สธ.ยันต้องสั่งอาหารแบบเดลิเวอรี่เท่านั้น ไม่ให้ผู้บริโภคซื้อเองในห้างสรรพสินค้าโดยตรง ลั่นเพื่อลดการติดต่อระหว่างผู้ขายและลูกค้าแออัดอยู่หน้าร้าน ชี้'ไรเดอร์'รวมกลุ่ม-ไม่ใส่แมสก์ มีความผิด ปรับสูงสุด 2 หมื่นบาท
........................................
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 3 ส.ค.2564 นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย แถลงข่าวประเด็นสั่งอาหารเดลิเวอรี่ว่า ด้วยการระบาดที่ครอบคลุมไปทั่วประเทศ ที่มีผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตจำนวนมากเกินกว่ากำลังของระบบสาธารณสุขไทยที่จะรองรับ ทำให้รัฐบาลต้องออกมาตรการในร้านอาหาร ตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ฉบับที่ 30 ประกอบกับคำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด (ศบค.) ที่ 11/2564 มีผลตั้งแต่วันที่ 3 ส.ค.2564
โดยให้พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 29 จังหวัด (สีแดงเข้ม) จำหน่ายอาหารแบบนำไปบริโภคที่อื่น ส่วนร้านอาหารภายในห้างสรรพสินค้าให้จำหน่ายได้เฉพาะบริการเดลิเวอรี่ งดจำหน่ายหน้าร้าน ห้ามบริโภคสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในร้าน และให้เปิดบริการได้ถึง 20.00 น.
พื้นที่ควบคุมสูงสุด 37 จังหวัด (สีแดง) นั่งบริโภคภายในร้านได้ตามปกติ ห้ามบริโภคสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในร้าน และให้เปิดบริการได้ไม่เกิน 23.00 น.
พื้นที่ควบคุม 11 จังหวัด (สีส้ม) นั่งบริโภคภายในร้านได้ตามปกติ ห้ามบริโภคสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในร้าน และให้เปิดบริการได้ตามปกติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
นพ.สุวรรณชัย กล่าวอีกว่า สำหรับประเด็นที่เป็นกระแสสังคมถึงมาตรการสั่งอาหารภายในห้างสรรพสินค้า ศูนย์คอมมูนิตี้ มอลล์ และสถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายกัน ตอนนี้เราเน้นย้ำให้จำหน่ายในรูปแบบการสั่งอาหารหรือเครื่องดื่มผ่านบริการขนส่ง (Food Delivery Service) โดยไม่มีการจำหน่ายให้ผู้บริโภคโดยตรง เพื่อลดการติดต่อระหว่างผู้จำหน่ายและผู้บริโภคที่อาจไปแออัด หรืออออยู่หน้าร้านหลายคน
อย่างไรก็ตามจะให้ห้างสรรพสินค้าปฏิบัติตามที่ราชการกำหนด คือ จัดให้มีระบบคัดกรอง ตรวจสอบการลงทะเบียนผู้ขนส่งอาหารก่อนเข้ามาในอาคารหรือพื้นที่ การจัดระบบคิว กำหนดพื้นที่เฉพาะสำหรับการจองคิว มีบริเวณพักคอย ซึ่งมีการเว้นระยะห่างระหว่างที่นั่งหรือยืนที่เหมาะสม และต้องกำกับดูแลให้มีการดำเนินมาตรการดังกล่าว
"หากห้างสรรพสินค้านั้น สามารถจัดให้ให้มีบริการที่นำส่ง โดยมีระบบการสั่งอาหารและเครื่องดื่มของร้านอาหารภายในห้าง ไม่ว่าจะเป็นออนไลน์ โทรศัพท์ หรือระบบพนักงานให้ความช่วยเหลือ ที่ไม่ให้ผู้บริโภคไปซื้อกับผู้จำหน่ายโดยตรง ก็สามารถทำได้ ซึ่งเราดำเนินการเช่นเดียวกันแบบนี้ ตั้งแต่การปิดห้างสรรพสินค้าในปีที่ผ่านมา เพื่อไม่ให้ผู้บริโภคไปแออัดหรือไปออที่หน้าร้านโดยตรง ทั้งนี้หากห้างสรรพสินค้าไม่สามารถดำเนินการรูปแบบดังกล่าวได้ ก็จะไม่สามารถเปิดให้บริการแบบนี้" นพ.สุวรรณชัย กล่าว
@ ชี้'ไรเดอร์'รวมกลุ่ม-ไม่ใส่แมสก์ มีความผิด ปรับสูงสุด 2 หมื่นบาท
นพ.สุวรรณชัย กล่าวถึงแนวทางจัดระเบียบกรณีพบพนักงานส่งอาหารรวมตัวกัน ไม่สวมหน้ากากอนามัยว่า พนักงานส่งอาหารจะแยกออกเป็น 2 กลุ่ม แบ่งเป็น กลุ่มพนักงานประจำ ซึ่งจะถูกกำกับดูแลจากผู้ประกอบการเป็นอย่างดีและเข้มงวด ซึ่งบางรายได้รับวัคซีนแล้ว และกลุ่มพนักงานพาร์ทไทม์ ซึ่งมักโดนร้องเรียนอยู่บ่อยครั้งบริเวณจุดรับอาหาร
ในกรณีร้านอาหารภายนอกห้างสรรพสินค้า เราจะขอความร่วมมือร้านอาหารหรือเครื่องดื่มให้ช่วยจัดระบบ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการลดการแพร่ระบาดสู่ร้านเอง และเป็นการป้องกันระหว่างของไรเดอร์ด้วยกัน
กรณีร้านอาหารภายในห้างสรรพสินค้า มีข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ฉบับที่ 30 และ พ.ร.บ.โรคติดต่อ ได้กำหนดไว้ชัดเจนว่า ให้ห้างสรรพสินค้ามีหน้าที่และความรับปิดชอบที่จะต้องจัดระบบและกำกับให้กลุ่มไรเดอร์ปฏิบัติตามมาตรการที่ราขการกำหนด และกรณีอยู่นอกเคหสถาน หากไม่สวมหน้ากากอนามัย มีความผิด และคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติได้ออกระเบียบ ซึ่งออกตามมาตรา 34 (6) ประกาศในราชกิจจานุเบกษา มีลตั้งแต่ 8 มิ.ย.2564 ด้วยว่า หากมีการรวมกลุ่ม และไม่สวมหน้ากากอนามัย เพื่อพูดคุยหรือมีกิจกรรมนันทนาการอื่น มีความผิด โดยครั้งแรกปรับไม่เกิน 1,000 ครั้งที่ 2 ปรับ 1,000 - 10,000 บาท และครั้งที่ 3 ปรับ 10,000- 20,000 บาท
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage