เปิดรับสมัครเลือกตั้งสภาทนายความวันแรก มีผู้สมัครลงชิงตำแหน่งนายก 5 ราย จาก 4 ทีม 1 อิสระ ขณะที่มีผู้สมัครกรรมการ 96 ราย ด้าน ผอ.เลือกตั้งยันทำถูกต้องตามกฎหมาย แจงปมใช้สำนักงานตนเอง เหตุประธานสภาฯ ไม่อนุญาต-เวลากระชั้นชิด
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 20 ก.พ. 2565 ที่ศูนย์อำนวยการเลือกตั้งนายกและกรรมการสภาทนายความ ซอยสุคนธสวัสดิ์ 3 แยก 3 เขตลาดพร้าว กทม. มีการเปิดรับสมัครนายกและกรรมการสภาทนายความ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ตามประกาศของผู้อำนวยการการเลือกตั้งนายกและกรรมการสภาทนายความ
โดยบรรยากาศมีทนายความและทีมทนายความเข้ายื่นใบสมัคร ก่อนเวลาเปิดรับสมัคร 08.30 น. ทั้งสิ้น 4 ทีม ได้แก่ ทีมนายสมบัติ วงศ์กำแหง ผู้อำนวยการสำนักฝึกอบรมวิชาว่าความ สภาทนายความ ทีมนายอนุพร อรุณรัตน์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ ทีมนายวิเชียร ชุบไธสง อดีตอุปนายกฝ่ายสวัสดิการและสิทธิประโยชน์ สภาทนายความ และทีมนายสรัลชา ศรีชลวัฒนา ประธานชมรมเครือข่ายทนายความภูมิภาค (กลุ่มทนายบ้านนอก)
ผลการจับสลากหมายเลขประจำตัวผู้สมัครรับเลือกตั้งนายกสภาทนายความ ดังนี้
-
ผู้สมัครหมายเลข 1 นายเกรียงศักดิ์ พินทุสรศรี (ผู้ลงสมัครอิสระ)
-
ผู้สมัครหมายเลข 2 นายสมบัติ วงศ์คำแหง
-
ผู้สมัครหมายเลข 3 นายวิเชียร ชุบไธสง
-
ผู้สมัครหมายเลข 4 นายอนุพร อรุณรัตน์
-
ผู้สมัครหมายเลข 5 นายสรัลชา ศรีชลวัฒนา
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ในการเปิดรับสมัครวันแรกนี้ มีผู้สมัครรับเลือกตั้งกรรมการสภาทนายความทั้งสิ้น 96 ราย แบ่งเป็นสังกัดทีม 93 ราย และอิสระ 3 ราย
ทั้งนี้ ศูนย์อำนวยการเลือกตั้งนายกและกรรมการสภาทนายความ จะดำเนินการรับสมัครผู้สมัครรับเลือกตั้งฯ ตั้งแต่วันที่ 20 -27 ก.พ. 2565 เวลา 08.30 - 16.30 น. และสำหรับการเลือกตั้งจะมีขึ้นในวันที่ 24 เม.ย. 2565
อย่างไรก็ดี การจัดเลือกตั้งนายกและกรรมการสภาทนายความครั้งนี้ มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับสถานที่ที่ใช้ในการเปิดรับสมัคร ซึ่งเป็นสำนักงานทนายความของผู้อำนวยการเลือกตั้งในซอยสุคนธสวัสดิ์ 3 เอง ซึ่งเป็นซอยแคบแคบไม่สะดวกที่จะให้ผู้สมัครนำรถยนต์ส่วนตัวเข้าไปในสถานที่ดังกล่าว ขณะที่การเลือกตั้งนายกและกรรมการสภาทนาย ตาม พ.ร.บ.ทนายความ พ.ศ. 2528 มาตรา 18 ได้กำหนดให้อำนาจประธานมรรยาททนายความเป็นผู้ประกาศแต่งตั้งผู้อำนวยการเลือกตั้งฯ โดยมีอำนาจหน้าที่ในการแต่งตั้งกรรมการเลือกตั้งขึ้นมาเพื่อจัดการเลือกตั้งตามขั้นตอนของกฎหมาย
ส่วนในการดำเนินการจัดการเลือกตั้งฯ ครั้งนี้ ประธานมรรยาทฯ ได้จัดทำหนังสืออนุญาตใช้สถานที่ อาคารสภาทนาย เป็นสถานที่รับสมัคร และใช้เป็นสถานที่เลือกตั้งแล้ว แต่ปรากฏว่า นายกและกรรมการสภาทนายความชุดปัจจุบันไม่อนุญาต ส่งผลให้ผู้อำนวยการเลือกตั้งฯ จึงจำเป็นจะต้องติดต่อใช้สถานที่อื่นแทน
นายเจษฎา คงรอด กรรมการมรรยาทสภาทนายความ ในฐานะผู้อำนวยการเลืกตั้งฯ กล่าวว่า การเปิดรับสมัครฯ ในวันนี้เป็นไปด้วยเรียบร้อย ส่วนเหตุผลที่ต้องใช้อาคารสำนักงานทนายความของตนเป็นสถานที่รับสมัครฯ แทนใช้พื้นที่ของสภาทนายความนั้น เนื่องจากนายกสภาทนายความไม่อนุมัติให้ใช้สถานที่ แม้จะมีการประกาศวันเลือกตั้งไปแล้วก็ตาม ตนในฐานะผู้รับผิดชอบ จึงต้องจัดหาสถานที่ใหม่ ซึ่งที่ผ่านมา มีการติดต่อขอใช้พื้นที่ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และได้มีการตกลงเงื่อนไขเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่มีผู้ไปยื่นหนังสือร้องคัดค้าน โดยอ้างว่ามีการฟ้องศาลปกครองเพื่อเพิกถอนคำสั่งประธานมรรยาท อาจทำให้มหาวิทยาลัยเสื่อมเสียชื่อเสียงได้ มหาวิทยาลัยจึงขอยกเลิกการใช้สถานที่ ส่งผลให้ต้องจัดหาสถานที่ใหม่ แต่เนื่องด้วยเวลาที่กระชั้นชิด ทำให้มีเวลาไม่พอ เลยจำเป็นต้องใช้อาคารสำนักงานของตนเป็นศูนย์รับสมัครฯ
นายเจษฎา กล่าวถึงกรณีมีการกล่าวว่าการประกาศรับสมัครนายกและกรรมการสภาทนายความในครั้งนี้ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ว่า อำนาจควบคุมการเลือกตั้งในปัจจุบันเป็นของคณะกรรมการมรรยาท โดยมี นายพนิต บุญชะม้อย เป็นประธานฯ จะหมดวาระในวันที่ 18 มี.ค. 2565 ส่วนกรรมการสภาทนายความชุดปัจจุบัน โดยมี ว่าที่ ร.ต.ถวัลย์ รุยาพร เป็นนายก จะหมดวาระในวันที่ 8 ก.ย. 2565 ซึ่งเดิมระบบถ่วงดุลการเลือกตั้ง จะมอบหมายให้กรรมการมรรยาทฯ ที่แต่งตั้งโดยสภาทนายความ ตามความเห็นชอบของสภานายกพิเศษ ที่มี รมว.ยุติธรรม ในฐานะประธาน เป็นผู้แต่งตั้งผู้อำนวยการเลือกตั้งที่มีความเป็นกลางทำหน้าที่ จึงจะถือว่าเป็นการถ่วงดุลที่เหมาะสม
แต่เมื่อปี 2557 ที่ผ่านมา เกิดเหตุการณ์รัฐประหาร ทำให้การเลือกตั้งนายกและกรรมการสภาทนายความ ถูกเลื่อนออกไปจากประเพณีปฏิบัติ ในเดือน เม.ย. ไปเป็นเดือน ก.ย. ทำให้คณะกรรมการสภาทนายความชุดใหม่ เข้ารับตำแหน่งในเดือน ก.ย. 2559 จึงทำให้เกิดช่องว่างในการเปลี่ยนถ่ายการทำงาน ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่สภาทนายความชุดปัจจุบัน ต้องการแต่งตั้งกรรมการมรรยาทชุดใหม่มาแทนชุดปัจจุบันที่จะหมดวาระในวันที่ 18 มี.ค.นี้
"หากให้สภาทนายความชุดปัจจุบันตั้งกรรมการมรรยาทชุดใหม่ และให้กรรมการมรรยาทชุดใหม่ เป็นผู้ตั้งกรรมการการเลือกตั้ง จะเกิดการรวบรัดอำนาจแบบเบ็ดเสร็จ เกิดการสืบทอดอำนาจ ทำลายระบบถ่วงดุลของสภาทนายความ ดังนั้นสิ่งที่กรรมการมรรยาทชุดปัจจุบันทำตอนนี้ คือ ตั้งผู้อำนวยการเลือกตั้ง เพื่อรักษาดุลอำนาจของสภาทนายความและการบริหาร" นายเจษฎา กล่าว
ด้าน นายวิเชียร ชุบไธสง ผู้สมัครนายกสภาทนายความ กล่าวว่า จากการพิจารณาข้อกฎหมายของประกาศผู้อำนวยการเลือกตั้งฯ ต่อการจัดการเลือกตั้ง ถือว่าไม่ขัดกฎหมาย แม้สภาทนายความจะยื่นฟ้องต่อศาลปกครองก็ตาม แต่ยังไม่มีข้อสรุป อย่างไรก็ตาม ตนเชื่อว่าแม้จะฟ้องร้องกัน แต่จะไม่ทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้โมฆะ ซึ่งที่ผ่านมา ในการเลือกตั้งสภาทนายความ เมื่อปี 2562 เคยมีกรณียื่นฟ้องร้องต่อศาลปกครองในลักษณะคล้ายกันแต่ศาลปกครองไม่รับคำฟ้อง จึงมั่นใจว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะดำเนินการต่อไปอย่างแน่นอน