รพ.ธรรมศาสตร์ฯ เตรียมนำเข้ายารักษาโควิด-19 ที่ประสิทธิภาพดีใช้แทน ‘ฟาวิพิราเวีย’ ส่วนซื้อวัคซีนแผนระยะยาวแค่ส่วนเสริม เผยหลายองค์กรพร้อมร่วมมือ
.............................
ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ ประธานกรรมการบริหารโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2564 สภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีมติให้ตราข้อบังคับของมหาวิทยาลัยว่าด้วยการบริการทางการแพทย์และการสาธารณสุขในสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ที่ให้อำนาจมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ซึ่งมีโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ และคณะวิชาทางด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพจำนวนมากซึ่งมีหน้าที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการรักษาพยาบาล การป้องกันและดูแลประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการติดเชื้อหรือการระบาดของโควิด-19 เพื่อให้มหาวิทยาลัยสามารถจัดหา สั่งซื้อ หรือร่วมมือกับองค์กรต่างๆทั้งในและต่างประเทศเพื่อให้ได้มาซึ่งยาเวชภัณฑ์และวัคซีน เพื่อใช้ในการดูแลรักษาพยาบาลหรือป้องกันโรคที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19ได้
ศ.ดร.สุรพล กล่าวว่า ข้อบังคับฉบับนี้เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว จะทำให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นหน่วยงานลำดับที่ 6 ที่จะสามารถนำเข้ายา วัคซีน และเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและรักษาโรคที่เกี่ยวกับโควิด-19 ได้ โดยหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่อยู่เดิมทั้ง 5 แห่ง ได้แก่ กรมควบคุมโรค, องค์การเภสัชกรรม,สถาบันวัคซีนแห่งชาติ ,สภากาชาดไทย และราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์
“ธรรมศาสตร์ไม่ได้มีความประสงค์และไม่มีศักยภาพที่จะนำเข้าวัคซีนมาแก้ไขปัญหาการขาดแคลนวัคซีนของประเทศที่เป็นอยู่ในขณะนี้อย่างแน่นอน เพราะหากเราไปจองซื้อวัคซีนที่ได้รับการขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและนา(อย.)ของไทยในขณะนี้ กว่าจะมีวัคซีนส่งมาให้ก็คงประมาณไตรมาสที่สองของปี 2565 เนื่องจากในขณะนี้ตลาดวัคซีนจากต่างประเทศเป็นตลาดของผู้ขาย แต่เราคาดหวังว่า การที่คนไทยจะต้องอยู่มีชีวิตต่อไปในสภาวะ New Normal กับโควิด-19 ไปอีกอย่างน้อยสัก 2 ปี คงทำให้จะต้องมีการฉีดวัคซีนโควิดเป็นบูสเตอร์ เหมือนวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ที่พวกเราจะต้องฉีดกันทุกปีในขณะนี้ และจะมีความต้องการวัคซีนอย่างกว้างขวางทั่วประเทศ ดังนั้น หากโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยสักแห่งหนึ่งจะเสนอตัวมาทำหน้าที่แทนเครือข่ายโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยของรัฐ (UHOSNET) ที่มีอยู่แล้ว ในการดำเนินการจองซื้อหรือนำเข้าวัคซีนเข็มที่ (3)หรือ ( 4) ในปีหน้า แทนที่จะปล่อยให้มีคอขวดเรื่องการจองซื้อวัคซีนอยู่ที่องค์การเภสัชกรรมเท่านั้น ก็น่าจะเป็นประโยชน์ต่อวงการแพทย์และการศึกษาวิจัย ตลอดจนการดูแลรักษาพยาบาลผู้ป่วยโนโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นกลุ่มโรงพยาบาลที่มีศักยภาพสูงที่สุดของประเทศได้”ประธานกรรมการบริหารโรงพยาบาลธรรมศาสตร์กล่าว
ศ.ดร.สุรพลกล่าวว่า นอกจากนั้น ความมุ่งหวังของพวกมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในเรื่องนี้ในสถานการณ์เฉพาะหน้าจะไปอยู่ที่การนำเข้ายาสำหรับรักษาดูแลผู้ป่วยโควิด-19ที่มีงานทางด้านการวิจัยทางคลินิกที่ประสบความสำเร็จแล้วในต่างประเทศรองรับ เพื่อนำเข้ามาใช้โดยเร็ว เพื่อใช้ในการรักษาผู้ป่วยโควิดจำนวนมากที่อยู่ในโรงพยาบาลของธรรมศาสตร์ที่อาจจะมีคุณภาพหรือประสิทธิภาพที่ดีกว่าฟาวิพิราเวีย(Favipiravir)ตลอดทั้งการนำเข้าเวชภัณฑ์ที่ใช้ในทางการแพทย์ ที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 อีกหลายรายการ เช่น ชุดตรวจโควิดโดยการตรวจหาแอนติเจน-ATK หรือเวชภัณฑ์อื่น ๆ ซึ่งยังคงมีความขาดแคลนและมีราคาสูงมากอยู่ในขณะนี้ด้วย
“ความคาดหวังของพวกเราที่นี่คือ เราอยากจะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือรับผิดชอบให้การดำเนินการต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการระบาดของโรคนี้ ให้เป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็วยิ่งขึ้น มากกว่าที่จะไปทำหน้าที่แทนหน่วยงานหลักทางด้านสาธารณสุขของประเทศ ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบดำเนินการอยู่แล้วโดยตรงและมีทรัพยากรของรัฐทั้งในด้านบุคลากรและงบประมาณ ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบหลักอยู่เดิมแล้ว น่ายินดีที่มีหน่วยงานหลักทั้งในภาครัฐและภาคเอกชนจำนวนมากแสดงความประสงค์และความต้องการที่จะเข้ามาร่วม หรือช่วยในการดำเนินงานในลักษณะเช่นนี้กับพวกเราแล้วหลายองค์กร “ศ.ดร.สุรพลกล่าว
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage