ศาลปกครอง แถลงผลงานครบรอบ 21 ปี ยกการดำเนินการสำคัญ 3 ด้าน ปิดคดีแล้วกว่า 85.15% เผยยื่นฟ้องออนไลน์ ประเดิม 970 คดี เปิดช่องไกล่เกลี่ยคดี 3 ปีเศษ แล้วเสร็จ 315 คดี พร้อมเดินหน้าพัฒนามาตรฐานการอำนวยความยุติธรรม นำเทคโนโลยีช่วยหนุน ปรับปรุงกฎหมาย เพิ่มประสิทธิภาพการพิจารณาคดี
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2565 นายชาญชัย แสวงศักดิ์ ประธานศาลปกครองสูงสุด เป็นประธานในการแถลงข่าวผลการดำเนินงานของศาลปกครอง เนื่องในโอกาสครบรอบ 21 ปี ว่า ภารกิจด้านการพิจารณาพิพากษาคดี โดยสถิติคดีของศาลปกครองในภาพรวม นับถึงวันที่ 27 กันยายน 2564 ก่อนที่ตนเข้ามารับตำแหน่งประธานศาลปกครองสูงสุดนั้น มีจำนวนทั้งสิ้น 180,986 คดี พิจารณาได้แล้วเสร็จ จำนวน 154,106 คดี คิดเป็น 85.15% ของคดีรับเข้า โดยเมื่อเข้ามารับตำแหน่งประมาณ 5เดือน มีจำนวนคดีรับเข้า 4,847 คดี พิจารณาคดีแล้วเสร็จ จำนวน 4,135 คดี คิดเป็น 85.31% ของคดีรับเข้า
ในจำนวนคดีที่พิจารณาแล้วเสร็จนี้ พบว่า ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาคดีได้แล้วเสร็จ เป็นจำนวน 1,730 คดี ส่งผลให้ศาลปกครองสูงสุดมีคดีค้างสะสมลดลง จำนวน 236 คดี และคาดว่าในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ศาลปกครองสูงสุดจะพิจารณาคดีได้แล้วเสร็จมากกว่าปีงบประมาณก่อนหน้า และเป็นปีที่ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาคดีได้แล้วเสร็จมากที่สุดนับตั้งแต่เปิดทำการศาลปกครองมาอีกด้วย
และนับตั้งแต่มีการเปิดใช้งานระบบงานคดีปกครองอิเล็กทรอนิกส์ เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2562 และได้มีการพัฒนาระบบดังกล่าวอย่างต่อเนื่องตลอดมา เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่คู่กรณีและประชาชน ให้สามารถยื่นฟ้องคดีผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ทุกที่ ทุกเวลา โดยไม่จำเป็นต้องเดินทางมาที่ศาลปกครอง ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนคดีที่ยื่นฟ้องทางอิเล็กทรอนิกส์ตั้งแต่เปิดใช้ระบบ รวมสองชั้นศาล จำนวน 970 คดี และได้พิจารณาแล้วเสร็จ จำนวน 385 คดี
นอกจากการเพิ่มช่องทางการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีทางระบบอิเล็กทรอนิกส์แล้ว ศาลปกครองยังได้เปิดให้มีการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในคดีปกครอง ซึ่งเป็นวิธีการที่สามารถทำให้ข้อพิพาทยุติลงด้วยดีภายในระยะเวลาที่รวดเร็ว และนับตั้งแต่เดือนกันยายน 2562ที่นำกระบวนการไกล่เกลี่ยมาใช้ มีคดีที่เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยของศาลปกครองชั้นต้น จำนวน 373คดี ไกล่เกลี่ยแล้วเสร็จ จำนวน 315 คดี คิดเป็น 84.45% และมีคดีอยู่ระหว่างกระบวนการไกล่เกลี่ย จำนวน 58 คดี หรือ 15.55% และในปี พ.ศ. 2564 ศาลปกครองยังได้พัฒนางานที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาคดีด้านอื่น ๆ ควบคู่กันไปด้วย โดยมีผลการดำเนินงานที่สำคัญ 3 ประการ ดังนี้
ประการแรก การพัฒนามาตรฐานในการอำนวยความยุติธรรมทางปกครองอย่างต่อเนื่องให้เป็นไปตามมาตรฐานอันเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ทั้งในด้านระบบการทำงาน โครงสร้างพื้นฐาน และบุคลากร มีผลการดำเนินงาน ดังนี้
ด้านการพิจารณาพิพากษาคดี
-
