กทม.บูรณาการประชุมร่วมเร่งแก้ปัญหาทางม้าลาย สำรวจพบจุดเสี่ยง 100 แห่ง เร่งจัดงบติดตั้งสัญญาณไฟคนข้ามแบบกดปุ่ม ปรับปรุงทางข้าม-ป้ายเตือน ด้านตำรวจชูรางวัล 2 หมื่นให้คนถ่ายคลิป รถไม่หยุดให้คนข้าม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 28 ม.ค. 2565 พล.ต.ท.โสภณ พิสุทธิวงษ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พร้อมด้วย ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง โฆษกของกรุงเทพมหานคร นายประภาส เหลืองศิรินภา ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงคมนาคม กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท กรมการขนส่งทางบก วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมประชุมการบูรณาการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนในเส้นทางข้าม (ทางม้าลาย)
ที่ประชุมได้หารือมาตรฐานและรูปแบบเส้นทางข้าม (ทางม้าลาย) ตามหลักวิศวกรรมจราจร การตรวจสอบข้อมูลเส้นทางข้ามในแต่ละพื้นที่ เพื่อปรับปรุงให้เหมาะสมและป้องกันอุบัติเหตุ การบังคับใช้กฎหมายข้อหาฝ่าฝืนเครื่องหมายจราจรเส้นทางข้าม การกำหนดความเร็วในเขตชุมชน โดยเฉพาะในทางข้ามและการพิจารณาปรับปรุงรูปแบบเครื่องหมายเส้นทางข้าม การติดตามการดำเนินการกำหนดใบอนุญาตขับขี่สำหรับรถจักรยานยนต์ขนาด 400 ซีซีขึ้นไป (บิ๊กไบค์) ระบบตัดคะแนนและสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่
พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กล่าวว่า ได้นำมติที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนแห่งชาติ (นปถ.) ซึ่งมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ เป็นประธาน เมื่อวันที่ 27 ม.ค.ที่ผ่านมา มอบหมายให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังและต่อเนื่อง โดยให้นำเทคโนโลยีมาสนับสนุนการบังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ควบคู่การรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ผู้ใช้รถใช้ถนนมีความตระหนัก มีจิตสำนึก และมีความรับผิดชอบต่อสังคม
ที่ประชุมวันนี้ได้สั่งการสถานีตำรวจทั่วประเทศ ตรวจสอบทางม้าลายร่วมกับจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แขวงการทาง หรือหน่วยงานภาคเอกชนที่เป็นเจ้าของถนน เพื่อหาแนวทางปรับปรุงแก้ไขเส้นทางข้ามให้เหมาะสมเพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ ทั้งการทาสี ตีเส้น ทำแถบชะลอความเร็ว ป้ายเตือน ปรับทัศนวิสัย ติดตั้งไฟสัญญาณจราจรควบคุมทางข้าม การติดตั้งกล้อง CCTV
นอกจากนี้ ตำรวจจะร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่พิจารณากำหนดอัตราความเร็วในเขตชุมชนที่มีประชาชนหนาแน่น บริเวณสถานศึกษาหรือโรงพยาบาลตั้งอยู่ รวมถึงความเร็วขั้นต่ำก่อนถึงทางม้าลาย จัดทำป้ายจำกัดความเร็ว ในเขตชุมชนอาจจำกัดความเร็ว 30–40 กม./ชม. นอกเขตชุมชน ไม่เกิน 60 กม./ชม. และจะบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดกับผู้ฝ่าฝืน
พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กล่าวต่อว่า แต่ละสถานีตำรวจจะจัดเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจร และอาสาจราจรดูแลความปลอดภัยบริเวณทางม้าลาย โดยเฉพาะทางข้ามที่ไม่มีการติดตั้งไฟสัญญาณจราจรควบคุมในช่วงที่มีประชาชนเดินสัญจรไปมาจำนวนมาก และจะบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังกับผู้ฝ่าฝืนกฎหมายทางม้าลาย เช่น ไม่จอดให้คนข้าม ปรับไม่เกิน 1,000 บาท
แซงบริเวณทางข้ามปรับ 400- 1,000 บาท จอดรถในทางม้าลายปรับไม่เกิน 500 บาท รวมทั้งบังคับใช้กฎหมายกับผู้กระทำผิดข้อหาที่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ โดยเฉพาะ 10 ข้อหาหลัก เช่น ฝ่าไฟแดง ย้อนศร ขับรถเร็ว เมาแล้วขับ อย่างต่อเนื่อง
สำหรับผู้พบการกระทำผิด รถไม่หยุดให้คนข้ามหรือฝ่าฝืนสัญญาณไฟจราจรที่ทางม้าลาย สามารถถ่ายคลิปแล้วส่งให้ตำรวจเพื่อดำเนินการตามกฎหมายได้ โดยให้ส่งมาที่ศูนย์บริหารงานจราจร ผ่านช่องทางศูนย์โซเชียลมีเดีย ศปก.ตร.หรือเพจอาสาตาจราจร มูลนิธิเมาไม่ขับหรือเพจเฟซบุ๊ก จส.100 และ สวพ.91
โดยคลิปที่ ตร.ได้รับจะส่งต่อให้สถานีตำรวจพื้นที่ติดตามดำเนินคดีกับผู้ทำผิด รวมถึงส่งไปพิจารณาในโครงการอาสาตาจราจรประจำเดือน มีสิทธิ์ได้รับเงินรางวัลสูงสุดเดือนละ 20,000 บาท ขอเชิญชวนประชาชนร่วมกันเป็นอาสาตาจราจร เพื่อช่วยสร้างความตระหนักรู้ถึงผลที่อาจเกิดขึ้นจากการฝ่าฝืนกฎหมาย ความละอายต่อการทำผิด และสร้างวินัยการขับขี่ปลอดภัยให้เกิดขึ้นในสังคม
ทางด้าน พล.ต.ท.โสภณ กล่าวภายหลังการประชุมว่า ในการประชุมวันนี้ กรุงเทพมหานครได้ร่วมหารือมาตรการป้องกันและลดอุบัติเหตุในเส้นทางข้าม(ทางม้าลาย) โดยได้รับมอบหมายให้ดำเนินการแก้ไขปัญหาที่จุดเกิดอุบัติเหตุ บริเวณทางม้าลาย หน้าสถาบันไตภูมิราชนครินทร์ ถนนพญาไท โดยเร่งด่วน โดยจะติดตั้งสัญญาณไฟคนข้ามแบบกดปุ่ม ซึ่งจะสามารถดำเนินการแล้วเสร็จภายใน 2 สัปดาห์ รวมทั้งทาสีแดงและขยายความกว้างเส้นทางข้ามเพื่อให้ผู้ขับขี่มองเห็นได้ชัดเจน โดยสามารถดำเนินการแล้วเสร็จภายใน 2 วัน และการติดตั้งกล้อง CCTV AI เพื่อตรวจจับผู้ฝ่าฝืนเส้นทางข้าม ซึ่งจะใช้ระยะเวลาติดตั้งประมาณ 30 วัน เพื่อเกิดความปลอดภัยสูงสุด ส่วนการแก้ไขปัญหาในภาพรวมของเส้นทางข้าม
เบื้องต้น กทม.จะขอจัดสรรงบประมาณเพื่อทำการติดตั้งสัญญาณไฟแบบกดปุ่มรวมทั้งปรับกายภาพบริเวณทางข้ามที่สำรวจแล้วพบว่ามีความเสี่ยง จำนวน 100 จุด ส่วนจุดอื่นๆ จะดำเนินการปรับปรุงป้ายเตือน ป้ายกำหนดความเร็ว ทาสีแดงพื้นเส้นทางข้าม เส้นชะลอความเร็ว เพื่อความปลอดภัยของประชาชน ทั้งนี้ ในพื้นที่กทม. มีทางข้ามรวม 3,280 จุด ทำการติดตั้งสัญญาณไฟกระพริบ 1,277 จุด ติดตั้งสัญญาณไฟแบบกดปุ่ม 226 จุด และทาสีแดงพื้นเส้นทางข้ามแล้ว 430 จุด