กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เผยโอไมครอนระบาด 99.6% ส่วนสายพันธุ์ย่อย BA.2 ครองไทยแล้วกว่าครึ่ง แพร่เร็วขึ้น 1.4 เท่า ห่วงต้านวัคซีน-ดื้อยาโมโนโคลนอล แอนติบอดี ใช้รักษาไม่ได้ผล
นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า การเฝ้าระวังสายพันธุ์ของเชื้อไวรัสโควิด 19 ของไทย ล่าสุดในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีการเก็บตัวอย่าง 1,900 ตัวอย่างจากทั่วประเทศ พบว่า ไม่มีสายพันธุ์อัลฟ่า เบต้า แกรมม่า ส่วนสายพันธุ์เดลตาพบเพียง 7 ตัวอย่าง ที่เหลือเป็นสายพันธุ์โอไมครอน คิดเป็น 99.6% โดยพบในทุกจังหวัดมากน้อยแตกต่างกันไป และในส่วนของผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ หากมีการตรวจพบผลเป็นบวกก็จะเป็นเชื้อโอไมครอน
เมื่อจำแนกสายพันธุ์ย่อยของสายพันธุ์โอมิครอน พบว่าเป็นสายพันธุ์ย่อย BA.2 มากที่สุด 51.8% ที่เหลือเป็น BA.1 คิดเป็น 48.2 % ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลกยังไม่มีข้อมูลเพียงพอว่า BA.2 แพร่เร็วแค่ไหน แต่เรื่องความรุนแรงนั้นไม่มีความแตกต่างจาก BA.1
เบื้องต้นจากข้อมูลพบว่า BA.2 จะแพร่เร็วกกว่า BA.1 จึงเบียดแซงได้ และจะพบเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนแทน BA.1 ทั้งหมดในที่สุด เว้นแต่จะมีตัวกลายพันธุ์อื่นที่แพร่ได้เร็วกว่า ซึ่งต้องมีการเฝ้าระวังต่อไป
เมื่อพิจารณาจากสัดส่วนของกลุ่มตัวอย่างที่สุ่มตรวจสายพันธุ์แล้วพบเป็น BA.2 คือ ผู้ติดเชื้อรายใหม่เพื่อสำรวจภาพรวมประเทศ 49.08 % คลัสเตอร์ใหม่ที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อมากกว่า 50 คนในคลัสเตอร์ 50% กลุ่มที่มีอาการรุนแรง และ/หรือเสียชีวิตทุกราย 30.99% ลักษณะอื่นๆที่สงสัยในไวรัสสายพันธุ์ใหม่ 44.07 % กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ 52.94 % และกลุ่มผู้ที่เคยติดเชื้อมาก่อน(ติดเชื้อซ้ำ) 28.57 %
“ในกลุ่มที่ติดเชื้อซ้ำ ก็เป็นการยืนยัน กรณีคนที่บอกว่าเคยติดเชื้อแล้วตอนสายพันธุ์เดลต้า มีภูมิคุ้มกันแล้ว ก็จะเป็นเช่นนั้นหากสายพันธุ์ที่ระบาดยังเป็นเดลต้า แต่เมื่อเป็นสายพันธุ์อื่นระบาด ก็จะหลบภูมิคุ้มกันจากสายพันธุ์เดิม เพราะฉะนั้น ถ้ามีภูมิคุ้มกันจากสายพันธุ์เดลต้า ก็จะจัดการโอไมครอนไม่ได้ ก็จะติดเชื้อซ้ำได้ แต่ถ้าติดเชื้อโอไมครอนมีภูมิคุ้มกันโอมิครอนแล้วโอมิครอนยังเป็นสายพันธุ์ที่ระบาดอยู่ ภูมิฯ ธรรมชาติที่ได้จากการติดเชื้อก็จะป้องกันโอมิครอนได้” นพ.ศุภกิจกล่าว
นพ.ศุภกิจ กล่าวอีกว่า ส่วนเรื่องการหลบวัคซีนนั้น พบว่า BA.2 มีการดื้อวัคซีนขึ้นเล็กน้อย แต่ยังไม่มีนัยยะสำคัญทางสถิติ แต่สิ่งที่เราพบซึ่งเป็นเรื่องสำคัญคือ ยาโมโนโคนอลแอนติบอดี้ ซึ่งเป็นยารักษาโควิดที่มีราคาแพงมากนั้น
ล่าสุดพบว่าสามารถรักษาโควิดสายพันธุ์อื่นได้ รวมถึงสายพันธุ์โอไมครอนสายพันธุ์ย่อย BA.1 ได้ แต่ไม่สามารถรักษาโควิดโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2 ได้ แต่ยารักษาอื่นๆ อย่างฟาวิพิราเวียร์ ฟ้าทะลายโจรยังได้ ไม่มีผลกระทบต่อแนวทางการรักษาอื่นๆ
ผู้สื่อข่าวถามว่า ในสายพันธุ์ย่อย หากพบในกลุ่มผู้สูงอายุ หรือผู้มีโรคประจำตัวจะมีความรุนแรงหรือไม่ นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลว่า พบความแตกต่างเรื่องความรุนแรง แต่อยากเรียนว่าการติดเชื้อเมื่อติดเร็วขึ้น ก็จะมีคนรับและแพร่เชื้อได้มากขึ้น ดังนั้น การติดเชื้อในครอบครัว โอกาสแพร่ไปยังคนใกล้เคียงมีโอกาสมากกว่า และสำหรับโอมิครอนนั้น วัคซีน 2 เข็ม ช่วยไม่ได้มาก ในเรื่องของการติดเชื้อ ส่วนเรื่องความรุนแรงยังพอช่วยได้บ้าง แต่หากต้องการให้แน่ใจ ขอความกรุณาผู้สูงอายุไปรับวัคซีนเข็มที่ 3
ส่วนกรณีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า ถ้ามีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น จากการยืนยันราววันละ 22,000 ราย และตรวจATKที่หักการตรวจซ้ำออกไปอยู่ที่ราว 10,000 ราย ผู้ติดเชื้อก็จะราววันละ 32,000 ราย หากมีการเสียชีวิต 1 ใน 1,000 คนก็จะเป็นมีผู้เสียชีวิต 32 คน ถ้าเสียชีวิตวันละ 50 คน ก็จะ 2 ใน 1,000 คน ยังไม่ถึง 1 % จากสายพันธุ์เดิมที่เจอติดเชื้อ 20,000-30,000 ราย เสียชีวิต 200-300 คน
“ตัวเลขผู้เสียชีวิตก็จะเพิ่มตามจำนวนผู้ติดเชื้อที่มากขึ้น และคนที่เสียชีวิตในตอนนี้ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีน มีโรคประจำตัว หรือได้รับวัคซีนเพียง 1 หรือ 2 เข็ม เพราะฉะนั้น ถ้าลดความเสี่ยงในกลุ่มเหล่านี้ได้ ด้วยการพาไปฉีดวัคซีนโควิด19 เข็มกระตุ้น และลกโอกาสการรับเชื้อ ตัวเลขผู้เสียชีวิตก็จะลดลงอีก” นพ.ศุภกิจกล่าว
นอกจากนี้ กรณีข้อกังวลเกี่ยวกับวัคซีนที่ใช้ในประเทศไทยขณะนี้ จะมีประสิทธิผลต่อสายพันธุ์ย่อยที่พบในขณะนี้เพิ่มขึ้นหรือไม่ นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า หากเป็น BA.1 หรือ BA.2 ไม่ได้มีความแตกต่าง และวัคซีนทุกยี่ห้อ เมื่อฉีดไปถึงระยะเวลาหนึ่ง ภูมิคุ้มกันจะตก ไม่ว่ายี่ห้อใด หากห่างไป 3-4 เดือน ภูมิฯ จะลดลง ดังนั้น เข็มกระตุ้นจะมีประโยชน์มาก