ป.ป.ช.จัดสัมมนาแลกเปลี่ยน ‘ถอดกับดักคอร์รัปชั่น’ ปธ.ปาฐกถาพิเศษ สรุปเรื่องร้องเรียนปี 64 กว่า 6,153 เรื่อง ชี้แม้วิกฤติโควิด-19 แต่การทุจริตไม่มีลดราวาศอก เผยปรับปรุงสารพัดมาตรการ-กฎหมาย ดำเนินมาตรการเชิงรุก ปักหมุดความเสี่ยงโกงช่วงโควิดฯ
.........................................................................
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 20 ส.ค. 2564 สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จัดสัมมนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระดับชาติ เรื่อง “ถอดกับดักคอร์รัปชั่น : The Big Push in Corruption Trap” ผ่านระบบ ZOOM ณ ห้องประชุมนนทบุรี 1 สำนักงาน ป.ป.ช. โดยมีผู้เข้าร่วมลงทะเบียนสัมมนาผ่านระบบ zoom จำนวน 2,000 คน การสัมมนา ในครั้งนี้มี พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. เป็นประธานในพิธีเปิด พร้อมทั้งปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “กับดักคอร์รัปชั่นในอนาคต : การถอดกับดักที่ทรงพลัง”
โดย พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวสรุปสาระสำคัญได้ว่า การทุจริตคอร์รัปชัน ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ดังสถิติระหว่างปี 2560 - 2564 ในปี 2560 มีคำกล่าวหาส่งมายังสำนักงาน ป.ป.ช. 4,896 เรื่อง และปี 2561 มี 4,622 เรื่อง ในขณะนั้น สำนักงาน ป.ป.ช. ทำงานตามกรอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 และในระหว่างปี 2562 จนถึงปัจจุบัน การดำเนินการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 กำหนดให้สำนักงาน ป.ป.ช. เป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่รับเรื่องกล่าวหาร้องเรียนการทุจริตของเจ้าพนักงานของรัฐทุกระดับ และสามารถส่งต่อไปยังหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องตามหน้าที่และอำนาจที่กฎหมายกำหนด ปี 2562 มีคำกล่าวหา 6,773 เรื่อง สำนักงาน ป.ป.ช. รับไว้ดำเนินการเอง 3,285 เรื่อง มูลค่าความเสียหาย 236,243,838,413 บาท ส่งไปหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง 3,488 เรื่อง มูลค่าความเสียหาย 1,966,159,537 ล้านบาท ปี 2563 มีคำกล่าวหา 9,130 เรื่อง สำนักงาน ป.ป.ช. รับไว้ดำเนินการเอง 6,060 เรื่อง มูลค่าความเสียหาย 90,716 ล้านบาท ส่งไปหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง 3,070 เรื่อง มูลค่าความเสียหาย 3,288 ล้านบาท
“ส่วนในปี 2564 (ข้อมูล ณ 26 กรกฎาคม 2564) มีคำกล่าวหา 6,153 เรื่อง สำนักงาน ป.ป.ช. รับไว้ดำเนินการเอง 1,963 เรื่อง ส่งไปหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง 1,792 เรื่อง จะเห็นว่าแม้ในภาวะวิกฤติโควิด ที่เกิดขึ้นในปี 2563 มาถึงปีนี้ 2564 มีคำกล่าวหาการทุจริตถึง 15,283 กรณีการทุจริตไม่มีการลดราวาศอก หรืออ่อนข้อให้กับสถานการณ์ใด ๆ” พล.ต.อ.วัชรพล กล่าว
พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวอีกว่า การต่อสู้กับคอร์รัปชัน (Combating corruption) เมื่อปีที่แล้ว (2563) มีการร่วมพลังต้านทุจริตจากทุกภาคส่วน (Together against Corruption) ในการเฝ้าระวังการทุจริตจากการจัดซื้อจัดจ้างเกิดขึ้นทั่วประเทศ ซึ่งเป็นแบบนิยมของคนที่แสวงหาผลประโยชน์ การใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดินจำนวนมากในการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง-อุทกภัย และการใช้งบประมาณฟื้นฟูเศรษฐกิจ เช่น โครงการโคกหนองนาโมเดล เป็นต้น
ประธานกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวถึงกระบวนการที่สำนักงาน ป.ป.ช. ดำเนินการ มีทั้งมาตรการการป้องกันและการปราบปรามการทุจริตเชิงรุก และบูรณาการกับหลายภาคส่วน เช่น กลไกและกระบวนการปราบปรามการทุจริต มีการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อสนับสนุนงานด้านการปราบปรามการทุจริตและตรวจสอบทรัพย์สิน การพัฒนาระบบติดตามเรื่องร้องเรียนบนเว็บไซต์ของสำนักงาน ป.ป.ช. การพัฒนาระบบฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานปราบปรามการทุจริตและการตรวจสอบทรัพย์สิน เช่น ระบบฐานข้อมูลคดีทุจริต ( AGMS : Agency Case Mornitoring System การตรากฎหมายและปรับปรุงกฎหมาย ระเบียบ คำสั่ง หลักเกณฑ์ต่างๆ โดยเฉพาะการบูรณาการความร่วมมือในการบังคับใช้กฎหมายเพื่อปราบปรามการทุจริต เช่น การบูรณาการความร่วมมือตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 48 ที่จะต้องไต่สวนและวินิจฉัยคดีให้แล้วเสร็จภายในเวลาไม่เกิน 2 ปี นับแต่วันเริ่มดำเนินการไต่สวน และขยายเวลาออกตามที่จำเป็นแต่รวมแล้วต้องไม่เกิน 3 ปี หากไม่สามารถดำเนินการได้หากเกิดจากความผิดหรือจงใจปล่อยปละละเลย ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการลงโทษโดยเร็ว ครบกำหนดแล้วเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2564
พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวด้วยว่า สำหรับมาตรการการป้องกันเชิงรุก โดยใช้เครื่องมือ ITA (Integrity and Transparency Assessment) ประเมินความโปร่งใสภาครัฐ ซึ่งพบว่า ความโปร่งใสของภาครัฐมีการพัฒนาดีขึ้นตามลำดับโดยเมื่อปี 2563 มีหน่วยงานที่รับการประเมิน 8,303 แห่ง คะแนนเฉลี่ย 67.90 คะแนน มีหน่วยงานที่ผ่านเกณฑ์ 85 คะแนนขึ้นไปมี 1095 แห่ง (คิดเป็นร้อยละ 13.19 ของจำนวนที่เข้ารับการประเมิน) ในการประเมินนี้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 7,852 หน่วยงาน มีคะแนนเฉลี่ย 66.90 คะแนน ส่วนในปี 2564 มีหน่วยงานภาครัฐที่กำลังอยู่ในกระบวนการประเมิน 8,300 แห่ง ซึ่งจะทราบผล การประเมินในสิ้นปีงบประมาณนี้ ขณะที่ปี 2565 จะประเมินความโปร่งใสด้วย ITA ระดับอำเภอ 878 แห่ง สถานีตำรวจนครบาล 88 หน่วยด้วย
ประธานกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวถึงมาตรการการป้องปรามเชิงรุก โดยการปักหมุดแผนที่พื้นที่เสี่ยงต่อการทุจริต (Corruption Risk Mapping) และการลงพื้นที่เพื่อแก้ไขปัญหา โดย ปี 2563 เริ่มนำข้อมูลเข้าระบบแผนที่พื้นที่เสี่ยง 2 ชุดข้อมูล คือ ความเสี่ยงในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 และความเสี่ยงต่อการทุจริตในความสนใจของภาคประชาชน ในชมรม STRONG-จิตพอเพียงต้านทุจริต
