ทีมนักวิจัยไทยอัปเดตความคืบหน้าวัคซีนโควิด ‘จุฬาคอฟ19’ เผยผลทดสอบในมนุษย์ระยะที่ 2 กระตุ้นภูมิดี สู้ไวรัสข้ามสายพันธุ์ จ่อทดสอบเฟส 3 ปลายปี คาดได้ใช้จริงปี 65 ส่วน ‘ใบยา’ อยู่ระหว่างรอผลทดสอบเฟส 1 พัฒนาวัคซีนรุ่น 2 ควบคู่ คาดผลิตออกมาปีหน้า
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 18 พ.ย.2564 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดงานเสวนา CHULA the Impact ครั้งที่ 5 ภายใต้หัวข้อ “ความคืบหน้าวัคซีนโควิดของจุฬาฯ นวัตกรรมของไทย ความหวังของโลก” โดย นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผู้อำนวยการบริหารโครงการพัฒนาวัคซีนโควิด ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงความคืบหน้าการพัฒนาวัคซีนุฬาคอฟ 19 หรือ ChulaCov19 ว่า วัคซีนโควิดนี้ เป็นวัคซีนชนิด mRNA ซึ่งเริ่มดำเนินการทดสอบในมนุษย์ระยะที่ 1/2 ตั้งแต่วันที่ 14 มิ.ย.2564 ที่มีการทดสอบในอาสาสมัคร 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มอายุ 18-55 ปี จำนวน 36 ราย และกลุ่มอายุ 56-75 ปี จำนวน 36 ราย
ฉีดวัคซีน 2 เข็มห่างกัน 3 สัปดาห์ ผลเบื้องต้นในกลุ่มอายุ 18-55 ปี พบว่าวัคซีนกระตุ้นภูมิกันได้ดี ไม่พบอาการข้างเคียงที่รุนแรง โดยอาสาสมัครมีอาการข้างเคียงเล็กน้อยถึงปานกลาง และอาการจะดีขึ้นภายใน 1 ถึง 2 วัน ยังไม่พบผลข้างเคียงรุนแรงอย่างอาการลิ่มเลือด และวัคซีนยังช่วยป้องกันไวรัสข้ามสายพันธุ์ได้ โดยเฉพาะสายพันธุ์อัลฟ่าและเดลต้า
นอกจากนี้ยังได้ทดสอบในกลุ่มอายุ 55-75 ปี และหารือกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อเตรียมการทดสอบในมนุษย์ระยะที่ 2 ต่อไป
“ขณะนี้วัคซีน ChulaCov19 ได้ผลิตในประเทศไทยบรรจุขวดเรียบร้อย รอตรวจคุณภาพเท่านั้น หากทุกอย่างเป็นไปตามแผน จะสามารถเปิดรับอาสาสมัครทดสอบในมนุษย์ระยะที่ 3 ได้ก่อนสิ้นปี 2564 และเริ่มฉีดทดสอบฉีดได้ในช่วงต้นปี 2565 คาดว่าจะเสร็จสิ้นภายในเดือน มี.ค.2565 หลังจากนั้น จะรวบรวมข้อมูลเพื่อขึ้นทะเบียนต่อไป” ศ.นพ.เกียรติ กล่าว
ขณะเดียวกันเราได้เตรียมความพร้อมขยายกำลังการผลิตวัคซีน โดยคาดว่าจะสามารถถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนให้กับบริษัทไบโอเนท-เอเชีย จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิตวัคซีนระดับอุตสาหกรรมในประเทศได้ในไตรมาสแรกของปี 2565 และยังมีการเตรียมความพร้อมพัฒนาวัคซีนรุ่นที่ 2 ที่ตอบสนองต่อเชื้อไวรัสกลายพันธุ์อีกด้วย
ด้าน ภญ.สุธีรา เตชคุณวุฒิ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ CEO & Co Founder บริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด กล่าวว่า วัคซีนใบยา วัคซีนป้องกันโควิดชนิดซับยูนิตสกัดจากใบพืชตระกูลยาสูบสปีชีส์ ’N. benthamiana’ ซึ่งใช้ระบบการผลิต recombinant protein โดยการตัดต่อพันธุกรรมของแบคทีเรียที่ก่อโรคในพืชในใบยาสูบ ปัจจุบันได้ดำเนินการสร้างโรงงานผลิตวัคซีนระดับอุตสาหกรรม เพื่อรองรับการผลิตวัคซีนจากระบบดังกล่าวที่อาคารจุฬาพัฒน์ 14 คาดว่าจะมีกำลังการผลิตจำนวน 1-5 ล้านโดสต่อเดือน
ขณะนี้วัคซีนอยู่ในระหว่างการทดสอบในมนุษย์ระยะที่ 1 โดยเริ่มฉีดให้กับอาสาสมัครตั้งแต่วันที่ 27 ก.ย.ที่ผ่านมา และยังคงต้องติดตามดูในช่วงระยะเวลา 50 วัน ทั้งนี้การทดสอบในมนุษย์ของวัคซีนใบยา มี ศ.นพ.เกียรติ ร่วมเป็นนักวิจัยทางคลินิกด้วย นอกจากนี้ทีมวิจัยเริ่มรับอาสาสมัครกลุ่มผู้สูงอายุ 61-75 ปี เพื่อทดสอบต่อ ซึ่งจะเริ่มฉีดเดือน ธ.ค.นี้
นอกจากนี้ยังพัฒนาวัคซีนรุ่นที่สอง ควบคู่ไปด้วย โดยปรับปรุงสูตรให้สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดีขึ้น และมีการพัฒนาจากเชื้อไวรัสกลายพันธุ์มากกว่า 10 รูปแบบ เพื่อพัฒนาเป็นวัคซีนผสม (Cocktail vaccine) ซึ่งวัคซีนรุ่นที่สองนี้ ปัจจุบันยังอยู่ระหว่างการทดสอบในสัตว์ทดลอง และคาดว่าในปี 2565 จะสามารถผลิตวัคซีนใบยาอีกตัวออกมาได้
ขณะที่ นายบัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวอีกว่า สถานการณ์ของโควิด มีแนวโน้มที่จะแพร่ระบาดต่อเนื่อง และกลายพันธุ์ได้ ดังนั้น สิ่งที่เป็นความหวัง คือ การฉีดวัคซีน และพัฒนาวัคซีนใหม่ๆ เพื่อลดอัตราการป่วยหนัก และเสียชีวิต โดยจุฬาฯ จะเน้นพัฒนานวัตกรรมในการวิจัยวัคซีนในประเทศ ทั้งวัคซีน ChulaCov19 ชนิด mRNA และวัคซีนใบยา ชนิดโปรตีนซับยูนิตสกัดจากใบพืช เพื่อให้ประเทศไทยไม่ต้องพึ่งพาแต่การนำเข้าวัคซีนอีกต่อไป พร้อมทั้งเป็นวัคซีนที่จะสามารถเป็นความหวังของคนทั่วโลกได้ต่อไป
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage