สธ.ยันไทยยังไม่พบผู้สัมผัสเสี่ยงติดเชื้อโอไมครอน เป็นรายที่ 2 หลังพนักงานเสริ์ฟใกล้ชิดตรวจซ้ำรอบ 2 มีผลตรวจเป็นลบ รอตรวจหาเชื้อซ้ำ Day 14 พร้อมเผยผลสำรวจกลุ่มตัวอย่างที่ยังไม่ฉีดวัคซีนกว่า 1 พันคน กว่า 50% ไม่เชื่อมั่นวัคซีน-80% คิดว่าตัวเองไม่เสี่ยง เดินหน้าเสริมครอบครัวจูงใจประชาชนเข้ารับวัคซีนเพิ่ม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 7 ธ.ค.2564 นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กล่าวถึงผลการสอบสวนโรคของนักท่องเที่ยวชาวอเมริกัน อายุ 35 ปี ว่า นักท่องเที่ยวรายนี้มาจากประเทศสเปน ไม่มีผู้สัมผัสเสี่ยงขณะเดินทางด้วยเครื่องบิน เพราะนั่งติดริมหน้าต่างและด้านข้างไม่มีบุคคลอื่น มาถึงประเทศไทยเมื่อวันที่ 30 พ.ย.2564 จากนั้นตรวจหาเชื้อแบบ Drive Thru ที่โรงพยาบาลคู่สัญญาแล้วกลับเข้าโรงแรมในโครงการ Test & Go
ต่อมาวันที่ 3 ธ.ค.2564 พบผลตรวจยืนยันสายพันธุ์โอไมครอน ขณะนี้ยังไม่มีอาการป่วยและจะกักตัวจนครบ 14 วัน ซึ่งเจ้าหน้าที่จะมีการติดตามอาการทุกวันต่อไป
สำหรับผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำ พนักงานในสนามบิน 2 คน ผลตรวจเป็นลบทั้งหมด และพนักงานในโรงแรม 17 คน ผลตรวจเป็นลบ 16 คน อีก 1 คน เป็นพนักงานเสิร์ฟ เพศชาย อายุ 44 ปี สัญชาติไทย ทำหน้าที่เสิร์ฟอาหารและนำเอกสารไปให้ผู้ป่วยเซ็น ได้รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าครบ 2 เข็มแล้ว ตามมาตรฐาน SHA+
โดยวันที่ 1 ธ.ค.64 เวลา 12.00 น. เดินทางไปทำงานที่โรงแรม เวลา 21.30 น. เสิร์ฟอาหารให้กับนักท่องเที่ยวชาวอเมริกัน และนำเอกสารให้เซ็น โดยใส่หน้ากากอนามัยทั้งคู่ หลังออกจากห้องกัก ได้ทำความสะอาดอุปกรณ์ วันที่ 2 ธ.ค. 64 ปฏิบัติงานด้านเอกสารในโรงแรม
หลังจากนั้นวันที่ 3 ธ.ค.64 เดินทางกลับบ้าน จ.อุบลราชธานี พร้อมครอบครัว เดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัว มีการแวะรับญาติที่ จ.นครราชสีมา 1 คน และแวะตลาดแถวบ้าน โดยใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา วันที่ 4 ธ.ค.64 ได้รับแจ้งเป็นผู้สัมผัสผู้ป่วยโควิด จึงเข้ารับการตรวจเก็บตัวอย่างที่ โรงพยาบาลพิบูลมังสาหาร ส่งตรวจที่สถาบันบำราศนราดูร และเดินทางกลับ กทม. วันที่ 6 ธ.ค.64 ทราบผลตรวจสงสัยเป็นบวก เนื่องจากค่า CT เกิน 36 และเข้ารับการกักตัวที่สถาบันบำราศฯ
“แต่เมื่อตรวจซ้ำ day 7 ผลออกเวลา 12.00 น. วันนี้ ไม่พบเชื้อ หลังจากนี้จะตรวจซ้ำครั้งที่ 3 ใน day 14 หรือวันที่ 12-13 ธ.ค.ที่จะถึงนี้ และกักตัวที่บำราศ 14 วัน ส่วนผู้สัมผัสใกล้ชิดในครอบครัวทั้งหมด อยู่ระหว่างการสังเกตอาการ" นพ.จักรรัฐ กล่าว
นพ.จักรรัฐ กล่าวอีกว่าล่าสุดโอมิครอน พบใน 54 ประเทศ เป็นการติดเชื้อในประเทศ 19 ประเทศ ส่วนอีก 35 ประเทศ พบการติดเชื้อในผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ไม่มีอาการหรือมีอาการน้อย และยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตออกมา
ทั้งนี้มาตรการป้องกันโอไมครอนที่สำคัญ ยังคงเป็นมาตรการฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมที่สุด และมาตรการส่วนบุคคล สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือ และเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล พร้อมเน้นย้ำให้ผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีน เข้าฉีดวัคซีน อย่างไรก็ตามต่อจากนี้จะมีการยกระดับการเฝ้าระวัง ช่องทางเข้าออกประเทศ และสถานที่ท่องเที่ยว ส่วนกรณีพบคลัสเตอร์ จะมีการส่งตัวอย่างเชื้อที่พบจากผู้เดินทางที่น่าสงสัยไปตรวจหาสายพันธุ์โอไมครอนที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ต่อไป
"ผู้ป่วยจากสายพันธุ์โอไมครอน ส่วนใหญ่จะมีอาการน้อยคล้ายไข้หวัดใหญ่ ยังไม่มีรายใดเสียชีวิต หากสถานการณ์ยังเป็นแบบนี้ อาจช่วยให้การเปิดประเทศของเราประสบความสำเร็จมากขึ้น และจะเข้าสู่วิถีนิวนอร์มอล ใช้ชีวิตปกติได้เร็วขึ้น เราฉีดวัคซีนครอบคลุมค่อนข้างมากแล้ว ทำให้ช่วยป้องกันโควิดสายพันธุ์ที่เจอยู่ตอนนี้และสายพันธุ์ในอนาคตได้ ย้ำว่าวัคซีนที่เรามีอยู่ยังป้องกันการติดเชื้อและป้องกันการป่วยหนักและเสียชีวิตได้ จึงอยากให้ประชาชนที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนเข้ามาฉีดกัน" นพ.จักรรัฐ กล่าว
'3ช'ปัจจัยที่มีผลต่อการรับวัคซีนโควิด
ด้าน พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวถึงแนวทางการสร้างแรงจูงใจในกลุ่มที่ยังไม่เข้ารับวัคซีนว่า องค์การอนามัยโลก (World Health Organization : WHO) ได้วิเคราะห์ว่าความลังเลใจในการฉีดวัคซีนเป็น 1 ใน 10 ปัญหาในการป้องกันโรค ซึ่งในระดับนานาชาติและไทยนั้น มีเหตุผลที่ยังลังเลใจไม่แตกต่างกัน
ระหว่างวันที่ 22-28 พ.ย.2564 ไปจนถึงวันที่ 5 ธ.ค.2564 ได้สำรวจผู้ที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนกว่า 1,000 ราย โดยเฉพาะกรณีกลุ่มเสี่ยงผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเรื้อรัง และหยิงตั้งครรภ์ พบว่าปัจจัยที่ผลต่อการรับวัคซีนมี '3 ช' คือ 1.เชื่อมั่น 2.ชะล่าใจ และ 3.ช่องทาง
โพลชี้กว่า 50% ไม่เชื่อมั่นวัคซีน-80% คิดว่าตัวเองไม่เสี่ยง
พญ.อัมพร กล่าวอีกว่า สำหรับ 'ความเชื่อมั่นในวัคซีน' พบว่ากลุ่มตัวอย่างไม่เชื่อมั่นในวัคซีนกว่าครึ่ง คิดเป็น 53.81% ทั้งในเรื่องความปลอดภัย ผลข้างเคียง และสูตรวัคซีน ส่วนกลุ่มตัวอย่างที่มีความเชื่อมั่น คิดเป็น 46.19% อย่างไรก็ตามประชาชนทั่วไปเชื่อมั่นในวัคซีนเกินกว่าครึ่ง แสดงให้เห็นว่าองค์ประกอบของความไม่เชื่อมั่นกระทบกับกลุ่มเสี่ยงมากกว่าประชาชนทั่วไป
ส่วน 'ความชะล่่าใจต่อสถานการณ์' พบว่ากลุ่มตัวอย่างที่ปฏิเสธวัคซีนมี 80.89% มองว่าจะไม่เกิดผลเสียหายต่อตนเอง มีความเสี่ยงติดโรคหรือเสี่ยงต่อชีวิต ซึ่งกลุ่มดังกล่าวให้ข้อมูลว่า ในจังหวัดที่อยู่มีการระบาดถึง 50% และมีคนที่รู้จัก 1 ใน 4 ติดเชื้อไปแล้วหรือคิดเป็น 26.59%
ขณะที่ 'ช่องทางการรับวัคซีน' ได้ข้อมูลว่า การเดินทางเข้าสู่การรับวัคซีนเป็นปัจจัยสำคัญ โดยผู้ที่สะดวกเดินทางเข้ารับวัคซีนมี 61.61% แต่ไม่สะดวกอยู่ที่ 48.39% ซึ่งคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด และนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (นพ.สจจ.)ได้ขับเคลื่อนจุดฉีดวัคซีนกว้างขวางมากขึ้น และทำงานเชิงรุก ไปฉีดตามชุมชน เพื่ออำนวยความสะดวก นอกจากนี้ระยะที่ผ่านมากลไกการบริหารจัดการ ยังปรับปรุงได้อีก โดยได้รับข้อมูลจากประชาชนว่า กลุ่มที่ยังไม่ฉีดวัคซีนมาจากความไม่สะดวกของการนัดหมาย เพราะมีแอปพลิเคชันหลายชนิด การทำงานไม่เป็นเนื้อเดียวกัน ทำให้เกิดความไม่สะดวกของการนัดหมายถึง 47.06%
พญ.อัมพร กล่าวอีกว่า ทั้ง 3 ช ที่ผ่านมามีทีมเชิงรุกออกไปทำงาน เพื่อขยายการฉีดวัคซีนได้อย่างเต็มที่ ยืนยันว่า ขณะนี้วัคซีนมีเพียงพอสำหรับแต่ละพื้นที่ อย่างไรก็ตาม หากพบเห็นใครลังเลในการฉีดวัคซีน ขอให้ประสานไปยังหน่วยงานสาธารณสุข หรืออาสาสมัครประจำหมู่บ้าน (อสม.) ในการเข้าไปช่วยดูแล เสริมกับครอบครัวในการจูงใจคนยังไม่ฉีดวัคซีนเข้ามาฉีด ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุขได้ติดอาวุธให้กับ อสม.และบุคลากรสาธารณสุขแล้ว โดยใช้เครื่องมือที่เรียกว่า VA (Vaccine Advice) และ VI (Vaccine Intervention) คือ สอนการถามให้เป็น ว่ากังวลใจเรื่องอะไร สงสัยอะไร และให้กำลังใจให้เป็น และเมื่อมีข้อมูลทีี่ถูกต้องจะต้องชื่นชม แต่หากไม่ใช่ เราจะต้องอธิบาย เพื่อให้ความลังเลนั้นหายไป ซึ่งกลไกลดังกล่าวทำให้ผู้ลังเลฉีดวัคซีนกว่า 1,188 คน ยอมรับการฉีดวัคซีนด้วยความเต็มใจไปถึง 80% เพื่อให้การฉีดวัคซีนจากปัจจุบันกว่า 95 ล้านโดสไปจนถึง 100 ล้านโดสในอนาคตอันใกล้นี้
มีสติ-รับฟังข้อมูลที่ถูกต้อง ลดความวิตก'โอไมครอน'
พญ.อัมพร กล่าวถึงการสื่อสารเพื่อการลดข้อวิตกกังวลต่อโควิดสายพันธุ์โอมิครอน ว่า เราสามารถเปลี่ยนแปลงการตกใจ เป็นพลัง ด้วยการมีสติ ตั้งหลักดีๆ ในการรับรู้ข่าวสาร เมื่อได้ข้อมูลให้ทบทวนให้ดี และถามตนเองว่า กังวลใจเรื่องอะไร และเรายังขาดข้อมูลอะไร รวมทั้งจะมีวิธีการจัดการสถานการณ์อย่างไร ที่สำคัญต้องชื่นชมตัวเองว่า เรามีสติในการถามข้อมูลที่ถูกต้อง ถามจากแหล่งข้อมูลน่าเชื่อถือ และพร้อมรับฟัง สิ่งเหล่านี้จะลดความตื่นกลัวได้