'ผู้เชี่ยวชาญอังกฤษ' เชื่อวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้ามีประสิทธิภาพป้องกันบาดเจ็บรุนแรง เสียชีวิตได้กว่าไฟเซอร์-โมเดอร์นาเมื่อเจอโควิดสายพันธุ์ใหม่ อ้างจำนวนผู้เสียชีวิตอังกฤษน้อยกว่ายุโรปเป็นข้อพิสูจน์ชัดเจน รับแพ้สงครามกับการแพร่เชื้อแล้ว ควรเน้นระบบตอบสนองของเซลล์มากกว่าแค่แอนติบอดี
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานสถานการณ์การระบาดอันเกี่ยวกับไวรัสโควิด-19 ว่า นพ.ไคลฟ์ ดิกซ์ อดีตประธานคณะทำงานด้านวัคซีนของอังกฤษ ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ ว่าตัวเขาเชื่อว่าการฉีดวัคซีนของบริษัทแอสตร้าเซนเนก้านั้นจะให้การป้องกันไวรัสที่แข็งแกร่งและมีระยะยาวนานกว่าในแง่ของการกันไม่ให้มีอาการป่วยรุนแรง และการเสียชีวิต เมื่อเปรียบเทียบกับวัคซีนแบบ RNA ของบริษัทไฟเซอร์และโมเดอร์นา โดยข้อบ่งชี้ดังกล่าวนั้นมาจากกรณีที่สหราชอาณาจักรนั้นมีตัวเลขจากการเสียชีวิตจากไวรัสโควิดสายพันธุ์ใหม่อยู่ในจำนวนที่ต่ำและคงตัว แม้ว่าจะมีจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่พุ่งสูงมากก็ตาม
โดยหลายประเทศในทวีปยุโรปนั้นไม่ได้มีทิศทางของการติดเชื้อโควิดเหมือนกับในสหราชอาณาจักร เนื่องจากตัวเลขผู้เสียชีวิตนั้นยังคงอยู่ในทิศทางพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ส่วนข้อมูลสถิติจากเว็บ Our World in Data ซึ่งเป็นเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดได้ระบุว่าสหราชอาณาจักรมีอัตราผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 1.7 ราย จากไวรัสโควิด-19 เมื่อเทียบกับจำนวน 1 ล้านคน แต่เมื่อเปรียบเทียบกับทวีปยุโรปแล้ว พบว่ามีตัวเลขผู้เสียชีวิตพุ่งไปอยู่ที่ 4 รายต่อ 1 ล้านคน
นพ.ดิกซ์กล่าวต่อกับทางสำนักข่าวเทเลกราฟว่า “เมื่อคุณดูทั่วทวีปยุโรป จะพบการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้เสียชีวิตสอดคล้องกับจำนวนผู้ติดเชื้อที่สูงขึ้น แต่ไม่ใช่กับในสหราชอาณาจักร และเราก็ต้องทำความเข้าใจกับประเด็นนี้ ซึ่งผมส่วนตัวเชื่อว่าเพราะว่าบุคคลที่เปราะบางของเราส่วนมากนั้นได้รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า”
นพ.ดิกซ์กล่าวว่าเขาเชื่อว่ากุญแจสำคัญก็คือด้วยความแตกต่างในการฉีดวัคซีนเมื่อเทียบกับวัคซีนของไฟเซอร์และของโมเดอร์นา ซึ่งแม้ว่าวัคซีนแบบ RNA นั้นจะสามารถผลิตแอนติบอดีหรือสารภูมิคุ้มกันได้สูงแบบกระโดดพุ่งพรวดในการทดสอบในห้องทดลอง แต่วัคซีนแบบอื่นๆนั้นอาจจะมีศักยภาพดีกว่าในแง่ของการกระตุ้นส่วนอื่นของระบบภูมิคุ้มกัน-ภูมิคุ้มกันของเซลล์ ซึ่งภูมิคุ้มกันที่ว่านี้ก็รวมถึงทีเซลล์ที่ช่วยต่อสู้กับการติดเชื้อในร่างกาย
ผู้เชี่ยวชาญกล่าวต่อว่า ”เราได้เห็นข้อมูลเบื้องต้นแล้วที่ว่าวัคซีนของออกซ์ฟอร์ดและแอสตร้าเซนเนก้านั้นสามารถทำให้เกิดการตอบสนองของเซลล์ที่มีความทนทานมาก ซึ่งการตอบสนองที่ว่ามานี้จะคงอยู่เป็นระยะเวลาที่นานมาก และในบางกรณีก็ยาวนานถึงตลอดชีวิต”
สำหรับความแตกต่างที่สำคัญประการหนึ่งเกี่ยวกับการจัดสรรวัคซีนระหว่างทวีปยุโรปและสหราชอาณาจักรนั้นก็คือแนวทางเรื่องของการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ซึ่งในสหราชอาณาจักรได้ก้าวไปข้างหน้าด้วยการฉีดวัคซีนชนิดนี้แล้ว แต่ว่าในยุโรป รวมไปถึงนายเอมมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศสยังคงตั้งข้อกังขาเกี่ยวกับประสิทธิภาพของวัคซีน
นพ.ดิกซ์กล่าวย้ำว่าไม่มีอะไรที่ผิดสำหรับการใช้วัคซีนของไฟเซอร์และโมเดอร์นา เพื่อเป็นเข็มบูสเตอร์และวัคซีนทางเลือกอื่นๆอาจจะเป็นตัวเลือกที่ดีกว่าในระยะยาว
อนึ่งสหราชอาณาจักรได้มีการขยับวัคซีนหลักออกจากแอสตร้าเซนเนก้า หลังจากที่ผลการศึกษาระบุว่าวัคซีนไฟเซอร์และโมเดอร์นานั้นมีประสิทธิภาพมากที่สุด
อย่างไรก็ตาม นพ.ดิกซ์เน้นย้ำว่าผลในห้องทดลองเหล่านี้เมื่อนำมาใช้แปลผลกับประสิทธิภาพในโลกจริงนั้น ยังเป็นประเด็นที่จะต้องติดตามกันต่อไป
“ผมคิดว่าเราก้าวไปข้างหน้าแค่เล็กน้อยเท่านั้น เพราะเรามัวแต่ไปวัดจำนวนแอนติบอดีและการตอบสนองของแอนติบอดีที่เป็นกลางในห้องทดลอง ซึ่งไม่ได้มีความสัมพันธ์กับกรณีการป่วยรุนแรงและเสียชีวิตแต่อย่างใด ซึ่งสิ่งที่มีความแน่นอนกว่าก็คือว่าการตอบสนองในระดับเซลล์นั้นถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญ เนื่องจากจะหยุดการป่วยรุนแรงและเสียชีวิตได้ โดยผมคิดว่าเราแพ้สงครามกับการแพร่เชื้อไปแล้ว และคงจะไม่มีวัคซีนใดมาหยุดสิ่งนี้ได้ ดังนั้นผมคิดว่าเราควรไปเน้นย้ำที่ระบบตอบสนองของเซลล์จะดีกว่า แล้วเราน่าจะสามารถหลุดพ้นจากสถานการณ์นี้ได้” นพ.ดิกซ์กล่าว