วงเสวนาเผยแนวทางอัปเกรดการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพไทย รับเปิดประเทศ ชี้ต้องชูจุดเด่นวัฒนธรรม ภายใต้หลักการ ‘กินดี อยู่ดี มีความสุข’ พร้อมเดินหน้าการตลาดออนไลน์ ชี้การพัฒนาบ่อน้ำพุร้อน คาดดึงนักท่องเที่ยวได้ 10% แนะเพิ่มบริการสปา ตอบโจทย์นักท่องเที่ยวต่างชาติ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 3 พ.ย.2564 กรมการท่องเที่ยว โดยกองพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว จัดเสวนาเรื่อง “เปิดประเทศอัปเกรดแหล่งท่องเที่ยวไทย” ในหัวข้อท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เปิดโอกาสประเทศไทย เพื่อการพัฒนาแหล่งน้ำพุร้อนและแหล่งท่องเที่ยวเชิงสุขภาพทั่วประเทศ ผ่านระบบออนไลน์
โดย นพ.พันธศักดิ์ ไชยตระกูล ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพ กล่าวว่า ปกติเวลามนุษย์ทำงานหนัก ร่างกายจะต้องพักผ่อน ซึ่งในช่วงการระบาดของโควิดที่ผ่านมา มีผลการวิจัยพบว่าคนมีความเครียดมากขึ้น เพราะต้องอยู่ร่วมกันในบ้านนานขึ้นและไม่มีกิจกรรมการท่องเที่ยวทั้งทางใกล้และทางไกล
มนุษย์มีนาฬิกาชีวภาพ ช่วงกลางวันทำงาน กลางคืนซ่อมแซม นี่เป็นธรรมชาติของร่างกายเรา แต่บางคนทำงานกลางคืน ร่างกายจึงเกิดความล้า เมื่อไม่ได้ท่องเที่ยว ไม่เกิดการพักผ่อน จึงทำให้เกิดความเครียด นอนไม่หลับ และรู้สึกเหนื่อยล้าจนเบื่อหน่าย ไร้ความหวัง แต่เมื่อเกิดการเปิดประเทศท่องเที่ยวจะเห็นว่าตอนนี้ทุกคนเริ่มมีชีวิตชีวา เพราะการทำให้ตัวเองได้ไปท่องเที่ยว ได้อยู่ใกล้ชิดกับธรรมชาติ ทำให้เราเริ่มกลับมามีความหวัง และมนุษย์เราดำเนินชีวิตอยู่ได้ด้วยความหวัง
"การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเริ่มกลับมาอีกครั้งในช่วงการระบาดของโควิด หลังจากในสมัยวิกฤตต้มยำกุ้ง ไทยเราเคยเป็นผู้นำการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์จนโด่งดังมาถึงทุกวันนี้ แต่ในกระแสของโควิดนี้ การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพจะมาแรงมากต่อจากนี้ไป" นพ.พันธศักดิ์ กล่าว
ทั้งนี้ มีผลการศึกษาพบว่านักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพทั้งชาวต่างชาติและคนไทยเอง ต้องการท่องเที่ยวหลากหลายรูปแบบ ทั้งในรูปแบบเพื่อการเสริมสวย เพื่อการดูแลจิตใจและร่างกาย นอกจากนั้นยังมีการท่องเที่ยวด้านอาหาร เพราะประเทศไทยได้รับการขนานนามว่าห้องครัวของโลกและอาหารไทยเป็นอาหารสุขภาพ รวมถึงการท่องเที่ยวด้านสปา ซึ่งเราเคยเป็นแชมป์มาเมื่อ 10 ปีก่อน ดังนั้นหากไทยมีการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพอย่างเข้มแข็ง จนกลายเป็นผู้นำได้ จะช่วยสร้างมูลค่ามหาศาลกลับเข้ามาภายในประเทศ
นพ.พันธศักดิ์ กล่าวถึงแนวทางการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงสุขภาพอีกว่า ประเทศไทยเรามีทรัพยากรและบุคลากรดูแลด้านสุขภาพจำนวนมาก ดังนั้นสิ่งที่เราต้องทำ คือ ควรสร้างการทำงานเป็นทีมและสร้างความมีเอกลักษณ์ ชูจุดเด่นของวัฒนธรรมในแต่ละพื้นที่ เพราะในปัจจุบันเรามักจะทำสิ่งที่เรียกว่า แห่ทำตามกันไป แล้วพอล้ม ก็ไปเริ่มทำกันใหม่
และที่สำคัญต้องใช้หลักการ "กินดี อยู่ดี มีความสุข’"ในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวตามวัฒนธรรมไทย ในเรื่องอาหาร ถือว่าเป็นวัฒนธรรมประจำชาติที่ดีที่สุด ขอให้เราชูอาหารพื้นเมืองอันเป็นเอกลักษณ์ประจำท้องถิ่นออกมา เพราะตนเองเชื่อว่าเมื่อนักท่องเที่ยวเดินทางมาแล้ว ต่างอยากได้สัมผัสกับวัฒนธรรมในแต่ละพื้นที่
ส่วนความอยู่ดีนั้น เราไม่จำเป็นต้องสร้างอาคารติดเครื่องปรับอากาศตามสไตล์ต่างชาติ เราเพียงแต่ต้องทำให้อากาศภายในที่พักอาศัยอยู่เย็น ด้วยเทคนิคทางสถาปัตยกรรมไทยของเราก็เพียงพอแล้ว ให้เขาได้อยู่อย่างมีความสุข เมื่อเขาอยู่ดีเขาจะมีความสุข รวมถึงถ้าเราสามารถนำสมุนไพรไทย วิธีการนวด หรือสร้างบุคลากรให้ความรู้ตามไลฟ์สไตล์ไทยแบบง่ายๆ ซึ่งอาจเชื่อมโยงไปกับการพัฒนาความงามและการลดน้ำหนักที่บุคคลส่วนใหญ่สนใจ จะยิ่งทำให้เขารู้สึกได้มาพักผ่อนอย่างเต็มที่ แถมยังได้ความรู้ติดตัวกลับไปด้วย
ทั้งนี้ที่ผ่านมาเราพูดถึงการพัฒนาการท่องเที่ยวระยะสั้นไปแล้ว แต่การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในระยะยาวเราควรมองลึกไปถึง ‘Long Stay’ หรือการอยู่อาศัยระยะยาว โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงวัย เพราะผู้สูงอายุหลายคนในต่างประเทศอาจต้องการมาพักอาศัยหลบอากาศหนาวในช่วงหน้าหนาวของเขา ซึ่งไทยเราได้รับการยอมรับในเรื่องการดูแลผู้สูงวัย
ขณะเดียวกันภายสำหรับผู้สูงอายุภายในประเทศไทย ก็ควรสร้างการท่องเที่ยวสันทนาการให้ผู้สูงวัยได้ออกมาผ่อนคลาย ลดการเดินภาวะซึมเศร้า เมื่อบุตรหลานมีเวลาดูแลน้อยด้วย
ด้าน นายปรีชา พูลโภคผล ประธานสโมสรน้ำพุร้อนไทยและเจ้าของวารีรัก ฮ็อต สปริง แอนด์ เวลเนส กล่าวถึงการพัฒนาการการท่องเที่ยวน้ำพุร้อนว่า ในช่วงการระบาดของโควิดที่ผ่านมา เรียกว่าถูกปิดกันมานานยาว 2 ปี การเปิดประเทศเป็นความหวัง เพราะการท่องเที่ยวของไทยเราเป็นที่ประจักษ์ในสายตาของนักท่องเที่ยวอยู่แล้ว แต่ในช่วงโควิดได้ซบเซาลง
การท่องเที่ยวน้ำพุร้อน เราพัฒนามาตั้งแต่ปี 1990 แต่การพัฒนาด้านการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพนี้ยังไม่เติบโตเท่าใดนัก เพราะปัจจุบันเรามีน้ำพุร้อนอยู่ 20 จังหวัด รวมทั้งหมดกว่า 130 แห่ง แต่ส่วนใหญ่จะอยู่ในภายใต้การดูแลของหน่วยราชการ 90% จึงอยากให้รัฐบาล คือ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และกระทรวงสาธารณสุขเข้ามาเป็นเจ้าภาพในการพัฒนาเรื่องนี้สู่ระดับสากล เพราะองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) แต่ละจังหวัดยังมีขีดจำกัดในการพัฒนาอยู่ ดังนั้นการท่องเที่ยวที่พบจะเป็นแบบบ้านๆ ซึ่งยังไม่เพียงพอต่อการพัฒนาการท่องเที่ยวสู่ระดับสากล
การเปิดการท่องเที่ยวน้ำพุร้อนที่คลองท่อม จังหวัดกระบี่ แรกเริ่มมีการเปิดให้บริการนักท่องเที่ยวแบบบ้านๆ คิดค่าบริการ 20 บาท ส่งผลการท่องเที่ยวเติบโต 2-3% ต่อมาได้พัฒนามาสู่พื้นที่แช่น้ำพุร้อนแบบสาธารณะ คิดค่าบริการคนไทย 80 บาท ชาวต่างชาติ 200 บาท ทำให้การท่องเที่ยวเติบโต 10% โดยมีนักท่องเที่ยวเข้ามา 700,000 คน จาก 7,000,000 คน และสามารถเก็บค่าบริการในปีที่ผ่านมาได้ 10 ล้านบาท แสดงให้เห็นว่าการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวน้ำพุร้อน ทำให้เศรษฐกิจภายในเติบโต และอนุมานได้ว่าการท่องเที่ยวที่มีน้ำพุร้อนสามารถดึงนักท่องเที่ยวได้ 10%จึงอยากให้ทุกคนช่วยกันขับเคลื่อนให้เร็วและแรงที่สุด
สำหรับการพัฒนานั้น แนะนำให้พัฒนาไปสู่ระดับเมือง คือ เริ่มจากพัฒนาการให้บริการแบบบ้านๆ ไปสู่พื้นที่แช่น้ำพุร้อนแบบสาธารณะ นอกจากนั้นควรมีการส่งเสริมการสร้างแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆควบคู่ด้วยภายในจังหวัด เพื่อให้นักท่องเที่ยวที่มาแช่น้ำพุร้อนได้เดินทางไปเที่ยวต่อ และถ้าเขามีการค้างคืนร่วมด้วย จะช่วยสร้างงานให้กับคนในชุมชนเยอะมาก เพราะนักท่องเที่ยวจะไม่เพียงจ่ายแค่ 200 บาท เป็นค่าบริการน้ำพุร้อนเท่านั้น แต่อาจใช้จ่ายถึง 4,000-5,000 บาทต่อคืน เป็นค่าใช้จ่ายอื่นๆในการท่องเที่ยวภายในจังหวัด
นอกจากนั้นน้ำพุร้อน ยังทำให้เกิดสปาเท้าได้ ซึ่งตรงนี้ญี่ปุ่นเองที่ดังในเรื่องออนเซ็น ก็ยังไม่มีบริการดังกล่าว จึงอยากแนะนำให้ผู้ประกอบการนำไปลองปรับใช้ อย่างไรก็ตามกรณีจังหวัดใดไม่มีน้ำพุร้อน พื้นที่ทะเล น้ำตก และป่า เราก็สามารถพัฒนาสู่พื้นที่บริการสปาเท้าได้
“การพัฒนาน้ำพุร้อนไปสู่สปา ลงทุนไม่มาก แต่ต้องมีการออกแบบวางแผนให้เกิดความยั่งยืนด้วย เพราะน้ำพุร้อนเมืองไทยส่วนใหญ่อยู่ท่ามกลางธรรมชาติ การรักษ์สิ่งแวดล้อมจะช่วยธำรงให้น้ำพุร้อนอยู่ได้อย่างยั่งยืนถาวร เพราะถ้าเราไปตัดป่าเขา น้ำพุร้อนจะแห้ง และหากเราทิ้งขยะไม่ถูกที่ อนาคตน้ำพุจะเสียคุณค่าเช่นกัน ทั้งนี้หากขุดเจาะมากจนเกิดไป ตรงนี้ก็จะยิ่งเสียหาย” นายปรีชา กล่าว
ส่วนนายภาวุธ พงษ์วิทยภานุ กรรมการผู้จัดการ และผู้ก่อตั้งตลาดดอทคอม กล่าวถึงการทำการตลาดด้วยว่า เทรนด์ผู้บริโภคยุคหลังเริ่มค้นหาแหล่งท่องเที่ยวเองแล้ว ซึ่งมักค้นหาผ่านช่องทางออนไลน์ ดังนั้นแนะนำให้มีการสร้างคอนเทนต์ผ่านโซเชียลมีเดีย ถ้าต้องการกลุ่มลูกค้าวัยรุ่นให้ใช้อิสตาแกรม และติ๊กตอก กรณีต้องการผู้ใหญ่ให้ใช้เฟซบุ๊ก
นอกจากนั้นยังควรให้ความสำคัญของมัคคุเทศก์ที่เป็นอีกเสียงสำคัญในการนำเสนอแหล่งท่องเที่ยวให้ชาวต่างชาติได้รับรู้ข้อมูลด้วย ไปจนถึงสมาคมถ่ายภาพ บล็อคเกอร์หรือยูทูปเบอร์ ซึ่งแต่ละกลุ่มมีเครือข่าย ให้เขาช่วยบอกต่อถึงการท่องเที่ยว
"การท่องเที่ยวที่ดีต้องมีการตลาดที่ดีด้วย โดยต้องควบคู่ไปกับการโปรโมททางออนไลน์ ซึ่งเดี๋ยวนี้ออนไลน์สามารเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ดี และเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายทั่วโลก" นายภาวุธ กล่าว
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage