สธ.ยันพบผู้ติดเชื้อโอไมครอนคนแรกในไทย เป็นนักท่องเที่ยวอเมริกัน จากสเปน แต่ยังไม่ทราบว่ามีประวัติไปแอฟริกาหรือไม่ ย้ำอย่ากังวล พร้อมจ่อเพิ่มมาตรการตรวจจีโนม-คุมเข้มชายแดนมาเลเซีย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 6 ธ.ค. 2564 นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงข่าวประเด็นสถานการณ์และความคืบหน้าการเฝ้าระวังสายพันธุ์โอไมครอนว่า ปัจจุบันภาพรวมการติดเชื้อโควิดในประเทศไทยเกือบ 100% ยังคงเป็นสายพันธุ์เดลต้า มีอัลฟ่าเล็กน้อย ส่วนเบตาอยู่ในพื้นที่วงจำกัด ขณะที่สัปดาห์ก่อนมีการสุ่มตรวจหาสายพันธุ์โควิดราว 800 ราย ส่วนใหญ่ยังเป็นเดลตามากถึง 99.87%
ส่วนเกณฑ์ในการสุ่มตรวจสายพันธุ์โควิด-19 จะพิจารณาจากผู้ป่วยมีอาการหนัก เดินทางมาจากต่างประเทศ หรือเกิดคลัสเตอร์แบบไม่ทราบสาเหตุขึ้น ซึ่งโดยปกติจะมีการตรวจ 3 รูปแบบ ได้แก่ 1) RT-PCR ใช้เวลา 1-2 วัน 2) Target Sequencing ดูรหัสพันธุกรรม ใช้เวลา 3 วัน และ 3) ตรวจจีโนม ตรวจรหัสพันธุกรรมเชื้อทั้งหมดใช้เวลาราว 7 วัน
ทั้งนี้ ขณะนี้ยังไม่มีน้ำยาเฉพาะที่จะตรวจหาสายพันธุ์ใหม่โอไมครอนด้วยวิธีRT-PCRซึ่งใช้เวลาเร็วที่สุด1-2 วัน จะต้องใช้เวลาพัฒนาอีก 2 สัปดาห์
อย่างไรก็ตาม กรมวิทย์ฯ ได้พัฒนาเทคนิคการตรวจหาโอไมครอนให้ได้โดยเร็วในระหว่างที่ยังไม่มีน้ำยาเฉพาะ เพื่อให้ศูนย์วิทย์ทั่วประเทศสามารถตรวจสายพันธุ์โอไมครอนได้รวดเร็ว
นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า ช่วงที่ผ่านมาพบ ผู้ต้องสงสัยผู้ติดโควิดสายพันธุ์โอไมครอนรายแรกในประเทศไทย เป็นนักท่องเที่ยวชายชาวอเมริกัน อายุ 35 ปี เดินทางมาจากประเทศสเปน เข้าไทยด้วยรูปแบบ Test and Go จากการเก็บตัวอย่างครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 30 พ.ย. 2564 พบว่าโอกาสเป็นสายพันธุ์โอไมครอนสูงถึง 99.92% และตรวจเชื้อซ้ำเมื่อ 3 ธ.ค.ที่ผ่านมา เบื้องต้นค่อนข้างแน่นอนว่า เป็นสายพันธุ์โอไมครอน รายแรกของไทย แต่ยังไม่ทราบว่ามีประวัติไปแอฟริกาหรือไม่ และหลังจากนี้ จะทำการตรวจซ้ำครั้งที่ 3 เพื่อให้ได้ผลยืนยัน 100%
"ขณะนี้ประเทศไทยพบสายพันธุ์โอมิครอนเป็นรายแรกในประเทศไทยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และคาดว่าจะมีรายต่อ ๆ ไปตามมา แต่ขอประชาชนอย่าเพิ่งตื่นตระหนก ในส่วนของมาตรการต่อจากนี้ไปจะมีการสุ่มตรวจจีโนมมากขึ้น โดยเฉพาะชายแดนมาเลเซียที่พบมีการติดโควิดโอมิครอนเช่นเดียวกัน" นพ.ศุภกิจกล่าว
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า การกลายพันธุ์ของไวรัสโควิด-19 พบได้ตลอดเวลา โดยต้องเฝ้าระวังการกลายพันธุ์ที่ทำให้ระบาดมากขึ้น มีอาการป่วยรุนแรงมากขึ้น ดื้อยา วัคซีนมีประสิทธิภาพลดน้อยลง ซึ่งพบในสายพันธุ์แกรมมjา อัลฟ่า บีต้า และเดลต้า ล่าสุดคือสายพันธุ์โอไมครอน ขณะนี้ยังมีข้อมูลอย่างเป็นทางการไม่มากนัก คาดการณ์ว่าการระบาดโรคโควิด-19 จะใกล้เคียงกับโรคไข้หวัดใหญ่ คือความรุนแรงของโรคลดน้อยลง
