กรมอนามัยเผยคนไทย 47% เชื่อหลังปีใหม่โควิดระบาดรุนแรงขึ้นกว่าเดิม มาตรการที่ทำได้ยากที่สุด งดโดยสารสาธารณะ-งดไปต่างประเทศ พร้อมกำชับร้านอาหารคุมมาตรการเข้ม หลังยังพบการติดเชื้ออยู่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 2 ก.พ. 2565 นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ตั้งแต่ 24 ม.ค. 2565 ทางศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด (ศบค.) จะประกาศปรับโซนสีโควิด ลดพื้นที่ควบคุม (สีส้ม) เพิ่มพื้นที่เฝ้าระวังสูง (สีเหลือง) แต่ประชาชนยังจำเป็นต้องปฏิบัติตามมาตรการขั้นสูงสุด สถานประกอบการยังต้องดำเนินการ Covid free setting เพื่อสร้างความปลอดภัยและลดความเสี่ยง
จากผลสำรวจอนามัยโพลได้สำรวจความรู้สึกของประชาชนต่อสถานการณ์การระบาดหลังปีใหม่ พบว่า ยังกังวลกับการแพร่ระบาดโควิด โดยประชาชน 47% ยังกังวลว่าการแพร่ระบาดจะรุนแรงกว่าเดิม ประชาชน 26% มองว่าไม่แตกต่าง และมีประชาชน 27% เชื่อว่าการแพร่ระบาดรุนแรงน้อยกว่าเดิม ซึ่งโดยส่วนใหญ่เชื่อเพราะการได้รับวัคซีน
ส่วนมาตรการที่ประชาชนคิดว่าปฏิบัติตามได้ คือ การงดเข้าพื้นที่เสี่ยงทุกประเภท และงดร่วมกิจกรรมการรวมกลุ่ม ส่วนกิจกรรมที่ทำได้ยาก คือ การงดการโดยสารขนส่งสาธารณะทุกประเภท และการงดเดินทางไปต่างประเทศ
ทั้งนี้ กรมอนามัยยังห่วงใยความปลอดภัยในร้านอาหาร ซึ่งพบว่า ร้านอาหารในลักษณะคล้ายสถานบันเทิง ยังพบการระบาดเป็นกลุ่มก้อนมากสุด รองลงมา คือ งานเลี้ยงสังสรรค์ หรืองานพิธีกรรมทางศาสนาต่างๆ
"กระทรวงสาธารณสุขขอเน้นย้ำตามมาตรการ VUCA ให้ทุกคนช่วยปฏิบัติตามมาตรการ ทั้งการฉีดวัคซีนให้ครบตามเกณฑ์ การป้องกันตัวเองตลอดเวลา สถานประกอบการปฏิบัติตามมาตรการ Covid Free Setting อย่างเคร่งครัด และหากประชาชนมีอาการหรือมีความเสี่ยง ขอให้คัดกรองตัวเองด้วย ATK ทันที" นพ.สุวรรณชัย กล่าว
ด้าน นางนภพรรณ นันทพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักอนามัยสิ่งแวดล้อม กล่าวถึงปัจจัยเสี่ยงการเดินทางขนส่งสาธารณะว่า การจัดการอนามัยสิ่งแวดล้อมในสถานที่ขนส่งสาธารณะ จุดเสี่ยงยังคงเป็น ผิวสัมผัสร่วม เช่น โต๊ะ ราวจับ ลูกบิด ยังถือเป็นจุดเสี่ยง และความแออัดของผู้ใช้บริการโดยเฉพาะในเวลาเร่งด่วน และเรื่องระบบระบายอากาศ รวมถึงเรื่องระยะเวลาที่ใช้บริการ ซึ่งกรมอนามัยมีการกำหนดมาตรฐานการเดินทางขนส่งสาธารณะทุกประเภท
ทั้งนี้ หากผู้โดยสารถ้ารู้ว่าตนเองมีความเสี่ยง หรือมีอาการไข้ ไอ จาม จมูกไม่ได้กลิ่นนั้น แนะนำว่าควรเลี่ยงการเดินทางก่อน และต้องมีอุปกรณ์ส่วนตัวทั้งหน้ากาก สเปรย์หรือเจลแอลกอฮอล์ และรักษาระยะห่างระหว่างบุคคล เลี่ยงการพูดคุยกัน
สำหรับพนักงานต้องมีการดูแลตัวเองว่า มีอาการป่วยหรือเป็นไข้หรือไม่ หากมีก็ควรงดปฏิบัติหน้าที่ และต้องมีการประเมินตนเองด้วย THAI SAVE THAI ก่อนการทำงานทุกครั้งเพื่อคัดกรองความเสี่ยง ทำความสะอาดจุดสัมผัสร่วมทุกครั้งทั้งก่อนและหลังให้บริการ หรือจุดที่ให้บริการบ่อยๆ ทั้งเบาะนั่ง ประตู และราวจับ และต้องได้รับวัคซีนครบถ้วน ทั้งผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการ
