ศบค.รายงานพบผู้ป่วยโควิดรายใหม่ 3,787 ราย เสียชีวิต 20 ราย เป็นผู้สูงวัย-ป่วยเรื้อรัง 100% ด้าน กทม.ยังครองแชมป์ติดเชื้อสูงสุด 631 ราย จับตา 3 จว.ภาคใต้-ชลบุรี-สมุทรปราการยังติดเชื้อเกิน 100 ราย ขณะที่ ‘โอไมครอน’ ลามเพิ่มเป็น 68 ประเทศแล้ว
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 12 ธ.ค.2564 ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด (ศบค.) รายงานสถานการณ์การระบาดประจำวันเพิ่มเติมว่า จากจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ 3,787 ราย และมีผู้เสียชีวิต 20 ราย โดยเป็นผู้สูงอายุ 15 ราย คิดเป็น 75% และผู้ป่วย 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง 5 ราย คิดเป็น 25% ซึ่งหากรวมกันพบมีอัตราการเสียชีวิตสูงถึง 100% และมีปัจจัยเสี่ยงต่อการติดเชื้อ มาจากคนใกล้ชิดถึง คนรู้จัก อาศัยในพื้นที่ระบาด ประกอบอาชีพเสี่ยง และติดเชื้อจากการสัมผัสในครอบครัว
สำหรับจำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศรายใหม่ 10 จังหวัดอันดับสูงสุด ประกอบด้วย กทม.631 ราย นครศรีธรรมราช 349 ราย ชลบุรี 167 ราย สมุทรปราการ 155 ราย สงขลา 145 ราย สุราษฎร์ธานี 125 ราย ปัตตานี 87 ราย เชียงใหม่ 87 ราย ตรัง 87 ราย และพัทลุง 78 ราย
โดยจังหวัดที่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่มากกว่า 100 ราย มี 10 จังหวัด ขณะที่มีจังหวัดที่พบผู้ติดเชื้อ 51-100 ราย จำนวน 18 จังหวัด มีจังหวัดที่มียอดผู้ติดเชื้อ 11-50 ราย 31 จังหวัด มีจังหวัดที่ติดเชื้อเป็นหลักหน่วย 15 จังหวัด และไม่มีรายงานการติดเชื้อ 2 จังหวัด คือ นครพนม และมุกดาหาร
ด้านผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่เดินทางมาจาต่างประเทศ 24 ราย เดินทางมาจากสหราชอาณาจักร 3 ราย ไอร์แลนด์ 1 ราย ฝรั่งเศส 1 ราย รัสเซีย 3 ราย สหรัฐอเมริกา 1 ราย เบลเยี่ยม 2 ราย ตุรกี 4 ราย เม็กซิโก 2 ราย เอสโตเนีย 1 ราย เนเธอร์แลนด์ 1 ราย กัมพูชา 1 ราย มาเลเซีย 1 ราย ลาว 1 ราย และเมียนมา 2 ราย
นอกจากนั้น มีผู้ได้รับวัคซีนโควิดเพิ่ม 144,423 โดส แบ่งเป็น เข็มที่ 1 จำนวน 41,894 ราย เข็มที่ 2 จำนวน 63,520 ราย และเข็มที่ 3 จำนวน 39,009 ราย รวมสะสม 97,321,750 โดส แบ่งเป็น ผู้ได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 จำนวน 49,901,591 ราย คิดเป็น 69.3% ผู้ได้รับวัคซีนเข็มที่ 2 จำนวน 43,297,863 ราย คิดเป็น 60.1% และผู้ได้รับวัคซีนเข็มที่ 3 จำนวน 4,122,296 ราย คิดเป็น 5.7%
นทท.เข้าไทยเดือน ธ.ค. สะสม 7.8 หมื่น ติดเชื้อ 135 คน
ส่วนรายงานการเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร วันที่ 11 ธ.ค.2564 มีผู้เดินทางเข้าประเทศ 7,875 ราย จำแนกเป็น Test and Go 6,568 ราย Sandbox 1,124 ราย กักตัว 7 วัน 46 ราย กักตัว 10 วัน 122 ราย และกักตัว 14 วัน 15 ราย รวมสะสมผู้เดินทางเข้าประเทศจำนวน 78,169 ราย พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 19 ราย สะสมแล้ว 135 ราย
ทั่วโลกป่วยเพิ่ม 502,389 รวมสะสม 269.98 ล้านราย
ขณะที่สถานการณ์ทั่วโลกพบผู้ป่วยเพิ่ม 502,389 ราย รวม 269,985,626 ราย อาการหนัก 88,823 ราย หายป่วย 242,718,281 ราย เสียชีวิต 5,317,622 ราย โดยสหรัฐอเมริกาพบผู้ป่วยเพิ่ม 57,414 ราย รวม 50,762,671 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 446 ราย รวม 817,789 ราย อินเดีย พบเพิ่ม 1,660 ราย รวม 34,684,396 ราย เสียชีวิตสะสม 475,128 ราย บราซิล พบเพิ่ม 3,355 ราย รวม 22,188,179 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 126 ราย รวม 616,859 ราย ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 24
ขณะที่โควิดสายพันธุ์โอไมครอนลามไปแล้ว 68 ประเทศ โดยมีพื้นที่ที่พบผู้ติดเชื้อโอไมครอนเพิ่ม ประกอบด้วย บาห์เรน บังคลาเทศ และไต้หวัน
โควิดลดลงต่อเนื่อง สัปดาห์ที่ผ่านมาเหลือป่วยหนัก 1.34% ตาย 0.07%
สำนักข่าวอิศรา รายงานสถานการณ์ประจำวัน พบผู้ป่วยรายใหม่ 3,787 ราย แบ่งเป็น ผู้ป่วยจากระบบเฝ้าระวังฯ 3,720 ราย ผู้ป่วยจากการค้นหาเชิงรุก 38 ราย ผู้ป่วยภายในเรือนจำ/ที่ต้องขัง 5 ราย และผู้ป่วยมาจากต่างประเทศ 24 ราย รวมป่วยสะสมระลอก เม.ย. 2,139,738 ราย
หากจำแนกรายพื้นที่ แบ่งเป็น กรุงเทพมหานครและปริมณฑล 960 ราย 4 จังหวัดชายแดนใต้ 332 ราย และจังหวัดอื่น 2,466 ราย
ขณะที่มีผู้หายป่วย 5,606 ราย ทำให้มีผู้หายป่วยสะสมระลอกใหม่ 2,068,433 ราย กำลังรักษาตัวอยู่ 51,616 ราย โดยเป็นผู้ป่วยอาการหนัก 1,105 ราย ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ 309 ราย และมีผู้เสียชีวิต 20 ราย รวมผู้เสียชีวิตสะสม 21,077 ราย
ทั้งนี้จำนวนผู้ติดเชื้อ ผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจ และผู้เสียชีวิต เฉลี่ย 7 วัน ระหว่างวันที่ 1 ก.ย.-7 ธ.ค.2564 พบว่า มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยในเดือน ก.ย. มีอัตราผู้ต้องใส่ท่อช่วยหายใจเฉลี่ย 1.86% และมีอัตราผู้เสียชีวิต 0.72% เดือน ต.ค. มีอัตราผู้ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจเฉลี่ย 1.61% และมีอัตราผู้เสียชีวิต 0.57% เดือน พ.ย. มีอัตราผู้ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจเฉลี่ย 1.52% และมีอัตราผู้เสียชีวิต 0.37%
ล่าสุดในช่วงวันที่ 28 พ.ย.-4 ต.ค.2564 (สัปดาห์ที่ 48) มีผู้ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจเฉลี่ย 476 ราย ต่อจำนวนผู้ติดเชื้อ 35,578 ราย คิดเป็น 1.34% และมีผู้เสียชีวิตเฉลี่ย 23 ราย คิดเป็น 0.07% ที่สำคัญมีผู้ได้รับวัคซีนเข็มแรกแล้ว 66.4% โดยกลุ่มผู้สูงวัยและผู้ป่วยเรื้อรังได้รับวัคซีนครอบคลุมแล้วคิดเป็น 70% และ 74.2% ตามลำดับ