ศาลอุทธรณ์พิพากษาคดีเจ้าวัดตะเปาะ กะเหรี่ยงบ้านป่าผาง จ.สุพรรณบุรี ทำไร่หมุนเวียน-บุกรุกป่าสงวนฯ 2 ไร่ สั่งจำคุก 1 ปี รอลงอาญา 2 ปี-ปรับ 2 หมื่นบาท
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 26 ธ.ค. 2564 นายสุรพงษ์ กองจันทึก ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Surapong Kongchantuk เมื่อวันที่ 23 ธ.ค. 2564 ที่ผ่านมา ระบุถึงคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีนายเปาะ งามยิ่ง หรือเจ้าวัดตะเปาะ ผู้นำทางจิตวิญญาณชาวกะเหรี่ยง บ้านป่าผาก มีความผิดในกรณีบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติ ว่า ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ให้เจ้าวัดตะเปาะ ผู้นำทางจิตวิญญาณชาวกะเหรี่ยง ที่บ้านป่าผาก ซึ่งเกิดและอยู่กับป่ามาตลอด ผิดบุกรุกป่าในปี 2548 เพื่อปลูกข้าวทำไร่หมุนเวียน 2 ไร่ มีหลักฐานของกลางคือจอบ 1 เล่ม สั่งจำคุก 1 ปี ปรับ 20,000 บาท แต่ไม่เคยต้องโทษมาก่อน โทษจำคุกให้รอลงอาญา 2 ปี
นายสุรพงษ์ ระบุว่า ตนได้ไปเป็นพยานผู้เชี่ยวชาญในศาล ยืนยันว่า บ้านป่าผากมีมาเนิ่นนาน มีหลักฐานเอกสารอย่างน้อยสมัยรัชกาลที่ 6 ก่อนการประกาศพื้นที่ป่า และเจ้าวัดตะเปาะทำไร่หมุนเวียนที่รักษาป่า แต่ศาลยังเห็นว่าเจ้าวัดตะเปาะมีความผิด
นอกจากนี้ นายสุรพงษ์ ยังได้โพสต์ภาพเจ้าวัดตะเปาะพาไปดูที่เกิดเหตุ ซึ่งกลายเป็นป่าสมบูรณ์แล้ว ไม่ปรากฏความเสียหาย พร้อมระบุว่า ขอให้สังเกตว่าเจ้าวัดมีร่างกายและมือที่ไม่ปกติ ไม่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้ดีนัก
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า จากการตรวจสอบคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ภาค 7 คดีหมายเลขดำที่ สวอ 52/2564 คดีหมายเลขแดงที่ 1704/2564 พนักงานอัยการจังหวัดสุพรรณบุรี เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง ฟ้องนายเปาะ งามยิ่ง ในความผิดต่อ พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ ความผิดต่อ พ.ร.บ.ป่าไม่ และความผิดต่อ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ โดยโจทก์ยื่นฟ้องว่า เมื่อวันที่ 18 พ.ค. 2548 จำเลยบุกรุก แผ้วถางบริเวณป่าบ้านป่าผาก ต.วังยาว อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี ซึ่งอยู่ในเขตป่าสงวนและอุทยานแห่งชาติ
โดยจำเลยตัดฟัน เก็บริบ และสุมไฟเผาพื้นที่เพื่อทำการเกษตร เนื้อที่ประมาณ 2 ไร่ ทั้งนี้ เจ้าพนักงานสามารถจับกุมได้พร้อมยึดจอบ 1 เล่มเป็นของกลาง
ทั้งนี้ จำเลยได้ให้การปฎิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาว่า จำเลยมีความผิด มีโทษจำคุก 1 ปี และปรับ 20,000 บาท โทษจำคุกให้รอลงอาญา 2 ปี คุมความประพฤติ 1 ปี โดยให้รายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 4 ครั้งภายในระยะเวลาที่กำหนด
ต่อมาจำเลยได้อุทธรณ์ว่า พื้นที่ดังกล่าวเป็นไร่ซากเก่าที่ชาวบ้านใช้ทำไร่หมุนเวียนจนครบรอบระยะเวลา 6-10 ปี ก็จะกลับมาทำไร่ในที่เดิม อีกทั้งชุมชนชาวกะเหรี่ยงบ้านป่าผากเป็นชุมชนเก่าแก่ อยู่อาศัยมาก่อนประกาศเป็นเขตป่าสงวนฯ เป็นสิทธิของชุมชนท้องถิ่นที่กระทำได้
