'เมอร์ค-ริดจ์แบ็ก' ยื่น FDA ขออนุมัติใช้งานฉุกเฉินยาโมลนูพิราเวียร์ใช้รักษาโควิด-19-ด้าน'มาเลเซีย'เผย ยาไม่สามารถทดแทนความต้องการวัคซีนได้
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานสถานการณ์เกี่ยวกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 หรือโคโรน่าไวรัสว่าบริษัทยาได้แก่บริษัท เมอร์ค แอนด์ โค (Merck & Co) และบริษัท ริดจ์แบ็ก ไบโอเทราพิวติกส์ (Ridgeback Biotherapeutics) ได้ประกาศเมื่อวันที่ 11 ต.ค. ว่าทั้ง 2 บริษัทได้มีการยื่นขออนุญาตกับองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาหรือว่า FDA เพื่อจะให้มีการใช้งานยาโมลนูพิราเวียร์ ซึ่งเป็นยาที่มีความหวังว่าจะมีประสิทธิภาพในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 แล้ว
โดยยาโมลนูพิราเวียร์ซึ่งเป็นยารับประทานนั้นได้ถูกใช้ในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19ซึ่งเป็นผู้ใหญ่ที่มีอาการไม่รุนแรงถึงปานกลาง ที่อาจจะมีความเสี่ยงว่าจะมีอาการเลวร้ายลงจนถึงต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ซึ่งข้อมูลจากทางบริษัทระบุว่ายานี้นั้นถูกคิดค้นโดยนักวิจัยที่มหาวิทยาลัยเอมอรีในรัฐแอตแลนตา และกระบวนการใช้ยาโมลนูพิราเวียร์ดังกล่าวนั้นจะเป็นการให้ยาจำนวน 2 ครั้ง หรือ 4 เม็ดต่อวันติดต่อกันเป็นระยะเวลา 5 วัน
ขณะที่ทางบริษัทเมอร์คก็ได้กล่าวว่าถ้าหากยาโมลนูพิราเวียร์ได้รับการอนุมัติฉุกเฉินแล้ว ทางบริษัทก็จะมีการส่งยาโมลนูพิราเวียร์จำนวนกว่า 1.7 ล้านโดสไปให้กับทางรัฐบาลสหรัฐฯเพื่อใช้สำหรับการแจกจ่าย
ส่วนที่ประเทศมาเลเซีย ที่มหาวิทยาลัยมาลายา ทางด้านของ นพ.อวาง บุลกิบา มาห์มุด (Awang Bulgiba Awang Mahmud) ก็ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ว่ายาโมลนูพิราเวียร์ดังกล่าวนี้นั้นจะไม่มีทางเป็นสิ่งที่จะมาทดแทนวัคซีนโควิด-19 แต่อย่างใด
“ยาโมลนูพิราเวียร์นั้นจะเป็นยาที่ถูกใช้งานเพื่อระงับการแบ่งตัวของไวรัส SARS-CoV-2 ดังนั้นจึงหวังว่ามันจะมีประสิทธิภาพในการรับมือกับสายพันธุ์ที่เกิดการกลายพันธุ์ของโปรตีนหนาม ซึ่งนี่จะเป็นข้อได้เปรียบเหนือสารภูมิคุ้มกันหรือว่าแอนติบอดี แต่เราก็ยังต้องดูต่อไปว่าจะมีความเป็นไปได้หรือไม่ที่ไวรัสจะพยายามกลายพันธุ์เพื่อหลีกหนียานี้” นพ.อวาง บุลกิบากล่าว
นพ.บุลกิบากล่าวต่อว่าเนื่องจากว่ายานั้นสามารถจะรับประทานได้ดังนั้นจึงสามารถที่จะนำไปแจกจ่ายให้กับผู้ป่วยนอกได้ แต่อย่างไรก็ตามเขาเชื่อว่ายานี้คงไม่สามารถที่จะมาทดแทนความต้องการวัคซีนได้ เพราะวัคซีนนั้นจะทำงานด้วยการกระตุ้นร่างกายให้ป้องกันตัวเองต่อไวรัสโควิด-19 ซึ่งแตกต่างจากยาที่จะทำงานเมื่อเกิดเผาผลาญในร่างกาย
เรียบเรียงจาก:https://www.usatoday.com/story/news/health/2021/10/11/covid-vaccinations-molnupiravir-antiviral-pill-cases/6083682001/,https://www.thestar.com.my/news/nation/2021/10/11/an-antiviral-to-cure-patients-prevention-antivirals-about-curing
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage