โฆษก ศบค.เผยกราฟโควิดไต่สูงขึ้น ยันเตียงเพียงพอ เน้นผู้ป่วยอาการน้อยเข้าสู่ระบบการรักษา HI/CI สำรองเตียงให้ผู้ป่วยหนัก สรุปมติที่ประชุมไม่ปรับพื้นที่สีโควิด เคาะยกเลิกตรวจ RT-PCR นักท่องเที่ยวครั้งที่ 2 มีผล 1 มี.ค.นี้ พร้อมปรับมาตรการเรียน ให้ครู นักเรียน กลุ่มเสี่ยงต่ำเรียน Onsite ได้ตามปกติ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 23 ก.พ. 2565 นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด (ศบค.) กล่าวภายหลังการประชุม ศบค.ชุดใหญ่เสร็จสิ้น ว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดขณะนี้ที่มีจำนวนเพิ่มสูงขึ้น แต่เมื่อเทียบกับการระบาดระลอกของเดลต้าที่มียอดสูงขึ้นไปมากกว่าสายพันธุ์อื่น พบว่ายอดผู้เสียชีวิตรายวันของโอไมครอนยังต่ำอยู่ ถือว่าความรุนแรงของโควิดสายพันธุ์โอไมครอนลดน้อยลง
อย่างไรก็ตาม กราฟเส้นสีน้ำเงิน (สถานการณ์จริงของผู้ติดเชื้อ) ไต่สูงขึ้น ส่วนเส้นสีแดง (ผู้เสียชีวิต) กราฟยังต่ำ แต่ก็มีทิศทางกำลังสูงขึ้น ทำให้ที่ประชุมมีมติในส่วนของการแบ่งโซนสีโควิดยังคงเดิม คือ พื้นที่พื้นที่ควบคุม (สีส้ม) 44 จังหวัด, พื้นที่เฝ้าระวังสูง (สีเหลือง) 25 จังหวัด และพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยว (สีฟ้า) 8 จังหวัด และจังหวัดอื่นที่ดำเนินการบางพื้นที่ 18 จังหวัด มีรายละเอียดดังนี้
- พื้นที่ควบคุม (สีส้ม) ประกอบด้วย กาฬสินธุ์ ขอนแก่น นนทบุรี ฉะเชิงเทรา ชุมพร เชียงราย เชียงใหม่ ตรัง ตราด นครนายก นครปฐม นครราชสีมา นครศรีธรรมราช น่าน บุรีรัมย์ ประจวบคีรีขันธ์ ปราจีนบุรี พระนครศรีอยุธยา พะเยา พัทลุง เพชรบุรี มหาสารคาม มุกดาหาร แม่ฮ่องสอน ยโสธร ร้อยเอ็ด ระนอง ระยอง ราชบุรี ศรีสะเกษ สงขลา สตูล สมุทรปราการ สมุทรสงคราม สมุทรสาคร สระแก้ว สระบุรี สุราษฎร์ธานี สุรินทร์ หนองคาบ อุดรธานี อุบลราชธานี
- พื้นที่เฝ้าระวังสูง (สีเหลือง) ประกอบด้วย กำแพงเพชร ชัยนาท ชัยภูมิ นครพนม นครสวรรค์ นราธิวาส บึงกาฬ ปัตตานี พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ แพร่ ยะลา ลำปาง ลำพูน เลย สกลนคร สิงห์บุรี สุโขทัย สุพรรณบุรี หนองบัวลำพู อ่างทอง อำนาจเจริญ อุตรดิตถ์ อุทัยธานี
- พื้นที่นำร่องท่องเที่ยว (สีฟ้า) ประกอบด้วย กทม. กาญจนบุรี กระบี่ ชลบุรี นนทบุรี ปทุมธานี พังงา ภูเก็ต (จังหวัดอื่นดำเนินการบางพื้นที่)
ภาพรวมไทยครองเตียง 49.1% เน้นผู้ป่วยสีเขียวเข้า HI/CI
ในส่วนของการบริหารจัดการเตียงภายในประเทศ นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ในภาพรวม ข้อมูล ณ วันที่ 22 ก.พ. 2565 พบว่ามีอัตราครองเตียง 49.1% ส่วนที่เหลืออยากสำรองเอาไว้ให้กลุ่มผู้ป่วยสีเหลือและแดงขึ้นไป จึงอยากเน้นย้ำให้ผู้ป่วยอาการน้อยเข้ารับการรักษาในระบบ Community Isolation ซึ่งมีผู้ลงทะเบียนเข้ารับการดูแลแล้ว 21,120 ราย และเข้ารับการรักษาในระบบ Home Isolation ซึ่งมีผู้ลงทะเบียนแล้ว 47,373 ราย
ส่วนในกรุงเทพมหานคร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครยืนยันว่ายังมีเตียงเพียงพออยู่ ขณะนี้มีศูนย์พักคอย (Community Isolation) อยู่ 31 แห่ง ยังเหลือว่างอีก 1,900 เตียง และในวันที่ 26 ก.พ.นี้ จะเปิดศูนย์พักคอยที่เคยปิดไปแล้ว กลับมาเปิดใหม่อีก 9 แห่ง และจะมีเตียงเพิ่มขึ้นมาอีก 970 เตียง
ทั้งนี้ ที่ประชุมยังกำชับเรื่องการประสานสายด่วนที่มีความคับคั่ง ศบค.มีความห่วงใยและมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดูแลประชาชนเป็นอย่างดี เรียนว่าจะมีการเพิ่มคู่สาย โดยเฉพาะใน กทม.จะมีการเพิ่มคู่สายประจำสำนักงานเขตขึ้นมาอีก
ลดค่ารักษาป่วยโควิดต่อหัว ย้ำ UCEP ใช้เกณฑ์เดิม
สำหรับค่ารักษาโควิด แบ่งตามอาการในปี 2565 จะมีการปรับราคาลง จากเดิมผู้ป่วยสีเขียวมีประมาณค่าใช้จ่ายต่อรายในโรงพยาบาลรัฐอยู่ที่ 23,248 บาท เอกชน 50,236 บาท จะเสนอปรับลดให้เหลือ 12,000 บาท สีเหลือง โรงพยาบาลของรัฐ 81,844 บาท เอกชน 92,752 บาท เสนอปรับให้เหลือ 69,300 บาท สีแดง โรงพยาบาลรัฐ 252,182 บาท เอกชน 375,428 บาท จะปรับให้เหลือ 214,400 บาท
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า หากไปดูสัดส่วนเงินที่ใช้สำหรับยูเซ็ปโควิด แยกเป็นรายสี พบว่าใช้ในส่วนของผู้ป่วยสีเขียว 88% สีเหลือง 11% สีแดง 1% ข้อเท็จจริงในส่วนของยูเซ็ปนี้ควรให้น้ำหนักสีเหลือง สีแดง มากกว่าสีเขียว โดย นายกรัฐมนตรีในฐานะ ผอ.ศบค. แจ้งว่าเราจะยังใช้เกณฑ์เดิมอยู่ หากจะมีการปรับ ขอให้ปรับในเกณฑ์ที่ประชาชนไม่เดือดร้อน ซึ่งเลขาธิการ สปสช.กำลังอยู่ระหว่างดำเนินการเพื่อพัฒนาระบบอยู่
ยกเลิกตรวจ RT-PCR ครั้งที่ 2 ใช้ ATK แทน
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวอีกว่า ที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่ ยังเห็นชอบให้ยกเลิกการตรวจโควิดแบบ RT-PCR ครั้งที่ 2 หรือ ในวันที่ 5 และให้ตรวจด้วย ATK แทน ซึ่งการตรวจแบบ ATK มีความแม่นยำในระดับหนึ่งและเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป มีผลตั้งแต่ 1 มี.ค. นี้
นอกจากนี้ ยังเห็นชอบให้ลดวงเงินประกันสุขภาพจากเดิม 50,000 เหรียญสหรัฐ ให้ลดลงเหลือ 20,000 เหรียญสหรัฐ หรือ ไม่เกิน 700,000 บาทต่อราย ซึ่งครอบคลุมเพียงพอต่อการรักษาโควิด ประมาณ 300,000 บาทต่อราย
เคาะแผนวัคซีน มี.ค.65
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวถึงแผนการบริหารจัดการวัคซีนโควิดเดือนนี้ว่า สำหรับกลุ่มเด็กอายุ 5-11 ปี แต่ละจังหวัดจะได้รับการจัดสรรวัคซีนไฟเซอร์ (ฝาสีส้ม) สัดส่วน 5.1% ของจำนวนวัคซีนที่กรมควบคุมโรคได้รับมอบการบริษัทผู้ผลิตในแต่ละสัปดาห์
โดยขอให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดหรือผู้ว่าราชกรกรุงเทพมหานคร บริหารจัดการวัคซีนดังนี้
- วัคซีนสูตร ไฟเซอร์+ไฟเซอร์ สำหรับฉีดเด็กสุขภาพปกติ ให้บริการผ่านระบบสถานศึกษาเท่านั้น โดยเริ่มที่นักเรียนชั้น ป.6 และถัดลงไปตามลำดับ
- วัคซีนสูตร ซิโนแวค+ไฟเซอร์ ให้จัดช่องลงทะเบียนล่วงหน้าเพื่อเป็นทางเลือกให้ประชาชน
ในส่วนของกลุ่มผู้สูงอายุนั้น ข้อมูลจากกรมควบคุมโรค ตั้งแต่ 1 ม.ค. - 18 ก.พ. 2565 พบว่า มีผู้มีอายุมากกว่า 60 ปี เสียชีวิตจากการติดเชื้อ 666 คน คิดเป็น 82% ของผู้เสียชีวิตทั้งหมด และเมื่อแยกประเภทตามประวัติการได้รับวัคซีน พบว่า ไม่มีประวัติการฉีดวัคซีน 58.2%, มีประวัติรับวัคซีน 1 เข็ม 9.9%, มีประวัติรับวัคซีน 2 เข็ม 29.5% และมีประวัติรับวัคซีน 3 เข็มขึ้นไป 2.4%
ดังนั้น ควรเร่งรัดให้มีการฉีดวัคซีนทั้งเข็มที่ 1, 2 และเข็มกระตุ้นในผู้สูงอายุที่ครบระยะเวลาฉีดภายในเดือนมี.ค. 2565 เพื่อลดอัตราความเสี่ยงในการเสียชีวิตจากการติดเชื้อ
เปิดเรียน Onsite อยู่ได้กับโควิด
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวอีกว่า ด้านการเปิดเรียนแบบ Onsite นั้น ที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่ได้อนุญาตให้ ครู นักเรียน หรือบุคลากรที่เป็นกลุ่มเสี่ยงต่ำเรียน Onsite ได้ตามปกติ และเฝ้าดูอาการ ส่วนกรณีที่ นักเรียน ครู บุคลากร เป็นกลุ่มเสี่ยงสูงให้จัดการเรียน การสอน ปฏิบัติงาน แบบพื้นที่กักตัว ตามแนวทาง sandbox safety zone เป็นระยะเวลา 7 วันและเฝ้าติดตามอาการอีก 3 วีน และหากมีอาการให้รีบตรวจหาเชื้อทันที
สำหรับการสอบนั้น กรณีนักเรียน ครู หรือ บุคลากร ติดโควิด ให้พิจารณาร่วมกับบริการสาธารณสุข และจัดสถานที่สอนอย่างเหมาะสม เน้นระบายอากาศ กำกับติดตามมาตรการส่วนบุคคลสูงสุด