จัดทำร่างขั้นตอนและกรอบระยะเวลาการดำเนินคดีของตุลาการศาลปกครองเพื่อรองรับการดำเนินการให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งร่างพระราชบัญญัติกำหนดระยะเวลาดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรม พ.ศ. …. พร้อมทั้งเตรียมความพร้อมในการพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อรองรับการจัดทำ พัฒนา และเชื่อมโยงระบบตรวจสอบ หรือแจ้งความคืบหน้าให้ประชาชนทราบเมื่อกฎหมายมีผลบังคับใช้
-
ปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการพิจารณาพิพากษาคดี และสนับสนุนการพิจารณาพิพากษาคดีให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีการประกาศใช้ระเบียบและแนวปฏิบัติในปี พ.ศ. 2564 อาทิ ประกาศประธานศาลปกครองสูงสุด เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการตรวจดู การคัดสำเนา และการรับรองสำเนาเอกสารในสำนวนคดี (ฉบับที่ 2) การออกระเบียบ ก.บ.ศป. ว่าด้วยเงินค่าธรรมเนียม เงินค่าปรับ และเงินกลาง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2564 และมีประกาศสำนักงานศาลปกครอง เรื่อง สถานที่ใช้เชื่อมโยงสัญญาณกับศาลและวิธีการที่จะใช้ในการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีปกครองทางอิเล็กทรอนิกส์หรือระบบการประชุมทางจอภาพ (ฉบับที่ 2) ซึ่งเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่คู่กรณีและประชาชน ฯลฯ
-
แก้ไขพรบ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ที่เกี่ยวกับกระบวนพิจารณาคดีปกครองเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม เพื่อแก้ปัญหาทางปฏิบัติในการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีปกครองที่ปรากฏขึ้นในปัจจุบัน โดยแก้ไขเพิ่มเติมทั้งสิ้นรวม 11 ประเด็น ดังต่อไปนี้
-
เพิ่มเติมบทนิยามคำว่า “คดีปกครองเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม” โดยกำหนดว่า คดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองที่องค์คณะเห็นว่าเป็นคดีที่เกิดจากกฎหมายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมที่ประธานศาลปกครองสูงสุดประกาศกำหนด
-
แก้ไขเพิ่มเติมเงื่อนไขการฟ้องคดี ให้สามารถฟ้องคดีปกครองในระหว่างการดำเนินการแก้ไขความเดือดร้อนหรือเสียหายตามที่กฎหมายกำหนดไว้แต่ยังมิได้มีการสั่งการหรือไม่มีการแก้ไขความเดือดร้อนหรือเสียหายจนล่วงเลยเวลาไปแล้ว
-
เพิ่มเติมเงื่อนไขการฟ้องคดีกรณีที่การกระทำหรือการงดเว้นการกระทำของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐมีความเสี่ยงว่าจะก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ทรัพยากร ธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมหรือสุขอนามัยของประชาชน และเป็นความเสียหายที่ยากแก่การแก้ไขเยียวยา ในภายหลัง
-
เพิ่มเติมให้มีการฟ้องคดีแบบกลุ่ม
-
เพิ่มเติมอำนาจให้ศาลปกครองสามารถกำหนดวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษาในคดีปกครองเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมได้ โดยต้องคำนึงถึงหลักการป้องกันหรือหลักข้อควรระวังความเสียหายอย่างร้ายแรงที่จะเกิดแก่ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมหรือแก่สุขอนามัยของประชาชนประกอบด้วย
-