ศาลเห็นว่า ตามภาพถ่ายประกอบคดี ที่เกิดเหตุมีตอไม้ที่ถูกตัดฟันและเผาเป็นตอดำจำนวนมาก ส่วนบริเวณโดยรอบมีสภาพเป็นป่ามีต้นไมขึ้นหนาแน่น แสดงให้เห็นว่าสภาพป่าที่สมบูรณ์และป่าที่ถูกแผ้วถางจะเผาจนไม่มีต้นไม้ใดเหลืออยู่ และจากภาพตอไม้ที่ปรากฎก็น่าจะแสดงให้เห็นว่าก่อนถูกเผาพื้นที่เกิดเหตุจะต้องมีต้นไม้ขึ้นหนาแน่นดังเช่นบริเวณโดยรอบ
นอกจากนี้ พยานโจทก์ 2 ราย เจ้าพนักงานกรมอุทยานแห่งชาติประจำอยู่ที่อุทยานแห่งชาติพุเตย เบิกความในทำนองเดียวกันว่า วันเกิดเหตุได้ออกลาดตระเวน พบจำเลยกำลังเผากิ่งไม้ที่ถูกตัดฟันแล้วและจอบที่พื้นดิน รอยตัดฟันต้นไม้เป็นรอยใหม่ สภาพรอบพื้นที่เป็นป่าต้นน้ำลำธาร พบรอยเผาไม้อยู่จุดเดียวลักษณะเป็นการแผ้วถางใหม่ไม่ได้ไร่ซากเก่า ซึ่งพื้นที่บริเวณดังกล่าวเป็นเขตอุทยานฯ ที่ไม่มีการผ่อนผันราษฎรเข้าไปทำประโยชน์
ในวันเดียวกัน ห่างจากจุดเกิดเหตุไปอีก 200 เมตร เจ้าพนักงานจับกุม 2 บุคคลซึ่งมีนามสกุลเดียวกับจำเลยมีความเกี่ยวพันเป็นเครือญาติ กำลังหยอดข้าวในที่ดินแปลงถัดไปที่อยู่ไม่ไกลจากที่เกิดเหตุ และได้ถูกฟ้องเป็นจำเลยที่ 2 และ 3 ในคดีหมายเลขแดงที่ 535/2557 ของศาลฎีกา ซึ่งที่ดินดังกล่าวนั้น ก็ไม่ได้เป็นไร่ซากเก่า
ทางด้านเจ้าหน้าที่มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ฝ่ายพยานจำเลยอ้างว่าเคยพักอาศัยอยู่ที่ชุมชนบ้านป่าผาก ได้ทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯ เพื่อสำรวจจัดทำแผนที่กำหนดขอบเขตที่ทำกินของชุมชนกะเหรี่ยง เบิกความว่า พยานไม่เคยไปที่เกิดเหตุมาก่อน จากการสอบถามพยานในหมู่บ้านทราบว่าที่เกิดเหตุเป็นไร่ซากเก่าที่บิดาของจำเลยเคยทำกิน แต่ข้อเท็จจริงไม่ปรากฎว่า เจ้าหน้าที่มูลนิธิฯ ไปอยู่ที่ชุมชนตั้งแต่เมื่อใด และเพิ่งไปดูที่เกิดเหตุหลังเกิดเหตุแล้วเท่านั้น
นอกจากนั้น พยานนำ อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชน และนายสุรพงษ์ กองจันทึก นักวิชาการศึกษาประวัติศาสตร์ความเป็นมาและพัฒนาการของชาวกะเหรี่ยง เบิกความถึงวิถีชีวิตและวัฒนธรรมในการทำกินของชาวกะเหรี่ยงทางวิชาการเท่านั้น มิได้เป็นผู้รู้เห็นและไม่สามารถยืนยันได้ว่าที่เกิดเหตุเป็นไร่ซากเก่าที่บรรพบุรุษจำเลยเคยทำกินหรือไม่ จึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟังประกอบคำพยานจำเลยที่กล่าวอ้าง
และหากข้อเท็จจริงเป็นดังที่จำเลยกล่าวอ้างว่าใช้ที่ดินเกิดเหตุปลูกข้าวและทำไร่พริกมาตั้งแต่ปู่ย่าตายานจนถึงบิดาและจำเลย จะต้องมีบุคคลในชุมชนรู้เห็น แต่ในทางนำสืบจำเลยหาได้มีพยานเช่นว่านั้นไม่
อีกทั้งในชั้นพิจารณากล่าวอ้างว่า ขณะเกิดเหตุ จำเลยเพียงเข้าไปเพื่อก่อไฟต้มยาเท่านั้น เป็นพิรุธว่าเหตุใดถึงต้องต้มยาห่างจากบ้านไกลถึง 7 กิโลเมตร และข้อเท็จจริงว่าที่เกิดเหตุไม่ใช่ไร่ซากเก่า แต่เป็นที่ที่จำเลยแผ้วถางใหม่เพื่อทำเกษตร และแม้ว่าเจ้าพนักงานจะไม่พบมีดพร้าที่ใช้ตัด แต่ก็อาจะเป็นไปได้ว่ามีการกระทำผิดตัดฟันต้นไม้เสร็จก่อนแล้ว จึงยืนตามคำพิพากษาศาลขั้นต้น