สธ.เผยรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาเด็กเล็กต่ำกว่า 5 ขวบติดเชื้อโควิดแล้วกว่า 6,000 ราย สะสม 107,059 ราย สาเหตุจากติดเชื้อในครอบครัว แนะผู้ปกครองจับตาอาการอย่างใกล้ชิด พร้อมจี้หญิงท้องกว่า 2 แสนคน รับวัคซีนเข็มแรก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 23 ก.พ. 2565 นพ.เอกชัย เพียรศรีวัชรา รองอธิบดีกรมอนามัย รายงานสถานการณ์เด็กปฐมวัยติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทย ว่า การติดเชื้อในวันนี้ค่อนข้างสูง แต่ถ้าพิจารณาในตัวเลขของเด็กปฐมวัย แรกเกิดถึง 5 ขวบ ในช่วงที่ผ่านมาก็มีการติดเชื้อสูงตามกลุ่มวัยอื่นๆ เช่นกัน โดยในสัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่ามีการติดเชื้อสูงถึง 6,000 กว่าราย ซึ่งเป็นตัวเลขที่สอดคล้องกับช่วงวัยอื่นๆ ที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน
หากดูการติดเชื้อในรอบล่าสุดสายพันธุ์โอมิครอน ตั้งแต่เดือนมกราคม จะพบว่าเด็กกลุ่มนี้ติดเชื้อเพียงแค่สัปดาห์ละพันกว่าราย จากนั้นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เป็น 2-3 พันราย แต่เมื่อดูย้อนหลังตั้งแต่มีการระบาดระลอกที่ 3 เดือนเมษายน ปี 2564 จนถึงปัจจุบัน ไทยมีผู้ป่วยสะสมในเด็กกลุ่มนี้แล้ว 107,059 ราย หรือคิดเป็น 5% ของการติดเชื้อทั้งหมด และมีการเสียชีวิต 29 ราย ซึ่งส่วนใหญ่เด็กมีโรคประจำตัวอยู่แล้ว ขณะที่สาเหตุการติดเชื้อของเด็กวัยปฐมวัย มาจากการติดเชื้อในครอบครัว อีกทั้งไม่มีวัคซีน
โดย 6 จังหวัด ที่พบติดเชื้ออสูงสุดคือ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ชลบุรี สมุทรปราการ ภูเก็ต และนครศรีธรรมราช
นพ.เอกชัย กล่าวว่า ผลสำรวจอนามัยอีเว้นท์โพล (Anamai Event poll) เรื่องความกังวลและพฤติกรรมการป้องกันโรคโควิด-19 ในบ้านพบว่า คนในครอบครัวมีการประเมินความเสี่ยงของตัวเองหลังจากออกนอกบ้านแล้วกลับบ้านเพียง 28% และไม่มีการประเมินสูงถึง 72% จึงแนะนำว่าหากมีกลุ่มเปราะบางในบ้านควรประเมินตนเอง ส่วนการแยกใช้อุปกรณ์ส่วนตัวกับผู้อื่น ทำความสะอาดอุปกรณ์ที่จับร่วมกัน และไม่กินอาหารร่วมกัน พบว่าทำได้ต่ำกว่า 50% และการแยกใช้ห้องน้ำ ก็พบว่าทำไม่ได้ถึง 59% จึงขอให้ระมัดระวังจุดสัมผัส ส่วนเหตุผลและข้อจำกัดที่ไม่สามารถปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคภาคในบ้านได้ พบว่าในเรื่องการสวมหน้ากากอนามัย เพราะไม่ชิน อึดอัด มั่นใจว่าในบ้านไม่มีเชื้อ ขณะที่การเว้นระยะห่าง พบว่ามีข้อจำกัดเรื่องเนื้อที่ และการกินอาหารร่วมกัน พบว่าเพราะอาหารไม่พอถ้าต้องแยกกัน ดังนั้นหากทำไม่ได้คนในครอบครัวต้องไปฉีดวัคซีนเพื่อให้มีภูมิคุ้มกัน พยายามหลีกเลี่ยงไปในที่แออัด เช่น ร้านอาหารแบบปิด
"ควรสอนเด็กให้ล้างมือเป็นลักษณะนิสัย ส่วนเด็กอายุน้อยกว่า 2 ปี ไม่แนะนำให้ใส่หน้ากาอนามัยให้เพราะเด็กยังไม่รู้จักเอาหน้ากากอนามัยออกเองได้ ทำความสะอาดพื้นผิวสัมผัสบ่อยๆ และคอยสังเกตดูแลสุขภาพเด็กอยู่เสมอ ไม่พาเด็กไปที่เสี่ยง และกลุ่มที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษคือเด็กที่มีอายุน้อยกว่า 1 ปี และเด็กที่มีโรคประจำตัว" นพ.เอกชัย กล่าว
นพ.เอกชัย กล่าวถึงสถานการณ์หญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อโควิด-19 ตั้งแต่ระลอกเดือน เม.ย. 2564 จนถึงปัจจุบัน พบสะสม 6,829 ราย เสียชีวิต 110 ราย โดยมีเด็กเสียชีวิตตามไปด้วย หรือตายทั้งกลม 66 ราย เกินครึ่งหญิงตั้งครรภ์เสียชีวิตมีโรคประจำตัว และไม่ได้รับวัคซีน มีฉีดเพียง 3-4 ราย ส่วนใหญ่เสียชีวิตช่วงการระบาดของเชื้อสายพันธุ์เดลต้า
ทั้งนี้ การระบาดของเชื้อายพันธุ์โอไมครอน ระลอกเดือนมกราคม 2565 เป็นต้นมา มีไม่ถึง 10 ราย อย่างไรก็ตาม มีหญิงตั้งครรภ์ที่ฉีดวัคซีนเพียง 115,000 ราย ขณะที่ยังมีอีก 2 แสนกว่าราย ที่อายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ แต่ยังไม่เข้ารับการฉีดวัคซีนเลย
“ส่วนใหญ่ยังกังวลจะมีผลต่อลูกในครรภ์ ทั้งที่วัคซีนปลอดภัย จึงต้องเร่งรณรงค์ รวมถึงรณรงค์ให้คู่สมรสรับวัคซีนให้ครบ 3 เข็มก่อนตั้งครรภ์ กรณีหญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อที่ไม่มีโรคประจำตัวสามารถเข้าระบบดูแลที่บ้าน (HI) ได้ปกติ แต่ต้องระวังตนเอง หากมีอาการหนักขึ้น ไอ ไข้สูง หายใจไม่อิ่ม ระดับออกซิเจนค่ำกว่าร้อยละ 94 ให้ติดต่อแพทย์ที่ไปฝากครรภ์ หรือโทรสายด่วน 1330 และ สายด่วน 1669” นพ.เอกชัย กล่าว
ด้าน นพ.ธีรชัย บุญยะลีพรรณ รองผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาอนามัยเด็กแห่งชาติ กรมอนามัย กล่าวว่า อาการเด็กติดเชื้อส่วนใหญ่เป็นไข้ต่ำ มีน้ำมูก ไอ เจ็บคอ อ่อนเพลียเหมือนหวัด บางรายอาจมีผื่น เบื่ออาหารหรือท้องเสีย หากมีอาการหนัก ไข้สูงกว่า 39 องศาเซลเซียส หายใจหอบเร็วกว่สปกติ ใช้แรงในการหายใจ ปากเขียว ระดับออกซิเจนปลายนิ้วน้อยกว่า 94 % ซึมลง ไม่ดูดนมและไม่กินอาหาร ควรติดต่อเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเพื่อนำเด็กเข้ารพ.
ทั้งนี้ เด็กเล็กต่ำกว่า 1 ขวบให้สังเกตที่การกิน ดื่มนม ส่วนเกิน 1 ขวบให้สังเกตุที่การเล่น ถ้าพฤติกรรมดังกล่าวต่ำกว่า 50-60 % ควรนำพบแพทย์ กรณีเด็กติดเชื้อแยกกักดูแลที่บ้าน สิ่งสำคัญคือการเว้นระยะห่างโดยเฉพาะกับผู้สูงอายุที่เป็นกลุ่มเสี่ยง
เด็กอายุเกิน 2 ปีแนะนำให้เด็กใส่หน้ากากอนามัย และอย่าเปิดแอร์นอน ควรเปิดโล่ง และแยกของใช้ส่วนตัว หากมีไข้ให้พยายามเช็ดตัวเป็นระยะมากกว่ากินยาพารา ส่วนใหญ่ 1-2 วันไข้ลด และพยายามทำกิจกรรมเล่นกับลูก
กรณีเด็กเล็กต่ำกวา 5 ปีติดเชื้อที่เข้ารักษาในฮอลพิเทลหรือ CI จะให้ผู้ปกครองเข้าไปดูแลด้วย กรณีพ่อแม่ติดเด็กไม่ติดจะให้ญาตินำเด็กไปดูแล หากไม่มีญาติให้ประสานบ้านพักเด็กช่วยดูแลเล็ก