'ศาลปกครอง' พิพากษาเพิกถอนคำสั่งปลด 'อุดม พัวสกุล' อดีตผู้ว่าฯลำพูน ปมว่าจ้างขุดลอกแม่น้ำปิง ชี้ไม่มีพฤติการณ์เอื้อประโยชน์ ดำเนินการตาม คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงแล้ว ส่วนคดีฟ้องตามผลชี้มูล ป.ป.ช. ศาลอาญานัดไต่สวน เม.ย. 65 นี้
สืบเนื่องจากสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) เคยนำเสนอข่าวว่า เมื่อปี 2558 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติชี้มูลความผิดนายสมาน หรือสมาฉันท์ ชมพูเทพ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ลำพูน กับพวก กรณีกล่าวหาดำเนินการขุดลอกร่องน้ำทางเรือเดินในแม่น้ำปิงโดยไม่ชอบ และผู้ว่าราชการจังหวัดรู้ว่า อบจ.ลำพูน กระทำโดยไม่ชอบด้วยหน้าที่ ไม่แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนเพื่อทำการสอบสวนตามอำนาจหน้าที่ที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.องค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ.2550
กรณีนี้มีผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมด 9 ราย ได้แก่ นายสมาน น.ส.จุฑามาศ ปัญญายศ ผู้มีอาชีพดูดทรายในแม่น้ำปิง นายกฤช เขียวต่าย ประธานกรรมการพิจารณากลั่นกรองการขออนุญาตขุดลอกร่องน้ำทางเรือเดิน เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเจ้าหน้าที่บริหารงานขนส่ง 6 รักษาการในตำแหน่งหัวหน้าสำนักงานการขนส่งทางน้ำที่ 1 จ.เชียงใหม่ น.ส.นนทกร อมรกังวานพฤฒิ กรรมการพิจารณากลั่นกรองการขออนุญาตฯ นายทรงกลด ดวงหาคลัง กรรมการและเลขานุการพิจารณากลั่นกรองการขออนุญาตฯ นายวิเชียร ตรงเมือง กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการพิจารณากลั่นกรองการขออนุญาตฯ นายพงษ์เทพ สีราช หัวหน้าสำนักงานการขนส่งทางน้ำที่ 1 จ.เชียงใหม่ นาวาตรีบวร บันเทิง เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานการขนส่งทางน้ำที่ 1 จ.เชียงใหม่ และนายอุดม พัวสกุล เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน
เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักข่าวอิศราได้รับการติดต่อจากคนใกล้ชิดของ นายอุดม พัวสกุล อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน แจ้งข่าวเกี่ยวกับผลคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ที่ตัดสินให้นายอุดมพ้นผิดในคดีนี้ เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา เนื่องจากเห็นว่า พฤติการณ์ของผู้ฟ้องคดีดังกล่าว ยังไม่ถือเป็นการเอื้อประโยชน์ให้ตนเองหรือผู้อื่นได้ประโยชน์ที่มิควรได้ อันเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ราชการแต่อย่างใด
สาระสำคัญของคำพิพากษาระบุว่า นายอุดม พัวสกุล เป็นผู้ฟ้องคดี คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติหรือ ป.ป.ช.เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1 คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 และปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3
ศาลฯ เห็นว่าผู้ฟ้องคดีได้บันทึกสั่งการท้ายรายงานการตรวจสอบข้อเท็จจริงว่าเห็นด้วยตามมาตรการที่ 1 ของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยให้นางสาวจุทามาศดำเนินการ ดูดทรายถึงวันที่ 23 พฤศจิกายน 2548 และให้นายอำเภอป่าซางแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับดูแล และได้มีหนังสือ ที่ ลพ 0028 (3)/ 11324 ลงวันที่ 8 พฤศจิกายน 2548 ส่งบันทึกสรุปผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงให้นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูนทราบและปฏิบัติตามคำสั่งของผู้ฟ้องคดี แม้การสั่งการของผู้ฟ้องคดีจะเป็นผลให้นางสาวจุฑามาศได้ดำเนินการดูดทรายต่อไปตามสัญญาจ้างก็ตาม แต่ก็เป็นการดำเนินการภายใต้การควบคุมของคณะกรรมการกำกับดูแล ซึ่งการดูดทรายในแม่น้ำปิงที่นางสาวจุฑามาศได้ดำเนินการนั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนทิศทางการไหลของน้ำและปัญหาภัยแล้ง เพื่อการเลี้ยงปลากระชัง ถือเป็นการดำเนินการที่เป็นประโยซน์แก่ราษฎรในพื้นที่ และภายหลังจากที่ผู้ฟ้องคดีได้สั่งการตามมาตรการที่ 1 แล้ว ไม่ปรากฎว่ามีราษฎรในท้องร้องเรียนว่าได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายจากการดูดทรายอีกแต่อย่างใด การตัดสินใจดำเนินการตามมาตรการที่ 1 จึงเป็นไปเพื่อแก้ปัญหาตามที่ราษฎรร้องเรียน
