อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยฯ แจงปมถอนงานวิจัยฟ้าทะลายโจร เพื่อแก้ไขตัวเลขทางสถิติที่คลาดเคลื่อน 1 จุด ไม่ได้ถูกปฏิเสธ-ตีกลับจากวารสารการแพทย์ ยืนยันแนวทางการใช้รักษาผู้ป่วยโควิดตามเดิม
--------------------------------------------------------------------
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 9 ส.ค.2564 พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวถึงกรณีที่มีผู้วิจัยขอถอนงานวิจัยที่อยู่ระหว่างรอการตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์ ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับการใช้ฟ้าทะลายโจรในการรักษาผู้ป่วยโควิด ว่า นักวิจัยชุดดังกล่าวเป็นทีมงานของกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ซึ่งก่อนหน้านี้ได้นำเสนอผลงานไปเพื่อรับการตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์ แต่ระหว่างนั้นมีข้อขลุกขลักบางอยบ่าง จึงได้ขอดึงข้อมูลกลับมาแก้ไขให้ถูกต้อง โดยเอกสารที่มีการเผยแพร่ก่อนหน้านี้เป็นการศึกษาประสิทธิภาพและความปลอดภัยของฟ้าทะลายโจรสกัดในผู้ป่วยที่เป็นโควิดอาการไม่รุนแรง แต่หลังจากส่งงานไปที่วารสารวิชาการ และอยู่ระหว่างรอตีพิมพ์ เราพบว่ามีความผิดพลาดเรื่องตัวเลขเล็กน้อย สำหรับงานวิจัยเรื่องนี้ถือเป็นเรื่องใหญ่ เพราะนักวิจัยต้องมีความซื่อสัตย์และชัดเจนต่อผลลัพธ์ตรงนี้ จึงได้ดึงข้อมูลตัวนี้กลับมา มิได้เป็นการถูกปฏิเสธจากวารสารฯแต่ประการใด
พญ.อัมพร กล่าวต่อว่า สำหรับงานวิจัยเพื่อศึกษาประสิทธิภาพฟ้าทะลายโจรในผู้ป่วยโควิดชิ้นนี้ได้มีการแบ่งกลุ่มตัวอย่างเปรียบเทียบ 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ได้รับสารสกัดฟ้าทะลายโจร และกลุ่มที่ได้รับยาหลอก ผลลัพธ์ที่ออกมาพบว่า ผู้ที่ได้รับฟ้าทะลายโจร 29 ราย ทุกคนไม่มีอาการปอดอักสบ แต่ในทางกลับกันกลุ่มที่ได้รับยาหลอกมีผู้ป่วย 3 รายจาก 28 ราย มีอาการปอดอักเสบ หรือ คิดเป็น 10.7% อย่างไรก็ตาม การศึกษาวิจัยอย่างต่อเนื่อง นำไปสู่ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการใช้ยาในลำดับถัดมา ประเด็นปัญหาที่พบต่อมา คือ ค่านัยสำคัญทางสถิติที่คำนวณได้ในครั้งแรกมีความคลาดเคลื่อน โดยตอนแรกเราใส่ค่านัยสำคัญทางสถิติไว้ที่ 0.03 แต่เมื่อกลับมาพิจารณาอีกครั้งจึงพบว่า ค่านัยสัคญทางสถิติควรเป็น 0.112 จึงได้ดึงงานวิจัยกลับมาปรับปรุงก่อน
