เผยข้อมูลลับโครงการจัดซื้อเครื่องบินโจมตีเบา 8 ลำ 4.3 พันล. ก่อน ทอ. ใช้งบ 1.6 ล. ส่งเสธ.ฯ บินสหรัฐฯ สรุปผลจัดซื้อ - ป.ป.ช. รับเรื่องสอบแล้ว อยู่ระหว่างขั้นตอนแสวงหาข้อเท็จจริง-มีผู้ถูกกล่าวหา 7 คน
..................................
สืบเนื่องจากสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้รับการยืนยันข้อมูลจากแหล่งข่าวระดับสูงในกองทัพอากาศ ว่า ในช่วงกลางเดือน ส.ค.2564 ที่ผ่านมา พล.อ.อ.แอร์บูล สุทธิวรรณ ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) ได้แทงเรื่องในบันทึกข้อความแจ้งกำหนดการส่งข้าราชการ ทอ. จำนวน 7 ราย ไปประชุมสรุปผลการจัดซื้อเครื่องบินโจมตีเบา จำนวน 8 เครื่อง พร้อมอุปกรณ์อะไหล่ ระบบสนับสนุนการฝึก การฝึกอบรม และอุปกรณ์ ๆ ที่จำเป็น รวมวงเงินกว่า 4,314,039,980.80 บาท ของกรมยุทธการทหารอากาศ กองทัพอากาศ กับ บริษัท เท็กซ์ตรอน เอวิเอชั่น ดีเฟนซ์ แอลแอลซี คู่สัญญา ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 19-28 ส.ค.2564 ว่า เห็นควรเลื่อนการเดินทางออกไปก่อน จนกว่าการรายงานของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จะแล้วเสร็จ แต่หลังจากนั้น พล.อ.อ.แอร์บูล สุทธิวรรณ ได้เปลี่ยนแปลงคำสั่งใหม่ โดยแทงเรื่องรับในบันทึกรับทราบกำหนดการส่งข้าราชการ ทอ. จำนวน 7 ราย ไปประชุมสรุปผลการซื้อเครื่องบินโจมตีเบา จำนวน 8 เครื่องดังกล่าว ตามเดิม
ขณะที่ สำนักข่าวอิศรา ได้รับคำยืนยันจากนายทหารผู้ติดตาม พล.อ.อ.แอร์บูล สุทธิวรรณ ผบ.ทอ. ว่า ได้มีการอนุมัติให้ข้าราชการ ทอ. จำนวน 7 ราย เดินทางไปประชุมสรุปผลการซื้อเครื่องบินโจมตีเบา จำนวน 8 เครื่องดังกล่าว ที่สหรัฐอเมริกา ตามช่วงวันเวลาดังกล่าวจริง และเรื่องนี้ได้มีการประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จนได้ข้อยุติเรียบร้อยแล้ว ถึงให้เดินทางไปได้
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ได้รับการยืนยันจากแหล่งข่าวระดับสูงใน ป.ป.ช.ว่า เกี่ยวกับโครงการจัดซื้อเครื่องบินโจมตีเบา จำนวน 8 เครื่อง วงเงิน 4,314,039,980.80 บาท ดังกล่าว มีผู้มาร้องเรียนกับ ป.ป.ช. ปัจจุบันอยู่ระหว่างขั้นตอนการแสวงหาข้อมูลเอกสารหลักฐาน
โดยผู้ถูกกล่าวหามีจำนวน 7 ราย ส่วนใหญ่เป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้าง
รายงานข่าวแจ้งว่า ในการจัดซื้อจัดจ้างโครงการฯ นี้ มีการมอบหมายให้รองเสนาธิการทหารอากาศ เป็นผู้ลงนามในสัญญาแทน ผอ.ทอ. หลังจากที่ปลัดกระทรวงกลาโหม อนุมัติจัดซื้อจัดจ้างเรียบร้อยแล้ว
ส่วนการร่างสัญญาซื้อขาย ได้ยกร่างตามแบบสัญญาซื้อขายเฮลิคอปเตอร์ ติดตาม เอเอส 332 แอล 2 และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง พร้อมบริการต่างๆ ซึ่งผ่านการตรวจพิจารณาจากสำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) โดยมีรายละเอียด เงื่อนไขสาระสำคัญเหมือนกันเป็นส่วนใหญ่ รวมถึงได้ผ่านการพิจารณา และตรวจสบความถูกต้องจากผู้สังเกตการณ์ตามข้อตกลงคุณธรรมเรียบร้อยแล้ว
ขณะที่สำนักข่าวอิศรา สืบค้นข้อมูลใน https://aagth1.blogspot.com/2020/12/at-6e-wolverine.html มีการระบุข้อมูลการจัดซื้อเครื่องบินโจมตีเบา ของกองทัพอากาศไว้ว่า เป็นหนึ่งในหลายโครงการที่ถูกกำหนดไว้ตามแผนความต้องการระยะ 10 ปี ในสมุดปกขาว
มีวัตถุประสงค์เพื่อทดแทนเครื่องบินขับไล่และฝึกแบบที่ 1 ที่ถูกใช้งานมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2537 (1994) ซึ่งตามแผนจะครบกำหนดปลดประจำการ ใน พ.ศ.2565 (2022) รวมระยะเวลา 28 ปี กองทัพอากาศจึงต้องเตรียมการและจัดหาเครื่องบินทดแทนตามแผนที่กำหนด เพื่อดำรงขีดความสามารถในการปฏิบัติภารกิจการโจมตีทางอากาศ การค้นหาและช่วยชีวิตในพื้นที่การรบรวมถึงการบูรณาการความร่วมมือในการสนับสนุนการป้องกันประเทศ และรักษาผลประโยชน์แห่งชาติร่วมกับเหล่าทัพอื่น
ขณะที่กองทัพอากาศได้มีการพิจารณาอย่างรอบคอบ ตามกระบวนการและขั้นตอนที่รัดกุม เพื่อกำหนดหนทางปฏิบัติที่ดีที่สุด ภายใต้กรอบงบประมาณแผ่นดินซึ่งมาจากภาษีของประชาชนให้เกิดความคุ้มค่าและประโยชน์สูงสุด
ปัจจุบันกองทัพอากาศไทย(RTAF: Royal Thai Air Force) มีเครื่องบินขับไล่และโจมตีแบบที่ 1 บ.ขฝ.1 Aero Vodochody L-39ZA/ART Albatros สาธารณรัฐเช็ก ประจำการ ณ ฝูงบิน 411 กองบิน 411 เชียงใหม่ เป็นฝูงสุดท้าย(https://aagth1.blogspot.com/2017/10/kai-t-50th.html) บ.ขฝ.1 L-39ZA/ART ฝูงบิน 411 ทั้ง 24 เครื่อง (เข้าใจว่ามีเครื่องที่ปฏิบัติการได้ 5 เครื่อง) มีกำหนดจะปลดประจำการลงในปี พ.ศ.2565 และแทนที่ด้วยเครื่องบินโจมตีเบาใหม่ 12 เครื่องตามแผนสมุดปกขาวกองทัพอากาศไทย 2020(https://aagth1.blogspot.com/2020/02/2020.html)
การจัดหาเครื่องบินโจมตีเบาใหม่แบ่งเป็น ระยะที่ 1 จำนวน 8 เครื่อง ผูกพันงบประมาณ 3 ปี ในปีงบประมาณ 2564-2566 (2021-2023) วงเงิน 4,500,000,000 บาท($143,079,710) และระยะที่ 2 จำนวน 4 เครื่อง ผูกพันงบประมาณ 3 ปี ในปีงบประมาณ 2565-2567 (2022-2024) ภายใต้นโยบายจัดหาและพัฒนา Purchase and Development ของกองทัพอากาศไทย เครื่องบินโจมตีเบาใหม่จะมีพื้นฐานร่วมกันกับเครื่องบินฝึกใบพัด Beechcraft T-6C Texan II จำนวน 12 เครื่องที่สั่งจัดหาแล้วในวงเงิน $162 million(https://aagth1.blogspot.com/2020/09/t-6c.html)
สำหรับ บริษัท Textron Aviation Defense สหรัฐฯ มีแผนที่จะการบินส่งมอบเครื่องบินฝึกใบพัด T-6TH จำนวน 2 เครื่องจากสหรัฐฯมายังประเทศไทย โดยที่เหลืออีก 10 เครื่องมีกำหนดจะถูกประกอบสร้างและเคลื่อนย้ายไปยังโรงเรียนการบินกำแพงแสน กองทัพอากาศไทย ซึ่งเครื่องบินโจมตีเบา A-6TH จะถูกจัดหาโดยความมีส่วนร่วมกับภาคอุตสาหกรรมอากาศยานของไทย คือ บริษัท RV Connex ไทย และบริษัท อุตสาหกรรมการบิน Thai Aviation Industries(TAI) ไทย กับต่างประเทศคือบริษัท CMC Electronics แคนาดา และบริษัท Lockheed Martin สหรัฐฯ
ทั้งนี้ ตามนโยบาย Common Fleet ของกองทัพอากาศไทย เครื่องบินโจมตี A-6TH จะสามารถใช้อาวุธปล่อยนำวิถีอากาศสู่อากาศพิสัยใกล้ Diehl IRIS-T เยอรมนี(https://aagth1.blogspot.com/2018/11/iris-t.html) ซึ่งจะเป็นเครื่องบินโจมตีเบาใบพัดแบบแรกที่รองรับการใช้งาน IRIS-T และระบบอาวุธ เช่น กระเปาะปืนกลอากาศ FN HMP400 ขนาด .50cal(12.7x99mm), จรวดอากาศสู่พื้นนำวิถี APKWS, ระเบิดนำวิถี Laser แบบ GBU-12 Paveway II ขนาด 500lbs ระเบิดนำวิถีดาวเทียม GBU-38 JDAM ขนาด 500lbs และอาวุธปล่อยนำวิถีอากาศสู่พื้น AGM-114 Hellfire
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/