เพิ่มเติมให้คำพิพากษาหรือคำสั่งในคดีปกครองสิ่งแวดล้อมผูกพันบุคคลภายนอกหรือหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอื่น ซึ่งมีผลประโยชน์ร่วมกันในมูลความแห่งคดีหรือมีหน้าที่เกี่ยวข้องตามกฎหมายได้
-
เพิ่มเติมให้ศาลปกครองมีอำนาจกำหนดคำบังคับในคดีปกครองเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมให้บุคคลภายนอกใช้เงินหรือส่งมอบทรัพย์สินหรือให้กระทำการหรืองดเว้นกระทำการ โดยจะกำหนดเวลาหรือเงื่อนไขอื่น ๆ ไว้ด้วยก็ได้
-
เพิ่มเติมให้ศาลปกครองกำหนดคำบังคับในคดีปกครองเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม โดยต้องคำนึงถึงหลักการป้องกันหรือหลักข้อควรระวังความเสียหายอย่างร้ายแรงที่จะเกิดแก่ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมหรือแก่สุขอนามัยของประชาชนประกอบด้วย
-
เพิ่มเติมให้ศาลปกครองมีอำนาจกำหนดคำบังคับในคำพิพากษาเกินกว่าหรือแตกต่างจากคำขอของผู้ฟ้องคดี กำหนดถึงการสงวนสิทธิแก้ไขคำบังคับในคำพิพากษา กำหนดค่าเสียหายเพื่อการลงโทษ และออกคำสั่งให้คู่กรณีดำเนินการกำจัดมลพิษภายในระยะเวลาที่กำหนด
-
กำหนดให้การออกระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดที่ออกตามความในพระราชบัญญัตินี้ ต้องส่งให้สภาผู้แทนราษฎรตรวจสอบตามมาตรา 6 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542
-
ให้จัดตั้งสำนักพัฒนาระบบคดีปกครองเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมขึ้นในสำนักงานศาลปกครอง เพื่อให้สอดคล้องกับแผนการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากร-ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประเด็นการปฏิรูปที่ 7 การปฏิรูประบบยุติธรรมสิ่งแวดล้อม
-
ทั้งนี้ ก.บ.ศป. ได้ให้ความเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้แล้ว ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็นตามขั้นตอนของกฎหมาย และจะได้นำเสนอต่อครม.เพื่อพิจารณาในลำดับถัดไป
ด้านการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและโครงสร้างพื้นฐาน
-
พัฒนาระบบการพิจารณาพิพากษาคดีปกครองผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ และจัดให้มีโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นต่อการปฏิบัติงาน โดยการพัฒนาระบบสนับสนุนตุลาการและให้บริการแก่คู่กรณีผ่านอุปกรณ์หรือเครื่องมือการสื่อสาร (Web mobile application) และปรับปรุงห้องไต่สวนและห้องพิจารณาคดีอิเล็กทรอนิกส์ โดยติดตั้งระบบประชุมทางจอภาพ จำนวน 6 แห่ง ได้แก่ ศาลปกครองสูงสุด ศาลปกครองกลาง ศาลปกครองเชียงใหม่ ศาลปกครองขอนแก่น ศาลปกครองสงขลา และศาลปกครองระยอง รวมทั้งปรับปรุงห้องประชุมองค์คณะอิเล็กทรอนิกส์ในศาลปกครองสูงสุด
-
พัฒนาระบบข้อมูลสนับสนุนการตัดสินใจอัจฉริยะสำหรับผู้บริหารศาลปกครองและสำนักงานศาลปกครอง โดยจัดหาเครื่องมือจัดทำระบบการวิเคราะห์และนำเสนอข้อมูลด้วยซอฟต์แวร์ระบบธุรกิจอัจฉริยะ Business Intelligence: BI และอุปกรณ์การนำเสนอข้อมูลสารสนเทศสำหรับผู้บริหาร
-
สร้างความร่วมมือในการเชื่อมโยงข้อมูลเพื่อสนับสนุนกระบวนพิจารณาคดีของศาลปกครองด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลที่ทันสมัย โดยการเชื่อมโยงข้อมูลผ่าน Linkage Center กับกรมที่ดิน สำนักงานประกันสังคม และกรมการปกครอง
-
พัฒนาระบบดิจิทัลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารราชการของศาลปกครอง โดยดำเนินการจัดหาระบบถ่ายทอดภาพ เสียง วีดีโอ เพื่อบันทึกและจัดเก็บสื่อมัลติมีเดียและเผยแพร่สำหรับให้บริการประชาชนผ่านเว็บไซต์ของศาลปกครอง
-
พัฒนาฐานข้อมูลและระบบบังคับคดีปกครองด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้บริการประชาชนผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประกอบด้วย ระบบยื่นคำร้องเกี่ยวกับการบังคับคดีปกครองผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-filing) การเชื่อมโยงข้อมูลบุคคลล้มละลายของกรมบังคับคดี และการปรับปรุงระบบบังคับคดีปกครอง เพื่อติดตามการบังคับคดีปกครองทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค
ประการที่สอง การมุ่งเน้นให้กระบวนการยุติธรรมทางปกครองเป็นกลไกในการจัดการข้อพิพาทที่เป็นปัญหาสำคัญ เป็นลักษณะของการตัดไฟแต่ต้นลม โดยจัดทำเป็นโครงการศึกษาวิเคราะห์เหตุแห่งการฟ้องคดีเพื่อป้องกันและลดการนำข้อพิพาททางปกครองมาสู่ศาล ในรอบปี พ.ศ. 2563 เพื่อนำเสนอผลการวิเคราะห์เหตุแห่งการฟ้องคดีต่อคณะรัฐมนตรี สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐ ป้องกันและลดการนำข้อพิพาททางปกครองมาสู่ศาล
และประการที่สาม การสานต่อและขยายความร่วมมือกับองค์กรภายนอก ทั้งที่เป็นองค์กรภาครัฐและภาคประชาชน รวมทั้งองค์กรต่างประเทศ ได้แก่
-
การสร้างความร่วมมือทางวิชาการกับหน่วยงานภาครัฐ โดยจัดอบรมโครงการเสริมสร้างหลักปฏิบัติราชการที่ดีจากคำวินิจฉัยของศาลปกครองให้แก่ทุกภาคส่วนในสังคม จัดเสวนาทวิภาคีระหว่างศาลปกครองกับหน่วยงานภาครัฐต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง
-
การส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการดำเนินงานตามภารกิจของศาลปกครอง โดยจัดให้มีช่องทางรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะของประชาชนที่มาติดต่อราชการที่ศาลปกครอง รวมทั้งผ่านระบบออนไลน์ ได้แก่ คอลเซ็นเตอร์ เฟซบุ๊ก ไลน์ อีเมลล์ และเว็บไซต์ศาลปกครอง การเปิดโอกาสให้หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน สถานศึกษาและประชาชน เข้ามามีส่วนร่วมรับรู้และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการดำเนินงานของศาลปกครองผ่านโครงการเปิดบ้านศาลปกครอง และการศึกษาดูงานศาลปกครองทั้งในส่วนกลางและในภูมิภาค
-
การสร้างความร่วมมือกับองค์กรต่างประเทศ โดยจัดกิจกรรมความร่วมมือทางวิชาการกับรัฐบาลฝรั่งเศส จัดบรรยายทางวิชาการร่วมกับ State Courts ของสิงคโปร์ รวมทั้งเข้าร่วมการสัมมนาระหว่างประเทศและการอบรมหลักสูตรต่าง ๆ เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคีไทย-ลาว เพื่อขับเคลื่อนและติดตามความคืบหน้าของการดำเนินงานความร่วมมือด้านต่าง ๆ ระหว่างไทยและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากการดำเนินโครงการความร่วมมือทางวิชาการภายใต้บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือทางกฎหมาย การศาล และการบริหารงานยุติธรรมทางปกครองระหว่างสำนักงานศาลปกครองและศาลประชาชนสูงสุดแห่ง สปป.ลาว โดยการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานศาลปกครอง และกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อสนับสนุนการเตรียมการจัดตั้งคณะศาลปกครองในศาลประชาชนสูงสุดแห่ง สปป.ลาว จนเป็นผลสำเร็จ โดยศาลประชาชนสูงสุดแห่ง สปป.ลาว ได้เปิดรับพิจารณาคดีปกครองอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2564
