ไทยพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 9,810 ราย รวมสะสม 1.83 ล้าน หายป่วยกลับบ้านเพิ่ม 10,513 ราย กำลังรักษาตัว 102,317 ราย และเสียชีวิตอีก 66 ราย ขณะที่ กทม.ยอดติดโควิดต่ำกว่าพัน จับตาภาคใต้ เชื้อเริ่มกระจายเข้าสู่ครอบครัว-ชุมชน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 22 ต.ค.2564 พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด (ศบค.) รายงานสถานการณ์ประจำวัน พบผู้ป่วยรายใหม่ 9,810 ราย ติดเชื้อในประเทศ 9,680 ราย มาจากระบบบริการ 9,001 ราย เกิดจากการตรวจคัดกรองเชิงรุก 679 ราย ติดเชื้อในเรือนจำ 120 ราย และอีก 10 รายเดินทางกลับจากต่างประเทศ ทำให้มีผู้ป่วยสะสมทั้งหมด 1,831,389 ราย
ขณะที่มีผู้หายป่วย 10,513 ราย ทำให้มีผู้หายป่วยสะสม 1,710, 447 ราย กำลังรักษาตัวอยู่ 102,317 ราย โดยเป็นผู้ป่วยอาการหนัก 2,585 ราย ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ 583 ราย และมีผู้เสียชีวิต 66 ราย รวมผู้เสียชีวิตสะสม 18,625 ราย
โดยมีผู้เสียชีวิต 66 ราย มาจากกทม.และปริมณฑล 16 ราย 4 จังหวัดภาคใต้ 14 ราย จังหวัดอื่น 35 ราย และเรือนจำ 1 ราย ในจำนวนนี้เป็นผู้สูงอายุ 50 ราย คิดเป็น 76% และผู้ป่วย 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง 12 ราย คิดเป็น 18% ซึ่งหากรวมกันพบมีอัตราการเสียชีวิตสูงถึง 94% และมีปัจจัยเสี่ยงต่อการติดเชื้อ มาจากในครอบครัว คนรู้จัก และ อาศัยหรือเดินทางเข้าไปในพื้นที่ระบาด
สำหรับจำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศรายใหม่ 10 จังหวัดอันดับสูงสุด ประกอบด้วย กทม. 908 ราย สงขลา 676 ราย นครศรีธรรมราช 662 ราย ยะลา 432 ราย ปัตตานี 422 ราย เชียงใหม่ 412 ราย ประจวบคีรีขันธ์ 341 ราย ตาก 309 ราย สมุทรปราการ 307 ราย และนราธิวาส 306 ราย
"ภาคใต้ยังติดอันดับสูงอยู่ ในคลัสเตอร์ที่เราติดตามจะเห็นว่าจากการพบการติดเชื้อเป็นคลัสเตอร์เล็กๆ ตรงนู้นบ้าง ตรงนี้บ้าง ตอนนี้เริ่มมีการกระจายเข้าไปสู่ครอบครัว รวมถึงชุมชน โดยเฉพาะตลาด ดังนั้นต้องฝากให้ประชาชนเฝ้าระมัดระวัง ระลึกเสมอว่าคนที่ใกล้ตัวเรา แม้ว่าจะเป็นเพื่อน ครอบครัว หรือญาติสนิทของเรา เขาอาจเป็นผู้นำพาเชื้อมาสู่ครอบครัวของท่าน คงต้องเฝ้าระวังมาตรการสาธารณสุขอย่างเข้มงวด และขอให้กำลังใจบุคลากรสาธารณสุขที่ทำงานที่ภาคใต้" พญ.อภิสมัย กล่าว
ด้านผู้ป่วยรายใหม่ที่เดินทางมาจากจากต่างประเทศ ทั้งหมด 10 ราย สิงคโปร์ 1 ราย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 1 ราย อินเดีย 1 ราย สหรัฐอเมริกา 1 ราย ไต้หวัน 1 ราย กัมพูชา 2 ราย และเมียนมา 3 ราย
นอกจากนั้น มีผู้ได้รับวัคซีนเพิ่ม 714,104 โดส เป็นเข็มแรกเพิ่ม 318,428 ราย เข็มที่ 2 เพิ่ม 368,380 ราย และเข็มที่ 3 เพิ่ม 27,296 ราย รวมสะสม 69,217,162 โดส แบ่งเป็น ผู้ได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 จำนวน 39,358,277 ราย คิดเป็น 54.6 %ผู้ได้รับวัคซีนเข็มที่ 2 จำนวน 27,774,180 ราย คิดเป็น 38.6% และผู้ได้รับวัคซีนเข็มที่ 3 จำนวน 2,084,705 ราย คิดเป็น 2.9%
มาตราการเปิดรับนักท่องเที่ยว 3 กลุ่ม
พญ.อภิสมัย กล่าวถึงมาตรการเตรียมความพร้อมรับมือเปิดประเทศ ตามคำสั่ง ศบค. ที่17/2564 เรื่องแนวปฏิบัติตามข้อกำหนดมาตรา 9 ฉบับที่ 17 ว่า การเปิดประเทศจะแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ คือ 1.) กลุ่มนักท่องเที่ยวจาก 46 ประเทศที่อนุญาตให้เดินทางเข้าได้โดยไม่ต้องักตัว 2.) การเข้ามาในพื้นที่แซนด์บ็อกซ์ และ 3.) การเข้ามาในสถานที่กักกันตัวต่างๆ
โดยกลุ่มแรก คือ การเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวจาก 46 ประเทศแบบไม่ต้องกักตัว มีเงื่อนไขการเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร ประกอบด้วย เป็นผู้ที่เดินทางมาทางอากาศเท่านั้น, ต้องได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม อย่างน้อย 14 วัน, มีผลตรวจ RT-PCR ไม่เกิน 72 ชั่วโมงก่อนเดินทาง, ทำประกันสุขภาพ อย่างน้อย 50,000 USD, มีใบจองที่พัก และเมื่อเดินทางมาถึงท่าอากาศยานต้องดาวน์โหลดแอปพลิเคชันที่กำหนด และตรวจหาเชื้อ RT-PCR ในวันที่เดินทางมา หรือถัดจากนั้นไม่เกิน 1 วัน ทั้งนี้หากผลตรวจเป็นลบ (ไม่พบเชื้อ) สามารถเดินทางไปต่อได้ โดยไม่ต้องกักตัว แต่ต้องปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุขประเทศเรา อย่าง DMHTT, Universal Prevention และ Covid Free Setting
ส่วนชาวไทยและชาวต่างชาติที่อยู่ในประเทศไทยที่เดินทางกลับประเทศ ไม่จำเป็นต้องมีประกันสุขภาพ และไม่จำเป็นต้องอยู่ประเทศนั้นครบ 21 วัน
กลุ่มที่สอง โปรแกรมแซนด์บ็อกซ์ ที่มีสมุย พังงา และกระบี่ เป็นต้น จะใช้หลักเกณฑ์เดียวกันกับกลุ่มแรก แต่ที่เพิ่มเติม คือ ต้องจองที่พักมาตรฐาน SHA+ ซึ่งต้องเป็นโรงแรมที่อยู่บริเวณแซนด์บ็อกซ์เท่านั้น เป็นเวลา 7 วัน และจะมีการตรวจโควิดในวันที่ 1 หากผลเป็นลบ (ไม่พบเชื้อ) สามารถเดินทางในพื้นที่แซนด์บ็อกซ์ต่อไปได้ ก่อนจะต้องตรวจคัดกรองซ้ำอีกครั้งในวันที่ 6 หรือ 7 ก่อนเดินทางออกจากแซนด์บ็อกซ์
และกลุ่มที่สาม คือ กลุ่มที่ยังไม่ได้รับวัคซีน ได้รับวัคซีนแล้วแต่ยังไม่ครบ ได้รับวัคซีนเข็มสองแล้วแต่ยังไม่ครบ 14 วัน หรือเดินทางมาจากประเทศอื่นนอกหนือจาก 46 ประเทศที่ได้รับอนุญาต ซึ่งกลุ่มนี้สามารถเดินทางเข้าไทยได้ แต่ต้องกักกันตัวในสถานกักกันโรคที่รัฐจัดให้ (SQ) สถานกักกันโรคทางเลือก ที่จัดการโดยเอกชน (ASQ) สถานกักโรคขององค์กร (OQ) หรือสถานที่รองรับผู้ที่ต้องการเข้ารับการรักษาพยาบาล (Hospital Quarantine) ซึ่งจะต้องกักตัว 7-10 วัน ตามเกณฑ์ของแต่ละกลุ่ม และจะต้องตรวจหาเชื้อในวันที่ 1 พร้อมตรวจซ้ำอีกครั้งในวันที่ 6 หรือ 7 (กรณีกักตัว 7 วัน) หรือในวันที่ 8 หรือ 9 (กรณีกักตัว 10 วัน)
ทั้งนี้ ศบค.จะติดตามสถานการณ์การระบาดอย่างใกล้ชิด หากมีการปรับเปลี่ยนจะรีบแจ้งให้ทราบต่อไป
ทั่วโลกป่วยเพิ่ม 461,290 รวมสะสม 243.26 ล้านราย
ขณะที่สถานการณ์ทั่วโลกพบผู้ป่วยเพิ่ม 461,290 ราย รวม 243,262,880 ราย อาการหนัก 76,785 ราย หายป่วย 220,454,233 ราย เสียชีวิต 4,945,205 ราย โดยสหรัฐอเมริกาพบผู้ป่วยเพิ่ม 80,835 ราย รวม 46,174,547 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 1,428 ราย รวม 753,747 ราย อินเดีย พบเพิ่ม 15,759 ราย รวม 34,142,441 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 232 ราย รวม 453,076 ราย บราซิล พบเพิ่ม 16,852 ราย รวม 21,697,341 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 461 ราย รวม 604,764 ราย ส่วนไทยอยู่ในอันดับที่ 24 ของโลก
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage