กรมการแพทย์เปิดแนวทางเตรียมพร้อมรับมือโอไมครอนระบาด ตั้งการรักษาแบบแยกกักที่บ้าน (Home Isolation) เป็นแนวทางหลัก กำหนดให้เจ้าหน้าที่ติดต่อกลับภายใน 6 ชั่วโมงหลังรู้ผล ATK หวังแยกกักตัวได้เร็ว ช่วยลดการแพร่กระจายของเชื้อ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 4 ม.ค. 2565 กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ออกประกาศแนวทางเตรียมความพร้อมด้านการรักษาพยาบาลรองรับการระบาดของโควิดสายพันธุ์โอไมครอน ฉบับวันที่ 30 ธ.ค. 2564 มีวัตถุประสงค์เพื่อให้การดูแลรักษาผู้ป่วยเป็นไปอย่างรวดเร็ว ปลอดภัย ลดการแพร่กระจายของเชื้อและลดการเสียชีวิตของผู้ป่วยโควิด
สำหรับโควิดสายพันธุ์โอไมครอนนี้ ข้อมูลเบี้องต้นส่วนใหญ่มีอาการของการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจส่วนบน ได้แก่ ไข้ เจ็บคอ ไอแห้ง ๆ พบบางรายมีอาการปอดอักเสบแต่ไม่มาก ให้การรักษาด้วยยาต้านไวรัสฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) หลังมีอาการ 3 วัน ผู้ป่วยอาการดีขึ้น และหายเป็นปกติ
นอกจากนี้ กรมการแพทย์มีคำแนะนำสำหรับแพทย์และบุคลากรสาธารณสุข ให้แบ่งอาการผู้ติดเชื้อ เริ่มจากการตรวจคัดกรองหาเชื้อโควิดจากชุดตรวจแอนติเจน หรือ ATK ที่ผ่านมาตรฐานการประเมินจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หากมีผลตรวจเป็นบวกจะถูกส่งตัวเข้ารักษาแบบแยกกักที่บ้าน (Home Isolation) สถานที่รัฐจัดให้ (Community Isolation) และโรงพยาบาลตามอาการของผู้ติดเชื้อและดุลยพินิจของแพทย์ ดังนี้
-
ไม่มีอาการ (Asymptomatic) หรือ probable case ให้แยกกักตัวที่บ้าน หรือสถานที่รัฐจัดให้
-
มีอาการเล็กน้อย (Mild Symptoms) และถ่ายภาพรังสีปอดปกติ ไม่มีภาวะเสี่ยง/โรคร่วมสำคัญ ให้แยกกักตัวที่บ้าน หรือสถานที่รัฐจัดให้
-
มีปัจจัยเสี่ยง/โรคร่วมสำคัญ อาจมีอาการ ไม่มีอาการ หรือมีปอดอักเสบเล็กน้อย ให้แยกกักตัวที่บ้าน หรือสถานที่รัฐจัดให้
-
มีอาการ pneumonia หรือ มี SpO2 ที่ room air น้อยกว่า 94% ให้รักษาตัวที่โรงพยาบาล
โดยการรักษาแบบแยกกักที่บ้าน (Home Isolation) จะเป็นแนวทางหลักในการดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด ซึ่งแพทย์จะพิจารณาให้เข้ารับการรักษาแบบดังกล่าวได้ จะต้องเป็นผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการ หรือมีอาการเล็กน้อย มีสุขภาพแข็งแรง อาจมีโรคร่วมที่รักษาและสามารถควบคุมได้ ทั้งนี้ต้องมีอายุน้อยกว่า 75 ปี
ส่วนการพิจารณาการรักษาแบบแยกกักในชุมชน (Community Isolation) แพทย์จะพิจารณาจากการเป็นผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการ มีอาการเล็กน้อย และอาจมีโรคร่วมที่อยู่ในการดูแลรักษาตามดุลยพินิจของแพทย์ ทั้งนี้สามารถรองรับได้ทุกกลุ่มอายุ
อย่างไรก็ตาม ผู้ติดเชื้อที่จะเข้ารับการรักษาแบบแยกกักที่บ้าน หรือแบบแยกกักในชุมชน ขอให้โทรแจ้ง 1330 ก่อน หลังจากนั้นจะมีเจ้าหน้าที่ติดต่อกลับภายใน 6 ชั่วโมง เพื่อเตรียมความพร้อมของอุปกรณ์และเวชภัณฑ์ ดำเนินการตามแนวทางเวชปฏิบัติการดูแลรักษาต่อไป และจะมีการติดตามประเมินอาการผู้ป่วยอย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง โดยให้ผู้ติดเชื้อวัดอุณหภูมิและวัดระดับออกซิเจนในเลือดทุกวัน
แต่หากมีอาการไข้สูงกว่า 39 องศาเซลเซียส หายใจเร็วกว่า 25 ครั้งต่อนามี มี Oxygen Saturation น้อยกว่า 94% หรือมีโรคประจำตัวที่มีการเปลี่ยนแปลงหรือจำเป็นต้องติดตามอาการอย่างใกล้ชิด จะถูกนำส่งต่อเข้ารักการรักษาในโรงพยาบาล