แพร่ข้อกำหนด ฉบับที่ 41 รับมือโควิดโอไมครอน พื้นนำร่องท่องเที่ยว 8 จังหวัดรวม กทม. และบางอำเภอใน 18 จังหวัด ดื่มแอลกอฮอล์ได้ถึง 3 ทุ่ม ขอความร่วมมือ WFH ถึงสิ้น ม.ค. ส่วนผับ บาร์ คาราโอเกะ ยังสั่งปิดทั่วประเทศ แต่อนุญาตปรับเป็นร้านขายอาหาร-เครื่องดื่มได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 8 ม.ค.2565 ราชกิจจานุเบกษา แพร่ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 41) ระบุว่า โดยที่สถานการณ์การแพร่ระบาดในหลายประเทศทั่วโลกได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมและทวีความรุนแรงขึ้น เนื่องจากปรากฎกรณีไวรัสกลายพันธุ์ สายพันธุ์โอไมครอน ที่สามารถแพร่กระจายได้เร็วและมีโอกาสทำให้ติดเชื้อได้ง่ายกว่าสายพันธุ์อื่นๆ
ขณะที่ไทยเริ่มตรวจพบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์ดังกล่าวมากขึ้นเป็นลำดับ แม้ว่าจะได้ฉีดวัคซีนครอบคลุมกลุ่มประชากรในประเทศเป็นจำนวนมากแล้วก็ตาม แต่สัดส่วนผู้ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นยังมีไม่มากพอและอาจเสี่ยงต่อความมั่นคงของระบบสาธารณสุขหากเกิดการระบาดรุนแรงมากขึ้น รัฐบาลโดยข้อเสนอของฝ่ายสาธารณสุขได้เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด จึงจำเป็นต้องกำหนดนโยบายและมาตรการต่างๆ เพื่อเตรียมพร้อมรับมือเหตุการณ์ดังกล่าว ดังนี้
1.ปรับปรุงเขตพื้นที่จังหวัดตามพื้นที่สถานการณ์และการกำหนดพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยวเพิ่มเติม ส่งผลให้มีพื้นที่ควบคุม 69 จังหวัด พื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว 26 จังหวัด
ทั้งนี้พื้นที่นำร่องท่องเที่ยว แบ่งเป็น การกำหนดทั้งจังหวัด จำนวน 8 จังหวัด ประกอบด้วย กทม. , กระบี่ , กาญจนบุรี , ชลบุรี , นนทบุรี , ปทุมธานี , พังงา , ภูเก็ต ส่วนที่เหลือ 18 จังหวัดกำหนดเฉพาะบางอำเภอหรือบางพื้นที่
อ่านรายละเอียด : http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2565/E/005/T_0058.PDF
2.ขยายเวลาการบังคับใช้มาตรการควบคุมและป้องกันโรค ให้บรรดามาตรการควบคุมแบบบูรณาการ ข้อห้าม ข้อยกเว้น และข้อปฏิบัติสำหรับพื้นที่สถานการณ์ระดับต่างๆ รวมทั้งมาตรการเตรียมความพร้อมตามข้อกำหนด ฉบับที่ 37 ได้แก่ ห้ามจัดกิจกรรมเสี่ยงต่อการแพร่โรค กิจกรรมรวมกลุ่มคนจัดได้โดยไม่ต้องขออนุญาต การปฏิบัติงานนอกสถานที่ของเจ้าหน้าที่ ให้มีผลใช้บังคับต่อไป
ในส่วนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่หน่วยงานต่างๆ ให้หัวหน้าส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐ เจ้าของกิจการหรือผู้ประกอบการภาคเอกชน พิจารณา Work From Home ตามความเหมาะสมเพื่อการเฝ้าระวัง โดยให้ดำเนินมาตรการต่อเนื่องไปจนถึง 31 ม.ค.2565
3.ปรับปรุบมาตรการควบคุมแบบบูรณาการในพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว การบริโภคสุราหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่มในพื้นที่ เปิดให้บริการได้เฉพาะร้านที่ผ่านการตรวจประเมินตามมาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขอนามัย ในระดับ SHA PLUS ของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา หรือผ่านการตรวจมาตรฐานความสะอาดปลอดภัยรองรับสุขภาพดีวิถีใหม่ (Thai Stop Covid 2 Plus) ของกรมอนามัยแล้วเท่านั้น และให้บริการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ไม่เกินเวลา 21.00 น.
4.การเตรียมความพร้อมของสถานบริการหรือสถานที่เสี่ยงต่อการแพร่โรคทั่วราชอาณาจักร สถานบริการ สถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายสถานบริการ สถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ หรือสถานที่อื่นที่มีลักษณะคล้ายกันทั่วราชอาณาจักร ยังคงมีความจำเป็นให้ปิดดำเนินการไว้ก่อน
หากผู้ประกอบหรือผู้มีหน้าที่รับผิดชอบได้เตรียมความพร้อมเพื่อปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุขแล้ว และประสงค์จะปรับรูปแบบของสถานที่ดังกล่าวเพื่อให้บริการในลักษณะที่เป็นร้านจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม จะต้องได้รับการตรวจสอบและประเมินความพร้อม และต้องได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ภายในวัน 15 ม.ค.2565 ก่อนเปิดให้บริการภายใต้การกำกับติดตามของเจ้าหน้าที่อย่างใกล้ชิด
การให้บริการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานที่ข้างต้นที่ได้ปรับรูปแบบเป็นร้านจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยวจะต้องดำเนินการตามข้อ 3
5.การปรับแนวปฏิบัติเพื่อดำเนินการตามมาตรการป้องกันโรคสำหรับผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรเพิ่มเติม ให้ ศบค.มีคำสั่งเพื่อปรับปรุงหรือเพิ่มเติมแนวปกบัติให้หัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินและเจ้าหน้าที่ดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรการป้องกันโรคที่เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดที่ได้ประกาศไว้
6.การยกระดับการปฏิบัติงานเพื่อรองรับสถานการณ์การระบาด ด้วยการประเมินสถานการณ์แพร่ระบาดที่จำนวนผู้ติดเชื้อมีแนวโน้มสูงขึ้น ให้เจ้าหน้าที่ทุกหน่วยงานยกระดับการปฏิบัติ เพื่อตรวจสอบ กำกับติดตาม การเปิดสถานที่ การดำเนินกิจกรรมต่างๆ ให้สอดคล้องกับมาตรการป้องกัน
ให้ กทม. และจังหวัดต่างๆ เตรียมความพร้อมโดยจัดให้มีระบบศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน (EOC) เพื่อการปฏิบัติงานของหน่วยงานทุกภาคส่วนในพื้นที่อย่างบูรณาการ โดยอาจขอรับการสนับสนุนจากศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง (ศปม.) และให้หน่วยงานี่รับผิดชอบยกระดับศูนย์ประสานงานข้อมูล (Call Center) ในทุกระบบเพื่อการดำเนินงานอย่างสอดคล้อง รองรับการช่วยเหลือและบริการประชาชน
ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ 9 ม.ค.2565 เป็นต้นไป
อ่านรายละเอียด : http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2565/E/005/T_0046.PDF
วันเดียวกันนี้ราชกิจจานุเบกษา แพร่คำสั่ง ศบค.ที่ 2/2565 เรื่องแนวปฏิบัติตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 21) เพื่อกำหนดแนวทางการปฏิบัติสำหรับการเดินทางเข้าราชอาณาจักร ดังนี้
1.ให้คำสั่งระงับการรับลงทะเบียนการเดินทางเข้าราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว ยกเว้นการเดินทางเข้ามาที่ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ ยังคงมีผลใช้บังคับต่อไปจนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น
2.ให้รับการลงทะเบียนการเดินทางเข้ามาราชอาณาจักรของผู้เดินทางเข้ามาในลักณะเดียวกันกับ ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ เพิ่มเติมอีก 3 จังหวัด คือ กระบี่ พังงา และสุราษฎร์ธานี (เฉพาะเกาะเต่า เกาะพะงัน และเกาะสมุย) ตั้งแต่วันที่ 11 ม.ค.2565 เป็นต้นไป
3.ให้ปรับมาตรการป้องกันโรคสำหรับผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร ให้มีหลักฐานหรือเอกสารที่ใช้ในการเดินทาง และให้เข้ารับการตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR จำนวน 2 ครั้ง ภายใต้หลักเกณฑ์และเงื่อนไข ดังนี้
-ให้มีหลักฐานชำระค่าที่พักหรือสถานที่กักกันที่ราชการกำหนด อย่างน้อย 7 วัน และค่าตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR จำนวน 2 ครั้ง ทั้งนี้ต้องเป็นโรงแรมหรือสถานที่พักที่ได้รับการขึ้นทะเบียน
-ให้ตรวจ RT-PCR ครั้งที่ 2 ให้แก่ผู้เดินทางระหว่างวันที่ 5-6 ของระยะเวลาที่พำนักอยู่ในพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว หรือเมื่อมีอาการของโรคระบบทางเดินหายใจ ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์หรือแนวทางที่ราชการกำหนด
4.สำหรับผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรประเภทอื่น ให้ปฏิบัติตามคำสั่งที่ได้ประกาศไว้ก่อนหน้านี้โดยเคร่งครัด
ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ 11 ม.ค.2565 เป็นต้นไป หรือจนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง
อ่านรายละเอียด : http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2565/E/005/T_0059.PDF