‘พญ.สุมนี’ เผยโควิดโอไมครอนลามเพิ่มเป็น 39 ประเทศ ตามนักท่องเที่ยวจาก 8 ประเทศเสี่ยงสูงได้แล้ว 50 ราย เหลืออีก 133 รายเร่งติดตามทุกช่องทาง พร้อมเพิ่มการฉีดวัคซีนกลุ่มผู้สูงวัย-ป่วยเรื้อรังครอบคลุมเป็น 80% ป้องกันเชื้อกลายพันธุ์ใหม่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 3 ธ.ค.2564 พญ.สุมนี วัชรสินธุ์ ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ กรมควบคุมโรค ในฐานะผู้ช่วยรองโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด (ศบค.) รายงานสถานการณ์การระบาดของโควิดสายพันธุ์โอไมครอนว่า วันนี้พบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ่นเป็น 39 ประเทศ
โดยประเทศที่พบการติดเชื้อเพิ่ม ได้แก่ กาน่า ฝรั่งเศส นอร์เวย์ ฟินแลนด์ ไอร์แลนด์ สหรัฐอเมริกา ซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ และอินเดีย ส่วนมากพบเชื้อนำเข้า ทั้งนี้หากพิจารณาจำนวนผู้ติดเชื้อโอไมครอนใน 39 ประเทศ พบว่า มีอัตราการติดเชื้อต่ำกว่า 1%
“แสดงให้เห็นว่ายังไม่มีการระบาดของเชื้อโอไมครอนติดต่อกันภายในประเทศด้วยกันเอง” พญ.สุมนี กล่าว
สำหรับการติดตามกลุ่มนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาจากทวีปแอฟริกาเข้ามาภายในประเทศไทยทางสนามบินในกรุงเทพมหานคร และสนามบินในภูเก็ต ตั้งแต่วันที่ 15-27 พ.ย. และ 15 พ.ย.-5 ธ.ค.2564 แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มเสี่ยงสูง 8 ประเทศ (15-27 พ.ย.) และ กลุ่มเสี่ยงต่ำ ประเทศอื่นๆ ในทวีปแอฟริกา (15-27 พ.ย.)
กลุ่มเสี่ยงสูง 8 ประเทศนั้น มีทั้งหมด 133 ราย ประกอบด้วย ผู้ที่เดินทางออกจากประเทศไปแล้ว 61 ราย กลุ่มที่ครบกำหนดกักตัว 14 วัน ไม่ต้องติดตามตัวกลับมาตรวจหาเชื้อซ้ำ 105 ราย และกลุ่มที่ยังไม่ครบ 14 วัน ออกจากสถานที่กักตัวแล้ว 167 ราย กลุ่มนี้จะต้องติดตามเข้าตรวจ RT-PCR ซ้ำ เพื่อให้เรามีความมั่นใจว่าไทยปลอดจากเชื้อโควิดสายพันธุ์โอไมครอน
“ล่าสุดมีรายงานว่าตามตัวได้แล้ว 50 ราย ส่วนอีก 133 ราย มีข้อมูลครบแล้ว กำลังติดตามทุกช่องทางอย่างต่อเนื่อง ทั้งอีเมล แอปพลิเคชันหมอชนะ หรือทางเบอร์โทรศัพท์ที่ลงทะเบียนไว้กับสถานที่พัก ทั้งนี้ ศบค.กำชับให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยให้เน้นย้ำโรงแรมที่พักให้นักท่องเที่ยวลงข้อมูลผ่านทางแอปพลิเคชันด้วย” พญ.สุมนี กล่าว
ส่วนกลุ่มเสี่ยงต่ำ ไม่ต้องตรวจ RT-PCR แต่ขอให้ติดตามอาการตัวเองหลังจาก 14วัน เมื่อออกนอกสถานที่กักตัว หากมีอาการให้ตรวจ RT-PCR
นอกจากนี้เนื่องด้วยสถานการณ์การระบาดของโควิดทั่วโลกเพิ่มขึ้นจากการเปิดประเทศและการกลายพันธุ์ของเชื้อโควิดโอไมครอน พญ.สุมนี กล่าวว่า ที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน (EOC) มีมติเพิ่มการฉีดวัคซีนในกลุ่มผู้สูงอายุและผู้ป่วยเรื้อรังให้ครอบคลุมมากกว่า 80%
โดยจังหวัดที่ฉีดเกิน 80% มีเพียง 11 จังหวัด คือ ปทุมธานี ลำปาง นครพนม บึงกาฬ สกลนคร เชียงใหม่ กทม. สมุทรปราการ อุดรธานี บุรีรัมย์ และสุราษฎร์ธานี ขณะที่กลุ่มจังหวัดที่อยู่ในพื้นที่นำร่องท่องเที่ยวระยะที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. ที่ยังต้องเร่งฉีด ได้แก่ กาญจนบุรี และขอนแก่น ซึ่งยังฉีดได้ไม่ถึง 60% ส่วน พระนครศรีอยุธยา จันทบุรี สุรินทร์ ยังฉีดได้ไม่ถึง 70% รวมถึงพื้นที่นำร่องท่องเที่ยวระยะแรก ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. ประกอบด้วย เพชรบุรี ตราด ระยอง ก็ต้องเร่งฉีดด้วยเช่นกัน เนื่องจากปัจจุบันยังฉีดวัคซีนให้กลุ่มคนเหล่านี้ได้ไม่ 80%