"ข้อมูลแผนที่เสี่ยงต่อการทุจริต ปี 2563 มีประเด็นร่วมที่ได้รับการปักหมุดในหลายพื้นที่ ได้แก่ การบุกรุกทรัพยากรธรรมชาติ (ป่าไม้ แม่น้ำ ที่ดินหรือแหล่งน้ำสาธารณะ) การจัดซื้อจัดจ้างโครงการสาธารณูปโภคพื้นที่ (ถนน สะพาน ทางระบายน้ำ เขื่อน ระบบประปา ไฟฟ้า) การใช้จ่ายงบประมาณโครงการเร่งด่วน เช่น โครงการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง-อุทกภัย และโครงการเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจจากผลกระทบโควิด-19) ตั้งแต่ปี 2563 คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติเห็นชอบการพัฒนาแผนที่พื้นที่เสี่ยงและเห็นชอบให้ขยายผลนำข้อมูลปักหมุดมาใช้ในการแก้ไขปัญหาการทุจริตแบบบูรณาการผ่านกิจกรรม TaC Team ที่เป็นการรวมพลังหน่วยงานภารกิจที่เกี่ยวข้องกับด้านป้องกันการทุจริตในส่วนกลาง รวมจำนวน 8 สำนัก ส่วนปี 2564 ดำเนินกิจกรรมนำร่อง TaC Team 10 จังหวัด ในประเด็นปักหมุดที่เกี่ยวกับการบุกรุกทรัพยากรธรรมชาติ เช่น ป่าเขาไผ่ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี ปัญหาเกิดขึ้นเนื่องจากแนวเขตป่าไม่ชัดเจน เจ้าหน้าที่ป่าไม้มีจำนวนน้อย ไม่สามารถสกัดกั้นการบุกรุกป่า เพื่อปลูกไร่มันสำปะหลังของเกษตรกรและกลุ่มนายทุนในพื้นที่ได้ เมื่อสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดชลบุรี ได้รับการประสานข้อมูลปัญหาจากภาคประชาชน จึงได้นำเสนอให้แก้ไขปัญหา ด้วยการบูรณาการสำนักส่วนกลางที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ร่วมกับ ป.ป.ช. จังหวัดและหน่วยงานป่าไม้ เพื่อกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาเสนอต่อที่ประชุมคณะอนุกรรมการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ประจำจังหวัดชลบุรี ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการปักแนวเขตป่าให้ชัดเจน และปลูกป่าถาวรทดแทน" ประธานกรรมการ ป.ป.ช. กล่าว
พล.ต.อ.วัชรพล ยังกล่าวด้วยว่า ตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมา มีการก่อตั้ง ชมรม STRONG-จิตพอเพียงต้านทุจริต ระดับจังหวัด ครบทั้ง 76 จังหวัด และกรุงเทพมหานคร 6 ชมรมใน 6 โซนของกรุงเทพมหานคร และขยายผลจัดตั้งชมรมในระดับอำเภอและตำบล โดยได้รับเงินสนับสนุนจากกองทุน ป.ป.ช. (2563) ใน 2 จังหวัด คือ จังหวัดขอนแก่น มีชมรม STRONG ครบทั้ง 15 อำเภอ และขยายลงระดับตำบล 11 ตำบล และจังหวัดร้อยเอ็ด มีชมรม STRONG ระดับอำเภอ มี 4 ชมรม โดยปี 2564 มีชมรม STRONG ได้รับเงินสนับสนุนจากกองทุน ป.ป.ช. (2564) เพื่อขยายผลจัดตั้งชมรมในระดับอำเภอ รวม 45 จังหวัด 580 อำเภอ มีสมาชิก STRONG 63,552 คน ประกอบด้วย โค้ช 774 คน คณะกรรมการชมรม 1,449 คน สมาชิกที่มีบทบาทในชมรม 14,833 คน แกนนำเยาวชน 5,894 คน และประชาชนทั่วไปที่เป็นสมาชิกชมรม STRONG 40,602 คน
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/