ป.ป.ช.เผยแพร่ความคืบหน้าคดีกล่าวหา ‘จุฬารัตน์ นิรัติศยกุล’ อดีต รษก.เลขากองทุน กฟก. จัดจ้างวิธีพิเศษพีอาร์เร่งด่วน 9 ล้านเอื้อเอกชนมิชอบ ล่าสุดศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำคุก 3 ปี 4 เดือน ไม่รอลงอาญา
สืบเนื่องจากสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) เคยรายงานข่าวว่า เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2563 ที่ผ่านมา ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง มีคำพิพากษาให้จำคุก 3 ปี 4 เดือน ไม่รอการลงโทษ นางจุฬารัตน์ นิรัติศยกุล เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรักษาการเลขาธิการสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) กรณีถูกกล่าวหาว่า ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ด้วยการอนุมัติให้จัดจ้างโดยวิธีพิเศษ และทำสัญญาว่าจ้างมูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนาเป็นผู้รับจ้าง บริหารจัดการโครงการประชาสัมพันธ์กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ค่าจ้างจำนวน 9 ล้านบาท โดยเป็นการอนุมัติโครงการที่มีวงเงินเกินกว่า 5 แสนบาท ที่ไม่มีอำนาจอนุมัติ โดยเป็นกรณีที่สืบเนื่องจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติชี้มูลความผิดเมื่อปี 2562
เมื่อเร็ว ๆ นี้ เว็บไซต์สำนักงาน ป.ป.ช. ได้เผยแพร่ความคืบหน้าคดีนี้ ระบุว่า เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2564 ศาลอุทธรณ์ มีคำพิพากษายืนตามศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ที่มีคำพิพากษา ให้จำคุก 3 ปี 4 เดือน ไม่รอการลงโทษ นางจุฬารัตน์ นิรัติศยกุล
อย่างไรก็ดี คดียังไม่สิ้นสุด จำเลย มีสิทธิต่อสู้คดีเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ในชั้นศาลที่สูงกว่านี้อีกได้
เบื้องต้น คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีการประชุมเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2564 ลงมติเห็นชอบในการที่อัยการสูงสุด (อสส.) จะไม่ฎีกาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
อนึ่ง เกี่ยวกับคดีนี้ ก่อนหน้านี้เมื่อปี 2562 นางจุฬารัตน์ เคยชี้แจงสำนักข่าวอิศราภายหลังถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดว่า ข้อเท็จจริงเรื่องนี้ไม่ใช่การจัดจ้างโครงการประชาสัมพันธ์แต่อย่างใด แต่เป็นการจ้างมูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนา หรือ LDI เพื่อสร้างความรับรู้กับประชาชนให้เข้าใจในการทำงานของกองทุนฟื้นฟูฯ ไม่เหมือนจ้างเอกชนประชาสัมพันธ์งาน เพราะมูลนิธิฯ ไม่สามารถแสวงหาผลกำไรตรงนี้ได้ ส่วนกรณีที่เป็นประเด็นกับทาง ป.ป.ช. นั้น ส่วนตัวเข้าใจว่าเพราะมีผู้ไปร้องถึงอำนาจของรักษาการเลขาธิการสำนักงานฯในการจัดซื้อจัดจ้างในสัญญาเกิน 9 ล้านบาท ว่าเป็นการทำหน้าที่เกินกว่าอำนาจของรักษาการเลขาธิการฯหรือไม่
ส่วนสาเหตุที่ ป.ป.ช.รับเอาข้อร้องเรียนนี้ไปพิจารณา นางจุฬารัตน์ ระบุว่า เพราะดูจากรายงานการประชุม ในรายงานการประชุมนั้นจะมีวาระการพิจารณาแผนประชาสัมพันธ์ แต่ถ้าหากลงลึกในรายละเอียดเกี่ยวกับโครงการนี้ เห็นได้ชัดเจนเลยว่า เป็นการลงมติให้ไปจัดทำแผนงานสร้างความรับรู้ความเข้าใจ ดังนั้นที่ไปที่มาก็มาจากความคลาดเคลื่อนในการจัดทำเอกสารดังกล่าว จนทำให้เข้าใจว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องของการประชาสัมพันธ์ทั้ง ๆ ที่มันไม่ใช่
"จริง ๆ สิ่งที่เราได้ชี้แจงกับ ป.ป.ช. ไปก็คือ ว่าหากไม่ได้มีการอนุมัติตามที่ ป.ป.ช.สงสัย หรือตั้งข้อสังเกตตามที่ได้มีการฟ้องในการประชุมคราวต่อไป ซึ่งต้องมีรายงานตลอดว่าผลการปฏิบัติงานเป็นอย่างไร กรรมการก็ต้องมีการท้วงติงไปว่ามีประเด็นที่ทำไม่ชอบเกิดขึ้น เรายืนยันว่าในการทำงานนั้น รัฐไม่ได้เสียหายแต่อย่างใด และประชาชนเองก็ได้ข้อมูลเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของกองทุนฯด้วย ซึ่งเราสามารถชี้แจงได้ในประเด็นเรื่องขั้นตอนที่บกพร่อง และขอยืนยันได้ว่าไม่มีเรื่องทุจริตแต่อย่างใด" นางจุฬารัตน์กล่าว
อ่านข่าวในหมวดเดียวกันประกอบ :
- คดีที่สอง! อดีตนายก อบต.ท่าหลวง พิจิตร มีส่วนได้เสียอีก 16 โครงการ คุก 50 ปี
- คุกคนละ 6 ปี! อดีตคณบดีสหเวชฯ มศว - พวก 2 ราย แอบอ้างชื่อมหาลัยแสวงหาผลประโยชน์
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage