'ออกซ์ฟอร์ด'เผยข้อมูล วัคซีนไฟเซอร์มีประสิทธิภาพสูงตอนต้น แต่ลดลงเร็วกว่าวัคซีนจากแอสตร้าเซนเนก้า เมื่อเจอโควิดกลายพันธุ์ พบ 4-5 เดือนประสิทธิภาพเหลือเท่าๆกัน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานข่าวเกี่ยวกับสถานการณ์วัคซีนโควิด-19 หรือโคโรน่าไวรัสว่า ที่มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ประเทศอังกฤษ ได้มีการประกาศผลประสิทธิภาพของของวัคซีนจากบริษัทไฟเซอร์และไบออนเทคว่าวัคซีนดังกล่าวนั้นจะมีประสิทธิภาพลดลงเร็วกว่าถ้าหากเทียบกับวัคซีนจากบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า
“วัคซีน 2 โดสจากบริษัทไฟเซอร์และไบออนเทคนั้นมีประสิทธิภาพดีเยี่ยมเมื่อรับมือกับไวรัสโควิดสายพันธุ์ใหม่ แต่ว่ามันก็ลดลงเร็วด้วยเช่นกันเมื่อเปรียบเทียบกับวัคซีนจากแอสตร้าเซนเนก้า 2 โดส” นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดกล่าว
โดยผลการศึกษาดังกล่าวซึ่งยังไม่ได้มีการทบทวนอย่างเป็นทางการนั้นมีที่มาจากการสำรวจของเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานสถิติ ที่เก็บข้อมูลจากการตรวจพีซีอาร์นับตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2563 จนถึงเดือน ส.ค. 2564 ซึ่งเป็นการตรวจแบบสุ่มตรวจตามบ้าน
ทั้งนี้การสำรวจได้ผลว่า “พลวัตของภูมิคุ้มกันหลังจากปริมาณวัคซีนจำนวน 2 โดสของวัคซีนทั้ง 2 ประเภทมีความแตกต่างอย่างมีนัยยะสำคัญ ระหว่างวัคซีนของบริษัทแอสตร้าเซนเนก้ากับวัคซีนของบริษัทไฟเซอร์”ข้อมูลจากภาควิชาแพทยศาสตร์นุฟฟิลด์ (Nuffield) มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดกล่าว
“ไฟเซอร์มีประสิทธิภาพเริ่มต้นมากขึ้น แต่ก็ลดลงเร็วขึ้นในการป้องกันกรณีที่มีจำนวนไวรัสสูงและการติดเชื้อตามอาการ ขณะที่ผลเมื่อหลายเดือนผ่านไปหลังจากการฉีดวัคซีนครบ 2 โดสพบว่าประสิทธิภาพนั้นอยู่ในระดับต่ำ สำหรับวัคซีนทั้ง 2 ประเภท" ผลการศึกษาระบุ
ผลการศึกษายังได้บ่งชี้ว่าหลังจากการฉีดวัคซีนไปแล้วเป็นระยะเวลา 4-5 เดือน ประสิทธิภาพของวัคซีนทั้ง 2 จะตกลงเท่าๆกัน แต่อย่างไรก็ตามในประเด็นเรื่องผลกระทบในระยะยาวนั้นทางนักวิทยาศาสตร์จะต้องมีการศึกษากันต่อไป
อนึ่งก่อนหน้าที่จะมีผลการศึกษานี้ออกมาก็มีรายงานว่าที่ประเทศอิสราเอลก็ได้มีการจัดสรรวัคซีนบูสเตอร์เพื่อเสริมศักยภาพของประชากรจำนวนกว่า 58 เปอร์เซ็นต์ที่เคยได้วัคซีนของบริษัทไฟเซอร์จำนวน 2 โดสไปแล้ว
ขณะที่ประเทศสหรัฐอเมริกาก็มีการเสนอฉีดวัคซีนบูสเตอร์เพื่อเสริมศักยภาพระดับสารภูมิคุ้มกัน หรือแอนติบอดี้ไปแล้วหลังจากที่พบว่าวัคซีนของบริษัทไฟเซอร์ วัคซีนของบริษัทโมเดอร์นานั้นมีประสิทธิภาพที่ลดลงเช่นกัน
ทั้งนี้การศึกษาของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดนั้นระบุด้วยว่าวัคซีนมีภูมิคุ้มกันสูงมากขึ้นถ้าหากฉีดให้กับผู้ที่เคยผ่านการติดเชื้อมาแล้ว โดยการศึกษาดังกล่าวเป็นการสำรวจจากกลุ่มตัวอย่างในประเทศอังกฤษจำนวนกว่า 3 แสนคน ที่มีอายุมากกว่า 18 ปี ซึ่งศึกษาทั้งในช่วงเวลาที่มีการระบาดของไวรัสโควิดสายพันธ์อัลฟ่า และสายพันธ์เดลต้าในช่วงเดือน พ.ค. 2564 และผลการศึกษาก็ยืนยันว่าวัคซีนชนิดต่างๆนั้นมีประสิทธิภาพลดลงเมื่อต้องเจอกับไวรัสโควิดสายพันธุ์เดลต้า
เรียบเรียงจาก:https://www.france24.com/en/live-news/20210819-pfizer-covid-jab-declines-faster-than-astrazeneca-study
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/