ส่วนกรณีที่ปรากฎข้อเท็จจริงตามรายงานของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายว่า ผู้ฟ้องคดี ไม่ยอมสั่งสอบสวนนายสมาน หรือสมาฉันท์ ชมพูเทพ อดีตนายก อบจ.ลำพูน ในประเด็นที่ว่าการว่าจ้างนางสาวจุฑามาศตามสัญญาเลขที่ 2171/2548 ลงวันที่ 18 สิงหาคม 2548 ไม่ได้ดำเนินการตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2535 และระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยวิธีการเกี่ยวกับการขุดลอกแหล่งน้ำสาธารณประโยชน์ที่ตื้นเขิน พ.ศ. 2547 และสัญญาจ้างดังกล่าวไม่มีอยู่ เนื่องจากตามทะเบียนคุมการออกสัญญาจ้างขององค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูนในปีงบประมาณ 2548 มีเลขที่สัญญาจ้างถึงเลขที่ 114/2548 ลงวันที่ 30 กันยายน 2548 เท่านั้น ส่อให้เห็นว่า นายสมาน หรือสมานฉันท์ ในฐานะนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ หรือประพฤติตนผ่าฝืนต่อความสงบเรียบร้อย
กรณีนี้ศาลฯ เห็นว่าการที่ผู้ฟ้องคดีไม่สั่งการให้ดำเนินการสอบสวนหรือสั่งให้นายสมานหรือสมานฉันท์ ชี้แจงข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าวไม่ปรากฏว่าผู้ฟ้องคดีได้ประโยชน์ใดจากการไม่ดำเนินการดังกล่าว อีกทั้งข้อเท็จจริงยังไม่ชัดเจนเพียงพอที่จะรับฟังได้ว่า พฤติการณ์ของผู้ฟ้องคดีเป็นการเอื้อประโยชน์ให้นางสาวจุฑามาศ นายสมาน หรือสมานฉันท์ ได้รับประโยชน์ที่มิควรได้
ส่วนที่นางสาวจุฑามาศได้ดำเนินการดูดทรายต่อ โดยผู้ฟ้องคดีได้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลเพื่อควบคุมการดำเนินการของนางสาวจุฑามาศแล้ว พฤติการณ์ของผู้ฟ้องคดีดังกล่าว ยังไม่ถือเป็นการเอื้อประโยชน์ให้ตนเองหรือผู้อื่นได้ประโยชน์ที่มิควรได้ อันเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ราชการแต่อย่างใด ประกอบกับการดำเนินการหาตัวผู้รับผิดทางแพ่งและทางอาญากรณีองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูนจัดจ้างไม่ถูกต้องนั้น มีองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูนเป็นหน่วยงานของรัฐที่เสียหายจึงย่อมต้องเป็นผู้ดำเนินการเกี่ยวกับความรับผิดทางแพ่งและทางอาญา
ซึ่งแม้ผู้ฟ้องคดีมีส่วนบกพร่องที่ไม่กำกับดูแลให้มีการดำเนินการจัดจ้างโดยถูกต้อง ตามกฎหมาย แต่ก็ไม่ปรากฎข้อเท็จจริงที่แสดงว่าผู้ฟ้องคดีมีเจตนาที่จะไม่กำกับดูแลให้มีการดำเนินการเพื่อเอื้อประโยชน์ให้ตนเองหรือผู้อื่น พฤติการณ์ของผู้ฟัองคดี จึงไม่เป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบเพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นได้ประโยชน์ที่มิควรได้อันเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ราชการซึ่งเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรงตามมาตรา 82 วรรคสามแห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มีมติชี้มูลความผิดวินัยผู้ฟ้องคดีฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการ จึงไม่ถูกต้อง
ศาลฯ จึงพิพากษาเพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 เรื่องดำที่ 5810106เรื่องแดงที่ 0037160 ลงวันที่ 20 เมษายน 2560 ที่ลดโทษผู้ฟ้องคดีจากไล่ออกจากราชการเป็นปลดออกจากราชการ และคำสั่งกระทรวงมหาดไทย ที่ 819/2560 ลงวันที่ 17 พฤษภาคม2560 ที่ลงโทษปลดผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ ทั้งนี้ โดยให้มีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่คำสั่งดังกล่าวมีผลใช้บังคับ
ศาลฯ ยังข้อสังเกตเกี่ยวกับแนวทางหรือวิธีการดำเนินการให้เป็นไปตามคำพิพากษาให้ผู้มีอำนาจตามกฎหมายดำเนินการคืนสิทธิประโยชน์ที่พึงได้รับตามกฎหมายและระเบียบ ที่เกี่ยวข้องให้แก่ผู้ฟ้องคดีเสมือนว่าผู้ฟ้องคดีไม่เคยถูกปลดออกจากราชการ และให้ผู้มีอำนาจตามกฎหมายดำเนินการทางวินัยผู้ฟ้องคดีให้ถูกต้องตามรูปแบบ ขั้นตอน หรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญที่กำหนดไว้ตามกฎหมายต่อไป
*สามารถอ่านคำพิพากษาฉบับเต็มได้ที่ https://drive.google.com/file/d/1dApZeAl45k71wt97buaP0xgO7KMarkJE/view?usp=sharing
ส่วนความคืบหน้าการต่อสู้คดีอาญา ตามผลการชี้มูลของ ป.ป.ช. นั้น คนใกล้ชิดของ นายอุดม พัวสกุล ระบุว่า ศาลอาญาจะมีการนัดไต่สวนในช่วงเดือน เม.ย. 2565 นี้
อนึ่งสำหรับประวัติของนายอุดม พัวสกุล นั้น หลังจากได้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน ต่อมาในเดือน มิ.ย. 2549 ได้ย้ายไปดำรงตำแหน่งเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย และในเดือน พ.ย.ได้ย้ายไปดำรงตำแหน่งเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดอุทัยธานี ในช่วงปี 2551 ได้ดำรงตำแหน่งเป็นอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย ส่วนปี 2555 ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเป็นประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน)