กก.ข้อมูลข่าวสาร สาขาสังคมฯ ชี้ ป.ป.ช. ต้องเปิดเผยบัญชีทรัพย์สิน ‘ประยุทธ์-วิษณุ’ ช่วงนั่งนายกฯ-รองนายกฯ รอบ 2 ชี้เป็นข้อมูลสาธารณะ อำนาจหน้าที่โดยตรงของ กก.ป.ป.ช. ให้ประชาชนรับทราบตาม ม.243 (3) ประกอบ ม.59 รธน. แต่มิให้คัดถ่ายสำเนาเอกสาร
.....................................................
เมื่อวันที่ 6 ส.ค. 2564 สื่อหลายสำนักรายงานอ้างข้อมูลจากทำเนียบรัฐบาล ระบุว่า สำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ (สขร.) สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เผยแพร่ผลการประชุมคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร สาขาสังคม การบริหารราชการแผ่นดิน และการบังคับใช้กฎหมาย คณะ 3 ครั้งที่ 12/2564 ผ่านประชุมทางไกลผ่านระบบอินเทอร์เน็ต มีเรื่องเพื่อพิจารณา จำนวน 17 เรื่อง
โดยมีการพิจารณาประเด็นสำคัญ เรื่อง บัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน คณะกรรมการชุดนี้ มี พล.อ.กฤษณะ บวรรัตนารักษ์ เป็นประธาน มีกรรมการ เช่น พล.ต.ประสิทธิ์ เฉลิมวุฒิศักดิ์ นายพีรศักดิ์ ศรีรุงสุขจินดา นายธนกฤต วรธนัชชากุล
สขร. ระบุว่า ผู้อุทธรณ์ที่เป็นสำนักข่าวออนไลน์แห่งหนึ่ง ขอตรวจดูบัญชีทรัพย์สินของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองระดับสูงฝ่ายบริหาร จำนวน 2 ท่าน กรณีเข้ารับตำแหน่ง เมื่อปี พ.ศ. 2562 แต่สำนักงาน ป.ป.ช. ปฏิเสธการเปิดเผยโดยให้เหตุผลว่า ไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายให้อำนาจคณะกรรมการ ป.ป.ช. เปิดเผยบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของผู้ที่ยื่นไว้เป็นหลักฐาน ตามมาตรา 105 วรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2061
คณะกรรมการวินิจฉัยฯ พิจารณาแล้วเห็นว่า แม้บัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จะยื่นไว้เพื่อเป็นหลักฐานก็ตามแต่จุดมุ่งหมายสำคัญที่กำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินก็เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบความโปร่งใสในการบริหารราชการแผ่นดินตามหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตลอดจนเป็นการป้องกันปัญหาการทุจริตประพฤติมิชอบและการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนตนกับผลประโยชน์ส่วนรวม
ข้อมูลข่าวสารดังกล่าว จึงเป็นข้อมูลข่าวสารสาธารณะ ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. และสำนักงาน ป.ป.ช. มีหน้าที่โดยตรงในการเปิดเผยให้ประชาชนได้รับทราบตามมาตรา 243(3) ประกอบมาตรา 59 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ประกอบประกาศคณะกรรมการ ป.ป.ช. เรื่อง หลักเกณฑ์ ขั้นตอน และวิธีการเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน พ.ศ. 2561 ข้อ 7 กำหนดว่า ภายหลังจากพ้นกำหนดระยะเวลาการเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน หากมีการร้องขอเป็นหนังสือเพื่อขอตรวจดูบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ให้สำนักงาน ป.ป.ช. ที่ครอบครองดูแลเอกสารดังกล่าวจัดให้ผู้ร้องขอเข้าตรวจดูสำเนาบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ได้แต่มิให้คัดถ่ายสำเนาเอกสาร ดังนั้น ข้อมูลข่าวสารดังกล่าวเปิดเผยโดยให้ผู้อุทธรณ์เข้าตรวจดูได้ตามคำร้องขอ (อ้างอิงจาก ผู้จัดการออนไลน์ : https://mgronline.com/politics/detail/9640000077202)
อนึ่งก่อนหน้านี้ เว็บไซต์ thematter.co รายงานว่า สำนักงาน ป.ป.ช. ไม่ยอมเปิดเผยบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กรณีเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ครั้งที่ 2 เมื่อปี 2562 โดยให้เหตุผลว่า กฎหมายไม่ให้อำนาจไว้ และบัญชีดังกล่าวยื่นไว้เป็นหลักฐาน เป็นข้อมูลมีลักษณะเฉพาะของบุคคลที่ได้มาจากการปฏิบัติหน้าที่ โดยเป็นข้อมูลห้ามเปิดเผยตาม พ.ร.บ.ป.ป.ช. พ.ศ. 2561 มาตรา 36 (อ้างอิงข้อมูลจาก สำนักข่าว the matter : https://thematter.co/brief/139973/139973)
อนึ่ง ก่อนหน้านี้ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เคยชี้แจงในการอภิปรายไม่ไว้วางใจในสภา กรณีได้รับอานิสงส์จาก พ.ร.บ.ป.ป.ช.ฉบับใหม่ ไม่บังคับให้รัฐมนตรียื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินหากรับตำแหน่งเดิมภายใน 1 เดือน ว่า ตน และ พล.อ.ประยุทธ์ ได้ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินกับ ป.ป.ช. ไว้เป็นหลักฐาน ส่วน ป.ป.ช. จะเปิดหรือไม่เปิดให้สาธารณชนรับทราบ เป็นเรื่องของ ป.ป.ช. (อ่านประกอบ : เสมือนรับหน้าที่ใหม่! '2ป.-วิษณุ'ยื่นบัญชีทรัพย์สินอีกรอบ หลังตั้งรัฐบาลปี 62)
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/