สธ.ประกาศปิดโรงพยาบาลบุษราคัม ในวันที่ 30 ก.ย.นี้ หลังจำนวนผู้ติดเชื้อลดลง สรุป 130 วัน รักษาผู้ป่วยทั้งหมด 20,436 ราย ยันมีเตียงเพียงพอ ไม่กระทบผู้ติดเชื้อใน กทม.-ปริมณฑล หลังจากนี้
----------------------------------------------------
ผู้สื่อข่าวรายงาว่า เมื่อวันที่ 23 ก.ย. 2564 นพ.กิตติศักดิ์ อักษรวงศ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบุษราคัม แถลงข่าว ‘130 วัน ปฏิบัติการโรงพยาบาลบุษราคัม’ ว่า 130 วัน กับการปฏิบัติงานของ โรงพยาบาลบุษราคัม ตั้งแต่วันที่ 14 พ.ค.-20 ก.ย.2564 มีผู้ป่วยสะสมทั้งสิ้น 20,432 ราย จากที่โรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้แพร่กระจายอย่างรวดเร็วในพื้นที่ กทม. และปริมณฑล ส่งผลให้มีผู้ป่วยจำนวนมาก และทำให้มีจำนวนเตียงรองรับผู้ป่วยไม่เพียงพอ
สธ.จึงได้มีนโยบายจัดตั้ง โรงพยาบาลสนามขนาดใหญ่ เพื่อรองรับผู้ป่วยที่ยังตกค้างอยู่โดยเฉพาะในพื้นที่ กทม. ซึ่งได้รับการสนับสนุนพื้นที่จากเมืองทองธานี จึงได้ทำการเปิด โรงพยาบาลสนามบุษราคัม ในระยะแรกได้ทำการเปิดในวันที่ 14 พ.ค. จำนวนเตียง 1,100 เตียง ระยะที่ 2 ในวันที่ 28 พ.ค. เพิ่มอีก 1,100 เตียง รวมเป็น 2,200 เตียง และดำเนินการดูแลผู้ป่วยมาโดยตลอด
อย่างไรก็ตาม ในเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา ผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก และเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากการระบาดของสายพันธุ์เดลต้า จึงได้ทำการเปิดระยะที่ 3 ในวันที่ 4 ก.ค. เพิ่มอีก 1,500 เตียง รวมแล้วในขณะนั้นมีเตียงทั้งหมด 3,700 เตียง หลังจากเปิดได้เพียง 5 วัน มีผู้ป่วยเข้ามานอนเต็มทุกเตียง จากปกติที่จะรับผู้ป่วยใหม่เข้าแอดมิดไม่เกิน 100 คนต่อวัน แต่ในช่วงเดือน ก.ค.มีผู้ป่วยใหม่มาแอดมิดประมาณ 300-400 คนต่อวัน
นพ.กิตติศักดิ์ กล่าวด้วยว่า หลังจากนั้น ก็มีคนไข้อาการหนักเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ที่เป็นผู้ป่วยภายในของทาง โรงพยาบาลบุษราคัมเอง เนื่องจาก โรงพยาบาลไม่ปฏิเสธผู้ป่วย และรับผู้ป่วยในทุกประเภท ขณะเดียวกัน ผู้ป่วยมีอาการหนัก กลับไม่สามารถที่จะส่งต่อไป โรงพยาบาลที่มีศักยภาพสูงกว่าได้ เนื่องจากว่า โรงพยาบาลต่างๆ ที่เป็น โรงพยาบาลขนาดใหญ่ใน กทม.ก็มีภาระงาน มีเตียงที่ดูแลผู้ป่วยหนักเต็มแล้วเช่นเดียวกัน
ในช่วงเดือน ก.ค.-ส.ค. โรงพยาบาลบุษราคัมจำเป็นต้องดูแลผู้ป่วยที่เกินกว่าภารกิจ คือผู้ป่วยที่อาการหนักในระดับสีแดง-แดงเข้ม ในบางครั้งมีการใส่เครื่องช่วยหายใจชนิดไฮ โฟลว์ ถึง 200 ตัวต่อวัน มีผู้ป่วยที่ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ และเครื่องช่วยหายใจ 10 คนต่อวัน จึงได้ขออนุมัติจากศูนย์ปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉินในการขอเปิดหอผู้ป่วยวิกฤต เพื่อดูแลผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงอีก 17 เตียง ในวันที่ 4 ส.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผู้ป่วยจาก โรงพยาบาลบุษราคัม ทั้งหมด และยังมีผู้ป่วยที่ต้องการใส่เครื่องช่วยหายใจอีกจำนวนมาก จึงขออนุมัติเปิดหอผู้ป่วยกึ่งวิกฤตอีก 32 เตียง เมื่อวันที่ 1 ก.ย.
นพ.กิตติศักดิ์ กล่าวถึงผลการดำเนินการของ โรงพยาบาลบุษราคัม ในช่วง 130 วัน ว่า สามารถดูแลผู้ป่วยแล้วทั้งหมด 20,289 ราย เป็นผู้ป่วยวิกฤต 92 ราย และกึ่งวิกฤต 55 ราย อย่างไรก็ตาม จากมาตรการต่างๆ ส่งผลให้จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในเดือน ก.ย.และพบว่าในช่วง 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้ป่วยที่ติดต่อ โรงพยาบาลบุษราคัม น้อยลงมาก โดยมีประมาณ 5 รายต่อวัน ซึ่งผู้ป่วยรายอื่นได้รับการรักษาจนหาย และกลับบ้านไปหมดแล้ว ตั้งแต่วันที่ 20 ก.ย.ที่ผ่านมา จึงได้มีข้อสรุปว่า สธ.จะปิดให้บริการ โรงพยาบาลบุษราคัม โดยกำหนดรื้อถอนให้แล้วเสร็จในวันที่ 30 ก.ย.นี้ และมอบพื้นที่คืนให้กับอิมแพ็คอารีนา ในวันที่ 1 ต.ค.นี้
นพ.กิตติศักดิ์ ตอบคำถามกรณีหลังจาก โรงพยาบาลบุษราคัม ปิดตัวแล้ว แต่ใน กทม.ยังพบผู้ป่วยอยู่ กรณีนี้จะสามารถไปใช้บริการได้ที่ไหนว่า ระบบการดูแลผู้ติดเชื้อโควิด กรณีไม่มีอาการหรืออาการเล็กน้อยจะถูกนำเข้าสู่ระบบการรักษาที่บ้าน (HI) และการรักษาแบบชุมชน (CI) มี โรงพยาบาลสนาม ที่เพิ่มเติมขึ้นมาจำนวนมากใน กทม. และปริมณฑล
อีกทั้งการขยายทรัพยากรทางด้านโครงสร้าง ห้องไอซียู (ICU) หลายส่วน ทำให้มีศักยภาพในการรองรับผู้ป่วยอาการหนักเพียงพอในขณะนี้ ในส่วนของตัวเลขการติดเชื้อรายวันลดลงตามลำดับ โดยตัวเลขนี้ เมื่อเทียบกับสัดส่วนของประชากรแล้ว ถือว่าไม่มาก แต่ในส่วนของผู้เสียชีวิตใน กทม.ลดน้อยลงอย่างชัดเจน
“ขอให้ความมั่นใจกับประชาชนได้เลยว่า ระบบการแพทย์โดยเฉพาะระบบบริการเตียงผู้ป่วย และระบบการดูแลผู้ป่วยติดเชื้อใน กทม.มีความมั่นคงและเพียงพอในขณะนี้” นพ.กิตติศักดิ์ กล่าว
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage