ครม.เห็นชอบร่างพ.ร.ฎ.-กฎกระทรวง รวม 3 ฉบับ ยกเว้น ‘ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา-ภาษีมูลค่าเพิ่ม’ กรณีซื้อขาย-โอน ‘สินทรัพย์ดิจิทัล’
............................
เมื่อวันที่ 8 มี.ค. นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติหลักการร่าง พ.ร.ฎ.ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... รวม 2 ฉบับ และร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ....) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร และส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาเป็นเรื่องด่วน แล้วดำเนินการต่อไปได้
สำหรับ ร่าง พ.ร.ฎ.และร่างกฎกระทรวง รวม 3 ฉบับ ดังกล่าว เป็นมาตรการเพื่อบรรเทาภาระภาษีให้กับประชาชนในการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล โดยเป็นการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับการโอนคริปโทเคอร์เรนซีหรือโทเคนดิจิทัลในศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล และการโอนสกุลเงินดิจิทัลที่ออก โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ตามโครงการพัฒนาและทดสอบการใช้งานสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย สำหรับการใช้งานภาคประชาชน ตั้งแต่วันที่ 1 ของเดือนถัดจากเดือนที่ ครม.มีมติเห็นชอบการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2566
รวมถึงยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับผลประโยชน์ที่ได้รับจากการโอนคริปโทเคอร์เรนซีหรือโทเคนดิจิทัล เฉพาะซึ่งตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าที่ลงทุน เป็นจำนวนเท่ากับผลขาดทุนจากการโอนคริปโทเคอร์เรนซีหรือโทเคนดิจิทัลที่เกิดขึ้นในปีภาษีเดียวกัน (โดยคำนวณจากกำไรแล้วลบด้วยขาดทุนเหลือจำนวนเงินเท่าใดจึงนำไปคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ทั้งนี้ การคำนวณภาษีดังกล่าวจะทำให้เม็ดเงินภาษีที่ต้องจ่ายลดลง) ตั้งแต่วันที่ 14 พ.ค.2561 เป็นต้นไป
กระทรวงการคลังได้รายงานประมาณการการสูญเสียรายได้และประโยชน์ที่จะได้รับตามมาตรา 27 และมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 แล้ว โดยพบว่า หากไม่มีการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม จะสามารถจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มได้จำนวนหนึ่ง แต่ไม่อาจประมาณการได้ เนื่องจากขึ้นอยู่กับรายรับของผู้ขายและรายรับของผู้แลกเปลี่ยนแต่ละรายว่าถึงเกณฑ์ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่และขึ้นอยู่กับมูลค่าและปริมาณการใช้สกุลเงินดิจิทัลซึ่งมีความผันผวนมาก
ส่วนการอนุญาตให้หักผลขาดทุนจากการขายสินทรัพย์ดิจิทัลในศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล ออกจากกำไรจากการขายสินทรัพย์ดิจิทัลในศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล จะทำให้สูญเสียรายได้ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจำนวนหนึ่ง แต่ไม่อาจประมาณการได้ เนื่องจากกำไรขาดทุนของผู้ขายแต่ละรายมีความไม่แน่นอน
ขณะที่การยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับการขายสินทรัพย์ดิจิทัลในศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล และการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับการแลกเปลี่ยนตามโครงการพัฒนาและทดสอบการใช้งานสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดย ธปท. จะทำให้ผู้ลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลได้รับความสะดวกในการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายภาษีและได้รับความเป็นธรรมในการเสียภาษีมากขึ้น และทำให้ประชาชนมีทางเลือกในการใช้เงินดิจิทัลในอนาคตที่มีความน่าเชื่อถือและความปลอดภัย
สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกาและร่างกฎกระทรวง มีดังนี้
1.ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... รวม 2 ฉบับ มีสาระสำคัญเป็นการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการโอนคริปโทเคอร์เรนซีหรือโทเคนดิจิทัลในศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลที่ได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการโอนสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดย ธปท. ตามโครงการพัฒนาและทดสอบการใช้งานสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดย ธปท. สำหรับการใช้งานภาคประชาชน ตั้งแต่วันที่ 1 ของเดือนถัดจากเดือนที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2566
2.ร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ....) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร มีสาระสำคัญเป็นการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับผลประโยชน์ที่ได้รับจากการโอนคริปโทเคอร์เรนซีหรือโทเคนดิจิทัลเฉพาะซึ่งตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าที่ลงทุน เป็นจำนวนเท่ากับผลขาดทุนจากการโอนคริปโทเคอร์เรนซีหรือโทเคนดิจิทัลที่เกิดขึ้นในปีภาษีเดียวกัน ทั้งนี้ เฉพาะผลประโยชน์และผลขาดทุนจากการโอนคริปโทเคอร์เรนซีหรือโทเคนดิจิทัลในศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลที่ได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ตั้งแต่วันที่ 14 พ.ค.2561 เป็นต้นไป ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด
นายธนกร กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ได้เคยมีข้อสั่งการให้กระทรวงการคลังหารือกับ ธปท. และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.) ในกำหนดนโยบายเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลให้ชัดเจน กำหนดมาตรการที่เกี่ยวข้องให้ครอบคลุมทุกสินทรัพย์ดิจิทัลในระหว่างการแก้ พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ ยังไม่แล้วเสร็จและกำหนดกระบวนการทบทวนมาตรการกำกับดูแลให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล
“มาตรการภาษีดังกล่าวเป็นการปรับปรุงกฎหมายเพื่อให้สอดรับกับการพัฒนาสินทรัพย์ดิจิทัลในปัจจุบันและที่จะมีขึ้นในอนาคต เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษี เนื่องจากมูลค่าการซื้อขายสินทรัพย์ดังกล่าวมีความผันผวนตลอดเวลา รวมทั้งเป็นมาตรการเพื่อบรรเทาภาระภาษีให้กับประชาชนในการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล โดยรัฐบาลมุ่งสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้ลงทุนและผู้ประกอบการในตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล สนับสนุนอุตสาหกรรมการเงินยุคใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม (ฟินเทค) รวมทั้งกระตุ้นให้เกิดการลงทุนและสร้างนวัตกรรมใหม่ให้กับประเทศ” นายธนกรระบุ