ปัจจุบัน พบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอไมครอนแล้ว 46 ประเทศ โดยประเทศไทยเป็นประเทศที่ 47 จำแนกเป็นการติดเชื้อในประเทศ 15 ประเทศ พบเชื้อในผู้เดินทาง 31 ประเทศ ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่ายังไม่พบผู้เสียชีวิตจากสายพันธุ์โอไมครอน โดยสายพันธุ์นี้เริ่มต้นระบาดในแอฟริกาใต้ ในช่วง ปลายเดือน พ.ย.2564 พบการพุ่งขึ้นของผู้ป่วย ตรวจพบการกลายพันธุ์จีงรีบรายงานไปยัง WHO
นพ.โอภาส กล่าวด้วยว่า สำหรับผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอไมครอน ขณะนี้ในประเทศไทย พบเพียง 1 คน ส่วนผู้ป่วย เพศหญิง ชาวแอฟริกันที่เข้ารับการรักษาที่สถาบันบำราศนราดูร มีผลตรวจยืนยันแล้วว่าเป็นสายพันธุ์เดลต้า ส่วนผู้ติดเชื้อโอไมครอน เป็นเพศชาย อายุ 35 ปี ชาวไทยสัญชาติอเมริกัน พักอยู่ในประเทศสเปนเป็นเวลา 1 ปี อาชีพนักธุรกิจ ได้รับวัคซีนจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน 1 เข็ม เมื่อวันที่ 28 มิ.ย.2564 ต่อมาวันที่ 28 พ.ย. 2564 ตรวจ RT-PCR ที่สเปน ผลไม่พบเชื้อ วันที่ 19 พ.ย. 64 ออกจากสเปนไปพักที่ดูไบ และวันที่ 30 พ.ย.64 เดินทางจากดูไบมายังประเทศไทย ในโครงการ Test and Go ต่อมาได้รับแจ้งจากโรงพยาบาลว่า ตรวจพบเชื้อโควิด-19 ในวันที่ 1 ธ.ค. 2564 และวันที่ 3ธ.ค. 2564 ได้ส่งตัวอย่างเชื้อตรวจยืนยันที่กรมวิทย์ฯ ผลตรวจสารพันธุกรรม 99.92% คาดว่าเป็นเชื้อสายพันธุ์โอไมครอน
นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า ผู้ติดเชื้อโอไมครอนรายนี้ไม่มีอาการ ไม่มีโรคประจำตัว ขณะแรกรับอาการปกติ แต่ผลตรวจพบเชื้อ การสอบสวนโรคไม่พบผู้สัมผัสเสี่ยงสูง เพราะไม่นั่งติดกับผู้โดยสารอื่น และสวมหน้ากากตลอดเวลา แต่ได้เฝ้าระวังและตรวจหาเชื้อในในกลุ่มผู้เสี่ยงต่ำ จนกว่าจะครบระยะฟักตัวของโรค ขณะนี้ยังไม่พบผู้เติดเชื้อเพิ่มเติมจากผู้ป่วยรายแรก
อย่างไรก็ตาม สายพันธุ์โอไมครอน ดูเหมือนจะแพร่เร็วขึ้น 2-5 เท่า ส่วนใหญ่ผู้ป่วยไม่มีอาการ ทำให้แยกอากการจากสายพันธุ์อื่นได้ยาก ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ไม่ต้องเข้ารับาการรักษาในโรงพยาบาล โดย ศูนย์ควบคุมโรคติดต่อสหรัฐอเมริกา (CDC) แนะนำให้ฉีดวัคซีนครอบคลุมมากที่สุด
สำหรับประเทศไทย ผู้ที่ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม ขณะนี้มีแผนที่จะเร่งบูสเตอร์โดส ภายในเดือน ธ.ค.นี้ โดยขอให้รอฟังประกาศจากกระทรวงสาธารณสุข ทั้งนี้วัคซีนถือเป็นมาตรการสำคัญ ควบคู่กับการป้องกันส่วนบุคคลแบบครอบจักรวาล
“โอไมครอนติดต่อผ่านละอองฝอยน้ำลาย การแพร่ระบาดผ่านอากาศ หรือพื้นที่อับพบได้น้อย ทั้งนี้วัคซีนยังมีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อ 50-80% และป้องกันการเสียชีวิตและลดความรุนแรงของโรคถึง 80-90%” นพ.โอภาสกล่าว
ด้านนายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีจะร่วมกับกระทรวงสาธรณสุขและคณะแพทย์ และผู้ทรงคุณวุฒิ ที่ปรึกษา เพื่อติดตามพัฒนาการสถานการณ์โควิดอย่างใกล้ชิด โดยขณะนี้ ยังไม่มีการเปลี่ยนแนวทางหรือนโยบาย ซึ่งทุกอย่างจะต้องมีการนำเข้าสู่ที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด (ศบค.) ในครั้งต่อไป