“ค่านัยสำคัญทางสถิติ 0.03 มีความหมายว่า หากมีการทดลอง 100 ครั้ง จะพบว่าได้ผลลัพธ์แบบเดิม 97 ครั้ง แต่ค่านัยสำคัญทางสถิติที่นำมาคำนวณใหม่คือ 0.112 หมายความว่า หากมีการทดลอง 100 ครั้ง จะได้ผลลัพธ์แบบเดิม 90 ครั้ง ดังนั้นความเที่ยงตรง ความคงที่จะลดลงในระดับหนึ่ง แต่ถามว่าสิ่งนี้เปลี่ยนแปลงผลลัพธ์ในเชิงตัดสินใจอื่นๆหรือไม่ เป็นสิ่งที่ต้องติดตามต่อ เพราะความคลาดเคลื่อนของค่านัยสำคัญนี้ เกิดจากการศึกษาที่ใช้กลุ่มตัวอย่างน้อย คือ ฝั่งที่กินฟ้าทะลายโจร 29 ราย และฝั่งที่ได้รับยาหลอก 28 ราย” พญ.อัมพร กล่าว
พญ.อัมพร กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตามสิ่งที่เราค้นพบต่อไปในการวิจัยครั้งแรก คือ 29 รายที่กินฟ้าทะลายโจรเจอไวรัสโควิดคงอยู่ประมาณ 10 ราย แต่กลุ่มที่ได้รับยาหลอก เมื่อมีการตรวจหาเชื้อวันที่ 5 เราพบว่าเจอไวรัสในผู้ป่วยถึง 16 จาก 28 ราย ซึ่งถือว่ามากเกินกว่าครึ่ง ทั้งหมดทำให้ยิ่งตอกย้ำว่าฟ้าทะลายโจรมีประสิทธิภาพในการรักษาโควิด นอกจากนี้ยังไม่พบว่า การใช้ฟ้าทะลายโจรจะมีปัญหาในเชิงผลกระทบต่อตับไตหรือระบบเลือดด้วย นั่นสะท้อนว่าเป็นความปลอดภัยที่ไว้วางใจได้
“พวกเราค้นพบความผิดพลาดทางสถิติ 1 จุดที่ว่านี้ และขอดึงงานวิจัยนี้ออกมา ไม่ได้ถูกปฏิเสธหรือถูกส่งคืนแต่อย่างใด และเนื้อหาการวิจัยทั้งหมด ยังเป็นไปตามรายงานฉบับแรกอยู่ และเมื่อปรับปรุงตัวเลขเรียบร้อยแล้ว จะส่งกลับไปที่วารสารฯอีก นั่นแปลว่า สารสกัดฟ้าทะลายโจรของไทยยังมีแนวโน้มที่ดีในการรักษาผู้ป่วยโควิดในระยะเริ่มต้น” พญ.อัมพร กล่าว
พญ.อัมพร กล่าวด้วยว่า สำหรับปัจจุบันมีผู้ได้รับยฟ้าทะลายโจรทั่วประเทศไม่ต่ำกว่า 1 แสนราย คาดกันว่าฟ้าทะลายโจรเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ผู้ป่วยสุขภาพดีขึ้น ทั้งนี้ฟ้าทะลายโจรเป็นยาและสมุนไพรที่การใช้ต้องเป็นไปด้วยความระมัดระวัง ขอให้ใช้ภายใต้คำแนะนำและการดูแลของแพทย์
“เมื่อถามว่าการดึงงานวิจัยนี้กลับมาปรับปรุง จะมีหมายความว่าทำให้วิธีการใช้ฟ้าทะลายโจรแตกต่างจากเดิมหรือไม่ ณ เวลานี้ทุกอย่างยังคงเดิม ทั้งในแง่ทิศทางการใช้และการสนับสนุน เพราะฟ้าทะลายโจรถูกบรรจุเข้าบัญชียาหลัก ด้วยเหตุผลของงานวิจัยหลายๆชิ้น ชิ้นที่เราพูดถึงเป็นเพียงองค์ประกอบหนึ่งจากหลายชิ้นงานเท่านั้น สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้กระทบหรือเปลี่ยนแปลงคุณค่า ความน่าเชื่อถือสำหรับคณะกรรมการบัญชียาหลักแห่งชาติเลย” พญ.อัมพร กล่าว
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/