สธ.เผยผลตรวจภูมิคุ้มกันคนไทยไม่เคยฉีดวัคซีน-ไม่ได้รับการวินิจฉัยติดโควิด พบภาพรวมประเทศติดเชื้อไม่รู้ตัว 1.4% ชี้ให้เห็นว่าคนหลุดระบบตรวจไม่มาก ยันมีเตียงว่างเพียงพอรองรับ หากมีการระบาด พร้อมเปิดโรงพยาบาลสนาม-ฮอสพิเทล
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 3 ธ.ค.2564 นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงข่าวความก้าวหน้าการตรวจแอนติบอดีต่อโควิดของคนที่ยังไม่ได้รับวัคซีน ว่า การเกิดภูมิคุ้มกัน จะเกิดขึ้นจาก 2 กรณี คือ 1.ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด และ 2.การป่วยจากโควิดและหายแล้ว
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตั้งโจทย์สำรวจหาภูมิคุ้มกันในคนไทย ในช่วงเดือน พ.ย. 2564 ที่มีการฉีดวัคซีนและติดเชื้อจำนวนหนึ่ง เพื่อหาคนที่ยังได้ไม่ฉีดวัคซีนและไม่มีประวัติตรวจพบเชื้อ แต่มีภูมิคุ้มกันขึ้น ซึ่งแปลว่าติดเชื้อไม่รู้ตัว และไม่ได้รับการวินิจฉัย เพื่อมาดูว่าเราตรวจน้อยเกินไปหรือไม่ และให้รู้ว่าคนเหล่านี้หากไม่ภูมิคุ้มขึ้นเลย ก็มีโอกาสติดเชื้อไปจนถึงเสียชีวิตได้ ที่สำคัญข้อมูลตรงนี้จะนำไปสู่การเดินหน้าฉีดวัคซีนในบางพื้นที่เพิ่มเติม
นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า การศึกษาครั้งนี้ผ่านคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยแล้ว โดยสุ่มตัวอย่างในช่วงอายุ 18-60 ปี ไป 26,717 ราย แบ่งเป็นชาย 48% และหญิง 52% จาก 12 เขตสุขภาพ รวม 30 จังหวัด ยกเว้นเขตสุขภาพที่ 13 คือ กรุงเทพมหานคร (กทม.) เนื่องจากมีการฉีดวัคซีนเกิน 100% แล้ว
การสำรวจหาแอนติบอดีครั้งนี้จะใช้วิธีการเจาะเลือด โดยผู้ถูกเจาะเลือดจะถูกถาม 2 คำถาม คือ ยังไม่เคยฉีดวัคซีน และไม่เคยถูกวินิจฉัยว่าติดโควิด จากนั้นหากได้รับความยินยอมจะเจาะเลือด ตรวจหาแอนติบอดีต่อโควิด
ผลสำรวจเบื้องต้นพบว่า ภาพรวมทั้ง 12 เขตสุขภาพ พบติดเชื้อไม่รู้ตัว 1.4% แต่หากติดเชื้อแล้วเข้าสู่ระบบพบทั้ง 13 เขตสุขภาพ มี 2.6% อย่างไรก็ตามหากพิจารณาเฉพาะติดเชื้อไม่รู้ตัว เมื่อเทียบกับติดเชื้อเข้าระบบเพราะมีการตรวจ RT-PCR ยังถือว่าไม่มาก ทั้งนี้เมื่อพิจารณาภาพรวมมีภูมิคุ้มกัน 13 เขตสุขภาพเบื้องต้นประมาณ 58.7% ของจำนวนประชากรพื้นที่ที่สำรวจ โดยแบ่งเป็นเขตสุขภาพได้ ดังนี้
-
เขตสุขภาพที่ 1 สุ่มตรวจจังหวัดลำปาง ลำพูน พะเยา จำนวน 1,416 คน ติดเชื้อไม่รู้ตัว 0.4%
-
เขตสุขภาพที่ 2 สุ่มตรวจจังหวัดเพชรบูรณ์ พิษณุโลก จำนวน 1,431 คน ติดเชื้อไม่รู้ตัว 1.7%
-
เขตสุขภาพที่ 3 สุ่มตรวจจังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี จำนวน 1,366 คน ติดเชื้อไม่รู้ตัว 0.4%
-
เขตสุขภาพที่ 4 สุ่มตรวจจังหวัดปทุมธานี สิงห์บุรี จำนวน 1,382 คน ติดเชื้อไม่รู้ตัว 2.5%
-
เขตสุขภาพที่ 5 สุ่มตรวจจังหวัดกาญจนบุรี สมุทรสงคราม จำนวน 1,084 คน ติดเชื้อไม่รู้ตัว 2.7 %
-
เขตสุขภาพที่ 6 สุ่มตรวจจังหวัดชลบุรี ตราด ฉะเชิงเทรา จำนวน 2,517 คน ติดเชื้อไม่รู้ตัว 2.8 %
-
เขตสุขภาพที่ 7 สุ่มตรวจจังหวัดขอนแก่น กาฬสินธุ์ มหาสารคาม จำนวน 3,726 คน ติดเชื้อไม่รู้ตัว 1.2 %
-
เขตสุขภาพที่ 8 สุ่มตรวจจังหวัดอุดรธานี สกลนคร บึงกาฬ จำนวน 3,137 คน ติดเชื้อไม่รู้ตัว 0.9 %
-
เขตสุขภาพที่ 9 สุ่มตรวจจังหวัดชัยภูมิ บุรีรัมย์ สุรินทร์ จำนวน 4,084 คน ติดเชื้อไม่รู้ตัว 1.0 %
-
เขตสุขภาพที่ 10 สุ่มตรวจจังหวัดศรีสะเกษ อุบลราชธานี อำนาจเจริญจำนวน 3,702 คน ติดเชื้อไม่รู้ตัว 0.5%
-
เขตสุขภาพที่ 11 สุ่มตรวจจังหวัดชุมพร ระนอง นราธิวาส จำนวน 1,744 คน ติดเชื้อไม่รู้ตัว 1.1 %
-
เขตสุขภาพที่ 12 สุ่มตรวจจังหวัดนราธิวาส สตูล จำนวน 1,128 คน ติดเชื้อไม่รู้ตัว 6.2 %
“สังเกตว่าภาคอีสานจะค่อนข้างต่ำ ส่วนภาคใต้ในเขต 12 จะเยอะมาก อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาข้อมูลจากกรมควบคุมโรคระหว่าง 2-3 เดือนที่เก็บตัวอย่างพบว่า มีการติดเชื้อสะสม 1.8 ล้านราย จากฐานประชากร 72 ล้านคน อัตราความชุกของการติดเชื้อ 2.6% ดังนั้น หากเอาเปอร์เซ็นต์ติดเชื้อโดยธรรมชาติ การฉีดวัคซีน มารวมกับข้อมูลที่เราไปหามาได้ ก็จะพบสัดส่วนของภูมิคุ้มกันประชากร เมื่อนำมาเทียบกันก็จะพบคนที่ยังไม่มีภูมิคุ้มกันอะไรเลย มีโอกาสติดเชื้อ ดังนั้น พื้นที่ใดมีจำนวนกลุ่มดังกล่าวเยอะ จะต้องเร่งการฉีดวัคซีนให้มากขึ้น” นพ.ศุภกิจ กล่าว
นพ.ศุภกิจ กล่าวเพิ่มเติมว่าว่า จากการสำรวจพบอีกว่า มี 3-4 เขตสุขภาพที่สุ่มตรวจพบคนติดเชื้อไม่รู้ตัว มากกว่าคนติดเชื้อที่อยู่ในระบบ แต่ภาพรวมก็ถือว่าต่ำ ยกตัวอย่าง เขตสุขภาพที่ 10 พบติดเชื้อในระบบ 0.3% แต่เมื่อสุ่มตรวจพบติดเชื้อเพิ่มมาอีก 0.5% ซึ่งรวมแล้ว 0.8% แต่สำหรับเขตสุขภาพที่ 12 ตรวจพบเชื้อในระบบ 3.6% แต่เราตรวจเจออีกประมาณ 5-6% ที่ติดเชื้อไม่รู้ตัว สิ่งเหล่านี้จึงต้องส่งสัญญาณ
“กรณีติดเชื้อไม่รู้ตัว อาจไม่ใช่ไม่รู้ตัวจริงๆ แต่เป็นไปได้ที่มาจากการตรวจชื้อด้วย ATK แล้วผลเป็นบวก และเข้าระบบ Home Isolation ช่วงนั้นไม่มีการรายงาน ขณะที่โดยหลักกรณีคนตรวจ ATK เป็นบวกและเข้าอยู่ในศูนย์กักกันชุมชน Community Isolation หรือโรงพยาบาล เมื่อตรวจ ATK แล้วก็จะตรวจ RT-PCR ซ้ำอีกครั้ง ซึ่งตรงนี้จะมีการรายงานเข้ามาในระบบ ดังนั้นกรณีติดเชื้อไม่รู้ตัว ส่วนหนึ่งอาจมาจากตรวจ ATK เป็นบวกแล้วรักษาตัวที่บ้านก็เป็นได้ เพราะไม่ได้ตรวจ RT-PCR ซ้ำ ซึ่งได้รับรายงานจากภาคใต้ว่า ส่วนหนึ่งมาจากจุดนี้ และก็มีส่วนหนึ่งที่ติดเชื้อแล้วไม่ทราบว่าติด” นพ.ศุภกิจ กล่าว
นพ.ศุภกิจ กล่าวอีกว่า อย่างหลายประเทศพบติดเชื้อ 10% แต่เมื่อมีการตรวจแอนติบอดีขึ้นเป็น 80% ก็มี ประเทศพวกนี้ข้อสังเกตคือ อัตราป่วยตายจะสูง ส่วนไทยที่คนตั้งข้อสังเกตว่า ป่วยลดเหลือ 4-5 พันจริงหรือไม่ ก็ต้องดูคนเสียชีวิต หากเสียชีวิตเป็น 100 ก็ไม่จริง แต่ขณะนี้ลดลงมาด้วยกัน จึงเชื่อได้ว่า ข้อมูลขณะนี้สถานการณ์ประเทศ หากไม่มีอะไรซ้ำเติมก็ถือว่าค่อนข้างลง
ขณะที่ นพ.ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ แถลงข่าวการบริหารจัดการเตียงผู้ป่วยโควิด 19 ว่า ขณะนี้มีเตียงรองรับผู้ป่วยโควิด-19 จำนวน 194,883 เตียง อัตราครองเตียง 28.8% เฉพาะเตียงสีแดงสำหรับผู้ป่วยหนัก 5,708 เตียง ครองเตียง 45.2% และเตียงสีเหลือง 73,427 เตียง ครองเตียง 44.5% ภาพรวมถือว่ายังมีเพียงพอ ส่วนพื้นที่ต่างจังหวัดไม่รวม กทม. มีโรงพยาบาล 388 แห่ง 63,348 เตียง ครองเตียง 9.8% , ศูนย์พักคอย (Community Isolation : CI) 134 แห่ง 18,168 เตียง ครองเตียง 21.2% และฮอสปิเทลอีก 39,027 เตียง ครองเตียง 19.5% แม้บางจังหวัดผู้ป่วยจะลดลง แต่ยังเตรียมพร้อมที่จะเปิด ภายใน 24 - 72 ชั่วโมง
อย่างไรก็ตาม บางจังหวัดอาจมีการครองเตียงสูง โดยเฉพาะจังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อมากกว่า 100 รายต่อวัน หากเกิดการระบาด จำเป็นต้องใช้เตียงสีเหลืองหรือเตียงสีแดง และเตียงอาจไม่เพียงพอ โดยจังหวัดที่มีการครองเตียงเกิน 70% มี 7 จังหวัด ได้แก่ ขอนแก่น นครศรีธรรมราช พัทลุง กระบี่ สตูล สิงห์บุรี และ สุราษฎร์ธานี ได้ย้ำให้เตรียมเตียงเผื่อไว้ เนื่องจากมีการเปิดประเทศ มีการเดินทางมากขึ้น หรืออาจจะมีการระบาดจากสายพันธุ์โอไมครอน เพื่อไม่ให้มีปัญหาต้องส่งตัวผู้ป่วยข้ามจังหวัด
สำหรับ กทม.มีผู้ป่วย 600-700 รายต่อวัน จำนวนเตียง 3.5 หมื่นเตียง ส่วนใหญ่อยู่ในภาคเอกชน อัตราครองเตียง 23% และเป็นผู้ป่วยที่อาการไม่มาก ส่วนเตียงสีเหลืองและสีแดงจะอยู่ในภาครัฐ ภาพรวมถือว่าเพียงพอและสามารถขยายเพิ่มได้ ส่วนเตียงสีเขียวสำหรับผู้ป่วยไม่มีอาการ หรืออาการเล็กน้อย สามารถเพิ่มได้ไม่จำกัด จากระบบการดูแลที่บ้าน (Home Isolation : HI) ซึ่งหากประชาชนไปตรวจเชื้อที่โรงพยาบาลแล้วพบผลบวก จะเข้าระบบ HI ได้รับอุปกรณ์ดูแลทั้งยา เครื่องวัดออกซิเจน วัดอุณหภูมิ และถุงยังชีพ เป็นเวลา 10-14 วัน หากอาการมากขึ้นจะส่งต่อเข้าโรงพยาบาล ส่วนกรณีได้รับการตรวจเชิงรุกหรือตรวจด้วยตนเองแล้วพบผลบวก ให้โทรสายด่วน 1330 หรือโรงพยาบาลใกล้บ้าน เพื่อรับคำแนะนำการบริการที่เหมาะสม