สำหรับแนวทางการจัดการสำหรับรถขนส่งสาธารณะ ในส่วนของรถประเภทราง ให้มีการเปิดระบายอากาศภายในขบวนเป็นระยะ และระบายอากาศเมื่อถึงสถานีปลายทาง ส่วนรถโดยสารปรับอากาศ ต้องมีการระบายอากาศด้วยการเปิดประตูและหน้าต่าง เพื่อระบายอากาศทุกครั้งเมื่อจอดพัก และทำความสะอาดเครื่องปรับอากาศสม่ำเสมอ และรถโดยสารระยะไกล ควรแวะพักทุก 2-3 ชั่วโมง เพื่อเปิดระบายอากาศ ส่วนรถตู้โดยสาร ต้องทำความสะอาดด้านหลังพนักพิง และทำความสะอาดผ้าม่านเป็นประจำด้วยด้วย ส่วนรถไฟ กรณีเป็นตู้นอน ต้องมีการทำความสะอาดปลอกหมอนด้วย
สำหรับการใช้บริการมอเตอร์ไซด์รับจ้าง ต้องปฏิบัติตามมาตรการส่วนบุคคล สวมหน้ากากอนามัย ใช้เจลหรือสเปรย์แอลกอฮอล์ต้องงดพูดคุยระหว่างการให้บริการ หากมีการใช้หมวกกันน๊อค อาจพกหมวกคลุมผม หรือมีหมวกกันน๊อคส่วนตัว
ขณะที่ นายสมศักดิ์ ศิริวนารังสรรค์ ผู้อำนวยการสำนักสุขาภิบาลอาหารและน้ำ กล่าวว่า สำหรับมาตรฐานความปลอดภัยร้านอาหารนั้น ยังพบว่าตลาดสด หรือร้านอาหารยังมีการติดเชื้อโควิดอยู่ โดยกรมอนามัยได้มีการกำหนดมาตรการ Covid Free Setting เน้นการทำความสะอาดจุดสัมผัสร่วมต่างๆ และต้องมีการเว้นระยะห่าง ทั้งพนักงานและผู้ใช้บริการ ทั้งนี้ ร้านอาหารที่เป็นระบบปิด จะมีความเสี่ยงเรื่องจุดระบายอากาศ ซึ่งผู้ประกอบต้องให้ความสำคัญ และพนักงานต้องมีการตรวจคัดกรองก่อนปฏิบัติหน้าที่ด้วย
ทั้งนี้ จากผลสำรวจอนามัยโพล พบว่า มาตรการร้านอาหารที่สามารถทำได้ดี คือ การทำความสะอาดโต๊ะที่นั่ง ทันทีก่อนและหลังใช้บริการ ถึง 70.4 % มีเจลแอลกอฮอล์ให้บริการประจำโต๊ะ 64.5% และเว้นระยะห่าง 1-2 เมตร และไม่นั่งตรงกันข้าม 54.1% ส่วนมาตรการที่ควรปรับปรุง คือ การติดประกาศ Covid Free Setting หรือ Thai Stop COVID 2 Plus 22.9% พนักงานแยกกันกินอาหารไม่ควรรวมกลุ่ม 19.8% การจำกัดการกินไม่เกิน 2 ชั่วโมง เพื่อใช้เวลาในร้านอาหารให้สั้นที่สุด 18.9 %
กิจกรรมในร้านอาหารที่ประชาชนยังพบเห็นได้แก่ ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้าน 23.3% ไม่ได้ตรวจการฉีดวัคซีน/คัดกรองลูกค้าก่อนเข้า 18.7% มีลูกค้านั่งดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้าน 18.5% ปรับจากสถานบันเทิงผับบาร์มาเปิดเป็นร้านอาหาร 12.1% มีพนักงานบริการนั่งดื่มกับลูกค้า/ให้บริการสัมผัสลูกค้าใกล้ชิด 6.9% มีการแสดงดนตรีสดร้องเต้นตะโกน 6.5% จับกลุ่มเต้นหน้าเวทีหรือที่โต๊ะอาหาร 4.9% และ ความเสี่ยงอื่นๆ เช่นรวมกลุ่มกัน คนเมา พนักงานไม่ปฏิบัติตามมาตรการ
กรมอนามัย จึงฝากประชาสัมพันธ์ให้งดให้มีพนักงานบริการนั่งดื่มกับลูกค้า เพราะเป็นปัจจัยให้เกิดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดได้ รวมถึงต้องเพิ่มความเข้มงวดในการแสดงดนตรีสด ที่มีการร้อง เต้น ตะโกน หรือจับกลุ่มเต้นหน้าเวที หรือที่โต๊ะอาหาร
นายสมศักดิ์ กล่าวด้วยว่า จากการประเมินตนเองตามมาตรการความปลอดภัยสำหรับร้านอาหาร COVID Free setting ข้อมูลวันที่ 2 พ.ย.64-31 ม.ค.65 มีร้านอาหารมาลงทะเบียนจำนวน 21,477 แห่ง ผ่านการประเมิน 20,833 แห่ง ไม่ผ่านการประเมิน 644 แห่ง จึงฝากให้ผู้ประกอบการร้านอาหารเข้ามาประเมินให้มากกว่านี้ เพื่อผลประโยชน์ต่อร้านอาหารนั้นๆ ด้วย