นายชาญชัย กล่าวต่ออีกว่า ตนได้มีการวิเคราะห์สภาพปัญหาและกำหนดนโยบายในการพัฒนางานด้านอื่นที่จะสนับสนุนการดำเนินงานของศาลปกครองให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น แต่ภายใต้กรอบเวลาเพียง 1 ปี ของการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว อาจไม่เพียงพอที่จะแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้ทั้งหมด จึงได้ขับเคลื่อนงานที่สำคัญมาสู่การปฏิบัติเพื่อสนับสนุนภารกิจด้านการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลปกครองให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยมีผลการดำเนินงานที่สำคัญ ตั้งแต่วันที่ 27 กันยายน 2564- 7 มีนาคม 25 65 ดังนี้
- ปัญหาในการดำเนินงานของศาลปกครองที่สำคัญที่สุดและสมควรได้รับการแก้ไขปรับปรุงโดยเร็วที่สุด ได้แก่
-
การแก้ไขปัญหาความล่าช้าในการอำนวยความยุติธรรมทางปกครอง ที่เกิดจากจำนวนตุลาการศาลปกครองมีจำนวนไม่สอดคล้องเพียงพอกับปริมาณคดี เนื่องจากที่ผ่านมากระบวนการสรรหาตุลาการใช้ระยะเวลาค่อนข้างนาน แต่ละครั้งได้ผู้ผ่านการคัดเลือกน้อย และต้องผ่านการอบรมเตรียมความพร้อมอีกเป็นระยะเวลา 9 เดือน ซึ่งได้มีการกำชับและเร่งรัดกระบวนสรรหาให้มีความกระชับขึ้นหรือกรณีคดีที่รอการวินิจฉัยของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ได้เร่งรัดการนำคดีเข้าสู่การพิจารณาวินิจฉัยของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด โดยจัดประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ทุกสัปดาห์ มีคดีที่เข้าสู่กระบวนการวินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่ฯ รวม 170 คดี พิจารณาแล้วเสร็จ จำนวน 157คดี คงเหลือ 13 คดี โดยคดีที่พิจารณาแล้วเสร็จ ก็มีคดีโครงการโฮปเวลล์ และคดีคลองด่าน ซึ่งได้มีคำสั่งออกไปแล้วรวมอยู่ด้วย
นอกจากนี้ ได้ลดขั้นตอนและกำหนดกรอบในการกลั่นกรองร่างคำวินิจฉัยที่ผ่านการพิจารณาขององค์คณะให้รวดเร็วยิ่งขึ้น โดยมอบอำนาจให้รองประธานศาลปกครองสูงสุดและประธานแผนกคดีในศาลปกครองสูงสุดปฏิบัติหน้าที่แทนประธานศาลปกครองสูงสุดส่งออกคดี รวมทั้งได้กำชับพนักงานคดีปกครอง ในการจัดทำคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ใช้แบบตามที่ศาลกำหนด เพื่อลดภาระในการตรวจร่างคำพิพากษา ซึ่งจะทำให้การตรวจร่างคำพิพากษาสามารถดำเนินการได้รวดเร็วยิ่งขึ้น -
การวางแนวปฏิบัติในการพิจารณาวินิจฉัยคดีปกครองที่มีลักษณะอย่างเดียวกันหรือคดีปกครองที่มีเหตุแห่งการฟ้องคดีเดียวกันให้มีแนวคำวินิจฉัยเป็นไปในแนวทางเดียวกันโดยปรับเปลี่ยนการจ่ายสำนวนคดีให้แก่องค์คณะ เพื่อลดปัญหาการจ่ายสำนวนคดีประเภทเดียวกันให้แก่องค์คณะหลายองค์คณะ และมีประกาศประธานศาลปกครองสูงสุด จัดแบ่งประเภทคดีที่จะมอบหมายให้แต่ละองค์คณะรับผิดชอบคดีตามความเชี่ยวชาญ และได้พัฒนาหน้าจอสืบค้นข้อมูลเหตุแห่งการฟ้องคดีซึ่งจะช่วยตรวจสอบได้ว่า คดีที่มีเหตุแห่งการฟ้องคดีในทำนองเดียวกันนั้น ควรต้องจ่ายสำนวนคดีให้แก่ องค์คณะใด เพื่อลดปัญหาการจ่ายสำนวนคดีประเภทเดียวกันให้แก่องค์คณะหลายองค์คณะ และลดปัญหาการวินิจฉัยคดีปกครองที่มีลักษณะอย่างเดียวกันรวมทั้งได้รวบรวมประเด็นปัญหาในการวินิจฉัยคดีปกครองที่มีลักษณะอย่างเดียวกันโดยดำเนินการวิเคราะห์และจัดทำแนวคำวินิจฉัยของศาลปกครองให้มีมาตรฐานเดียวกันทั้งศาลปกครองชั้นต้นและศาลปกครองสูงสุด
