สธ.เผยพบผู้ติดเชื้อโอไมครอนใน กทม. 9 ราย ต่างจังหวัด 3 ราย รวม 11 ราย ยืนยันแล้ว 8 ราย อีก 3 รายรอผลยืนยัน ย้ำทั้งหมดเดินทางมาจากต่างประเทศ ยังไม่พบติดเชื้อในไทย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 13 ธ.ค.2564 นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยถึงผลตรวจการสารพันธุกรรมสายพันธุ์โอมิครอน ว่า ตั้งแต่เปิดประเทศวันที่ 1 พ.ย. 2564 ขณะนี้พบเข้าข่ายต้องสงสัยเป็นสายพันธุ์โอไมครอนในประเทศไทย 11 ราย ยืนยันผลแล้ว 8 ราย อีก 3 รายอยู่ระหว่างรอผลยืนยัน โดยผู้ติดเชื้อทั้งหมดที่พบในประเทศไทยล้วนมาจากต่างประเทศทั้งหมด แบ่งเป็นการตรวจเจอในพื้นที่ กทม. 9 ราย และในพื้นที่ต่างจังหวัด 3 ราย ทั้งนี้ ยังไม่มีการพบการแพร่ระบาดเชื้อโอไมครอนในประเทศไทย
สำหรับรายละเอียดผู้ป่วยที่ตรวจพบเพิ่มเติม ดังนี้
รายที่ 5 เป็นชายไทย อายุ 39 ปี มาจากประเทศไนจีเรีย รายที่ 6 เพศชาย สัญชาติโคลัมเบีย อายุ 62 ปี เดินทางมาจากประเทศไนจีเรีย รายที่ 7 เพศชาย สัญชาติอังกฤษ อายุ 51 ปี เดินทางมาจากสหราชอาณาจักร รายที่ 8 เป็นชายไทย อายุ 37 ปี เดินทางมาจากประเทศแอฟริกาใต้ รายที่ 9 เพศชาย สัญชาติอเมริกัน อายุ 40 ปี เดินทางมาจากสหรัฐอเมริกา เปลี่ยนเครื่องที่เกาหลีใต้ รายที่ 10 เพศชาย สัญชาติเบลารุส อายุ 51 ปี เดินทางมาจากประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และรายที่ 11 เพศชาย สัญชาติอังกฤษ อายุ 31 ปี เดินทางมาจากสหราชอาณาจักร
นพ.ศุภกิจ กล่าวรายงานส่วนผู้เข้าข่ายติดเชื้อโอมิครอน รายที่ 4 เป็นชายไทย อายุ 41 ปี มาจากประเทศดีอาร์คองโก ว่า ขณะนี้ตรวจพบเชื้อในปริมาณน้อย ยังไม่ได้ผลยืนยัน
"ขอประชาชนอย่าวิตกจนเกินเหตุ เนื่องจากสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นปรากฏการณ์ และข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญหลายแหล่งก็ค่อนข้างตรงกันว่า เชื้อโอไมครอน อาการไม่ค่อยรุนแรงมากนัก" นพ.ศุภกิจ กล่าว
นพ.ศุภกิจ กล่าวด้วยว่า ขณะนี้การตรวจพบผู้ติดเชื้อโอไมครอน เป็นการตรวจพบจากผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศเท่านั้น ยังไม่พบที่เกิดการติดเชื้อในประเทศไทยโดยตรง สำหรับกรณีที่หลายคนกังวลว่าอาจจะดิดนการระบาดสายพันธุ์ผสม ขณะนี้ยังไม่พบผู้ติดเชื้อแบบไฮบริดแต่อย่างใด ที่ผ่านมาการระลบาดในประเทศไทยมีการระบาดที่หลากหลายสายพันธุ์แต่ยังไม่เจอการเกิดสายพันธุ์แบบไอบริด สธ.จะมีการเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง และการระบาดของสายพันธุ์โอไมครอน สายพันธุ์ BA1 และ BA2 นั้น ขณะนี้ในประเทศไทยยังพบแค่ AB1 เท่านั้น
นพ.ศุภกิจ กล่าวถึงการระบาดของสายพันธุ์เดลตาในพื้นที่ กทม. ว่า ถือว่าอยู่ในช่วงขาลง เพราะการติดเชื้อการแพร่ระบาดต่ำว่าที่มีการคาดการณ์ไว้ ส่วนจะเรียกได้ว่าเป็นโรคประจำถิ่นหรือไม่นั้นยังไม่มีความชัดเจนมากพอที่จะประกาศให้โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น จะต้องมีการหารือกับผู้เชี่ยวชาญต่อไป
“อย่างไรก็ตาม อย่างที่กล่าวแล้วว่า การพบคนติดเชื้อโอไมครอน เป็นปรากฏการณ์ที่ต้องเกิด เนื่องจากหลายประเทศก็เจอ แต่สิ่งสำคัญเราต้องป้องกันให้ดี และเรามีมาตรการเข้มงวด รวมทั้งทุกคนต้องเข้มมาตรการส่วนบุคคล สวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง ล้างมือบ่อยๆ สิ่งเหล่านี้ละเลยไม่ได้ และให้ไปฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 เพราะลดความรุนแรง ลดเสียชีวิตได้” นพ.ศุภกิจกล่าว