สธ.เผยพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 เข้าข่ายเป็นโอไมครอน รายที่ 4 เดินทางจากประเทศดีอาร์ คองโก มีประวัติได้รับแอสตร้าฯ แล้ว 2 เข็ม ย้ำยังไม่มีการติดเชื้อกลายพันธุ์ในประเทศ พร้อมจ่อศึกษาภูมิคุ้มกันคนไทยหลังรับวัคซีน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 9 ธ.ค. 2564 นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ รายงานความคืบหน้าการเฝ้าระวัง และสถานการณ์โควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน ว่า ตั้งแต่มีการระบาดโควิด-19 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และเครือข่าย ได้เฝ้าระวังการตรวจรหัสพันธุกรรมมาโดยตลอด ด้วย 2 วิธี คือ การตรวจเฉพาะตำแหน่งเฉพาะยีน (SNP) เป็นเบื้องต้น และ การถอดรหัสพันธุกรรมทั้งตัว (WGS) เพื่อการยืนยันสายพันธุ์ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าและใช้เวลาในการดำเนินการ
จากการสุ่มตรวจ ตั้งแต่ 1 พ.ย.- 7 ธ.ค. 2564 ทั้งในส่วนของผู้เดินทางมาจากต่างประเทศและคนที่อยู่ในประเทศไทย ทั้งหมด 1,649 ตัวอย่าง พบว่า ส่วนยังเป็นสายพันธุ์เดลต้าเกือบ 99% ยกเว้น 4 รายเป็นโอไมครอน คิดเป็นไม่ถึง 1%
ทั้งนี้ สำหรับการตรวจเชื้อ 1 พันกว่าตัวอย่างกรณีในประเทศจะเลือกมาจากกลุ่มเสี่ยงต่างๆ อาทิ กลุ่มคนมีอาการหนักตามแนวชายแดน คลัสเตอร์น่าสงสัย ผู้รับวัคซีนครบโดสแล้วแต่ยังติดเชื้อ ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง และผู้ติดเชื้อซ้ำ
นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 6 ธ.ค. 2564 ที่ผ่านมา ได้รับตัวอย่างเชื้อมา 1 ราย เป็นชายไทย อายุ 41 ปี เจ้าหน้าที่ยูเอ็น ทราบจากข้อมูลแล็บเบื้องต้น เป็นผู้เดินทางจากประเทศดีอาร์ คองโก เข้าไทยผ่านระบบไม่กักตัว (Test and go) มีประวัติรับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม ตรวจเบื้องต้นวินิจฉัยว่ามีโอกาสเป็นโอไมครอนอีก 1 ราย นับเป็นรายที่ 4 ที่ประเทศไทยตรวจพบ
“สรุปไทยมีคอนเฟิร์มโอไมครอน 3 ราย เป็นชาวอเมริกัน 1 ราย และเป็นหญิงไทย 2 ราย ที่เดินทางจากประเทศไนจีเรีย ส่วนรายที่ 4 เป็นชายไทย เดินทางมาจากต่างประเทศ ย้ำว่ายังไม่พบเคสที่เกิดขึ้นในประเทศ ขณะนี้ผลตรวจรายที่ 4 เบื้องต้นมีแนวโน้มว่าจะเป็นโอไมครอน ซึ่งต้องรอผลการตรวจยืนยันอีกครั้ง และทางกรมควบคุมโรคกำลังสอบสวนติดตามผู้สัมผัส” นพ.ศุภกิจกล่าว
นพ.ศุภกิจ กล่าวถึงกรณีที่มีข่าวว่าโอไมครอนมีการกลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์ย่อย เป็น BA 2 หรือโอไมครอนไลค์ ตีเนียนว่า S ยีนหายไปบางส่วน ว่า จากการนำมาตรวจวิเคราะห์ปรากฏว่า S ยีน กลับมา ทำให้มีข้อสงสัยว่า เป็นการหลอกทำให้ตรวจไม่เจอหรือไม่
ขอยืนยันว่า การตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR ยังสามารถตรวจหาได้ ยังสามารถตรวจเจอได้ เพราะขณะนี้ในการตรวจตำแหน่งเฉพาะของยีนส์ มีการตรวจหลายตำแหน่ง คือ HV 69-70 deletion ตำแหน่ง K 417N ตำแหน่ง L452R ตำแหน่ง T478K และตำแหน่ง N501Y เพราะฉะนั้น 4 ราย ที่มีการตรวจเบื้องต้นเป็นโอไมครอน ก็ตรวจจากตรงนี้ จึงเนียนไม่ได้ ยกเว้นว่าจะมีการกลายพันธุ์จนเป็นคนละเรื่องก็ต้องมาพิจารณาสูตรการตรวจกันใหม่ และการตรวจด้วย ATK ยังตรวจเจอได้ แต่ต้องเก็บให้ถูกต้อง
“ขออย่าวิตกกังวลมาก เพราะถึงอย่างไรเชื้อก็ไปทั่วโลก วันนี้มี 4 รายที่เราสุ่มเฝ้าระวัง ถือว่าน้อยมาก แต่สัดส่วนอาจจะมีเพิ่มขึ้นได้ แต่ข่าวดีคือเขาไม่ค่อยรุนแรงนัก ยังไม่มีใครเสียชีวิต ดังนั้นอีกด้านหนึ่งอาจจะเป็นมุมที่ดี แต่ข้อมูลบางคนบอกว่ามีการหลบวัคซีนไฟเซอร์ 2 เข็ม 40 เท่า แต่หากดูข้อมูล จะเห็นว่าจำนวนตัวอย่างเพียง 6 ราย จะเอาเพียงข้อมูลนี้มาบอกทั้งหมดถือว่ายังไม่มีนัยยะสำคัญ แต่มาตรการพื้นฐาน และวัคซีนยังเป็นเกราะป้องกันได้อยู่” นพ.ศุภกิจ กล่าว
นพ.ศุภกิจ กล่าวถึงน้ำยาเฉพาะสำหรับตรวจโอไมครอนว่า น้ำยาเฉพาะจะทำให้ตรวจง่ายขึ้น ตรวจเพียงครั้งเดียว แต่ด้วยวันนี้เกิดขึ้นพร้อมกันทั่วโลก วัตถุดิบบางอย่างเราไม่ได้สามารถผลิตเองทั้งหมด คิวก็ยาว แต่ก็ไม่ได้มีปัญหา เพราะตอนนี้สามารถตรวจสนิปหลายตำแหน่ง ก็ทำให้เจอสายพันธุ์โอไมครอนได้เช่นกัน จึงไม่ได้มีปัญหา
ส่วนอาการของโอไมครอน นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า ขณะนี้ข้อมูลหลายสายตรงกันว่า อาการค่อนข้างไม่รุนแรง จนมีบางคนพูดในเชิงบวกว่า อาจใกล้จบ สุดท้ายจะแพร่เร็วและอาการเหมือนไข้หวัด แต่เราคงเชื่อไปทางซ้ายหรือขวาทีเดียวไม่ได้ ต้องไม่ประมาท ต้องดำเนินการเต็มที่ก่อน
“ เราเริ่มได้ตัวอย่างมาเพาะเชื้อแล้ว ดังนั้น เมื่อได้เชื้อเป็นๆ เราก็จะนำมาเทสกับภูมิคุ้มกันคนไทย ว่าคนที่ฉีดวัคซีนสูตรอะไรก็ตาม ตกลงจัดการกับเชื้อโอไมครอนได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งเรื่องนี้ต้องรอนิดหนึ่ง การเพาะเชื้อต้องใช้เวลา และเชื้ออันตรายการจัดการต้องดี ทั้งนี้ จะพยายามทำให้เร็วที่สุด ” นพ.ศุภกิจ กล่าว