่นราวต่อวัน ในจำนวนนี้กว่า 3 หมื่นรายสามารถดูแลเข้าระบบได้