-
การพัฒนางานวิเคราะห์เหตุแห่งการฟ้องคดีปกครอง โดยได้จัดทำรายงานการวิเคราะห์เหตุแห่งการฟ้องคดีปกครอง พร้อมข้อเสนอแนะแนวทางการปรับปรุงวิธีปฏิบัติราชการต่อหน่วยงานของรัฐที่ถูกฟ้องคดีมากจากเหตุแห่งการฟ้องคดี เพื่อเป็นการลดหรือป้องกันไม่ให้เกิดข้อพิพาทในลักษณะเดียวกันขึ้นสู่การพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองอีก รวมทั้งจัดงานเสวนาเกี่ยวกับเหตุแห่งการฟ้องคดีในรูปแบบออนไลน์ และนำองค์ความรู้ดังกล่าวไปเผยแพร่ในรูปแบบ E-Learning โดยจัดเสวนาทวิภาคีร่วมกับหน่วยงานของรัฐต่าง ๆ แล้ว เช่น กรมบัญชีกลาง กรมที่ดิน และกำหนดจะจัดเสวนาร่วมกับกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นในช่วงเดือนมี.ค.65
-
การผูกมิตรสร้างแนวร่วมกับผู้ที่มีบทบาทสำคัญในสังคม หรือผู้ที่มีคุณูปการต่อการก่อตั้งศาลปกครอง โดยเรียนเชิญผู้ทรงคุณวุฒิที่มีบทบาทสำคัญในการจัดตั้งศาลปกครอง มาให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อศาลปกครองอย่างต่อเนื่อง
-
การเผยแพร่ความรู้ การขยายความร่วมมือทางวิชาการกับหน่วยงาน สถาบัน หรือองค์กรต่าง ๆ โดยมีการสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานภายนอก จำนวน 6 หน่วยงานหรือกลุ่มองค์กร ได้แก่ (1) กรมบัญชีกลาง (2) กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (3) กรมที่ดิน (4) หน่วยงานกลางผู้ถูกฟ้องคดีมากและหน่วยงานผู้ถูกฟ้องคดีในเรื่องการเวนคืน การโอนสิทธิ์ เช่น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กรมทางหลวง ฯลฯ (5) สถาบันการศึกษา และ (6) องค์กรในกระบวนการยุติธรรม (สำนักงานอัยการสูงสุดและสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์)
นอกจากนี้ ยังได้กำหนดนโยบายการดำเนินงานให้สำนักงานศาลปกครอง เช่น การเร่งรัดการสรรหาพนักงานคดีปกครองให้เพียงพอต่อการสนับสนุนงานพิจารณาพิพากษาคดีงานธุรการศาลในศาลปกครองชั้นต้น และงานบังคับคดีปกครอง การปรับปรุงโครงสร้างของหน่วยงานภายในของสำนักงานศาลปกครอง เพื่อให้สอดคล้องกับบทบาทภารกิจ มีลักษณะการดำเนินงานที่กระชับและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
-
"ปี 2565 ศาลปกครองจะเดินหน้าพัฒนาการอำนวยความยุติธรรมทางปกครองให้เป็นไปตามมาตรฐานอันเป็นที่ยอมรับของทุกภาคส่วนและในระดับสากล ควบคู่กับการนำเทคโนโลยีมาใช้สนับสนุนการดำเนินกระบวนพิจารณาคดี และแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและแก้ปัญหาทางปฏิบัติในการพิจารณาคดี โดยเฉพาะคดีปกครองเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นคดีที่จำเป็นต้องได้รับการพิจารณาโดยรวดเร็ว เพื่อให้คู่กรณีและประชาชนได้รับความยุติธรรมโดยไม่ล่าช้า รวมทั้งให้ความสำคัญกับการวิเคราะห์เหตุแห่งการฟ้องคดีปกครอง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานรัฐ ซึ่งจะเป็นบรรทัดฐานในการปฏิบัติราชการทางปกครองที่ดี ที่จะช่วยป้องกันและลดข้อพิพาททางปกครอง เพื่อสร้างสังคมธรรมาภิบาลให้เกิดขึ้นในประเทศไทยสืบไป" นายชาญชัย กล่าวโดยสรุป